แถลงการณ์ เรียกร้องให้ทบทวน การบังคับใช้กฎอัยการศึก เพื่อควบคุมแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557[1] ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์ได้รายงานผลการประชุมหารือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด สุราษฎร์ธานี กับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวใน พื้นที่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น อันสืบเนื่องมาจากคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวที่เกิดในพื้นที่เกาะเต่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าจะควบคุมแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มิให้ออกมามั่วสุมกับนักท่องเที่ยวหลังเวลา 22.00 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีข้อห่วงใยต่อการกำหนดและใช้มาตรการดังกล่าว ดังนี้

1. อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆของประเทศ ที่อาจเกิดขึ้นจากบุคคลและด้วยสาเหตุต่างๆกัน มิได้เกิดจากแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่เกิดจากบางคนเช่นคนไม่ดี ซึ่งมีอยู่ทุกสังคม ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ และทุกๆที่  การใช้มาตรการทางนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติที่ห้ามหรือจำกัดสิทธิโดยใช้กฎอัยการศึก โดยเลือกใช้เฉพาะกับแรงงานข้ามชาติ เช่นการห้ามออกนอกเคหสถานหลัง 22.00 น. แสดงให้เห็นถึงทัศนคติผิดๆของเจ้าหน้าที่ว่า แรงงานข้ามชาติโดยทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากร เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนอกจากเป็นการขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบอีกด้วย การเลือกปฏิบัติดังกล่าว ในที่สุดอาจก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ประเทศเพื่อบ้านด้วย

2. การที่ทางราชการจะใช้มาตรการจำกัดสิทธิเฉพาะต่อแรงงานข้ามชาติโดยอ้างกรณีการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองรายที่เกิดขึ้นที่เกาะเต่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทางราชการเชื่อว่าผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นผู้กระทำผิดจริง หรือชี้นำให้สังคมมีความเชื่อเช่นนั้น ทั้งๆที่การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีดังกล่าวถูกโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา นานาชาติ และสังคมมากมาย ความเชื่อดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด

3. การป้องกันอาชญากรรมนั้น สามารถทำได้ด้วยการใช้มาตรการต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษตามกฎอัยการศึกและการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น การลดแหล่งอบายมุข การกำจัดอิทธิพล ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องให้ความร่วมมือและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง ไม่ทุจริตคอรัปชั่น  ไม่สมคบหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลท้องถิ่น หรือเกรงกลัวอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น ทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพื่อให้ประชาชนเชื่อถือและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

4. รัฐไม่ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการสนับสนุนแหล่งอบายมุข กิจกรรมที่ไม่คำนึงถึงศีลธรรมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสังคม เพียงเพื่อต้องการที่จะให้นักท่องเที่ยวนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งผลประโยชน์จะตกอยู่กับคนส่วนน้อย แต่สังคม คนส่วนใหญ่และประเทศชาติกลับต้องจ่ายไปในราคาแพงด้วยการสูญเสียวัฒนธรรมอันดีงาม สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และปัญหาอาชญากรรม

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และทางการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทบทวนความดำริที่จะใช้มาตรการจำกัดสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างเลือกปฏิบัติ ด้วยการใช้นโยบายและกฎหมายห้ามแรงงานข้ามชาติออกจากเคหสถานหลังเวลา 22.00 น. ดังกล่าว

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

 4 พฤศจิกายน 2557


ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
ปรีดา ทองชุมนุม ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่ิอสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 089 459 0212, 02 277 6887


[1] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน http://thainews.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC5710300010021