ใบแจ้งข่าว: ศาลแรงานภาค 7 นัดสืบพยาน คดีทายาทแรงงานข้ามชาติในกิจการประมง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม จากการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ในวันนี้ (19 มีนาคม 2561) ศาลแรงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี ได้กำหนดนัดไกล่เกลี่ย ตรวจพยานหลักฐาน กำหนดประเด็นข้อพิพาทและนัดสืบพยาน ในคดีที่ นางละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี เป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้มีคำวินิจฉัย ที่ 2/2561 ลงวันที่ 15 มกราคม 2561 เรื่องแจ้งคำสั่งเงินทดแทน เห็นว่า นายโก แรงงานข้ามชาติ ที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และมีมติให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของโจทก์

ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลได้ให้มีการไกล่เกลี่ยกัน แต่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป โดยศาลได้พิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การจำเลยทั้งสอง เห็นว่า คดีมีประเด็นพิพาท ดังต่อไปนี้

1. นางคมคาย มานิช นายจ้า งเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ ตามพะราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 หรือไม่
2. กรณีมีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 1/2561 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 หรือไม่
เนื่องจากพยานหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ที่จำเลยทั้งสอง จึงให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน แล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบจนเสร็จคดี โดยกำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายจำเลย ในวันที่ 12 กันยายน ตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น.

การยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งนี้ นอกจากจะขอให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษา เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อการคุ้มครองลูกจ้าง ที่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ โดยกฎหมายได้กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ระหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง โดยกองทุนจะเป็นผู้จ่ายแทนนายจ้าง อันเป็นการสร้างหลักประกันให้กับลูกจ้าง มิให้ต้องเสี่ยงกับฐานการเงินของนายจ้างหรือความไม่แน่นอนที่จะได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างหรือความล่าช้าที่จ้างจะชำระเงินทดแทน

แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม กลับกำหนดเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงาน เข้าถึงเงินทดแทนได้นั้นด้วยเงื่อนไขของการ เข้าเมือง เอกสารแสดงตน และใบอนุญาตทำงาน หากลูกจ้างไม่มีเอกสารตามเงื่อนไข สำนักงานประกันสังคมจะออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบเอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการเจรจา ต่อรองราคา เกิดความเสียเปรียบต่อตัวลูกจ้าง ในขณะที่สำนักงานประกันสังคม วางบทบาทตัวเองเป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ย และจะทำการบันทึกผลการเจรจาในการจ่ายเงินทดแทน และหลายกรณีพบว่า ภายหลังที่สำนักงานประกันสังคมทำบันทึกข้อตกลงจ่ายเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว แต่นายจ้างกลับหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินหรือไม่สามารถติดต่อกับนายจ้างในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง นอกจากนี้คำสั่งของคณะกรรมการฯ ยังมีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุน ที่แตกต่างจากแรงงานไทย อันเป็นการขัดต่ออนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (เรื่องเงินทดแทน กรณีอุบัติเหตุ) พ.ศ.2468 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา มาตั้งแต่ปี 2511


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

นายวิชาญ ทำไร่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

087-138-7897 E-mail: [email protected]