ใบแจ้งข่าว: ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์มีผลให้อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง กับพวกรวม 6 คน ถูกจาคุกและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในคดีค้ามนุษย์แรงงานประมงพม่า อาเภอกันตัง


Download


 

ใบแจ้งข่าว: ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์มีผลให้อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง

กับพวกรวม 6 คน ถูกจำคุกและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในคดีค้ามนุษย์แรงงานประมงพม่า อำเภอกันตัง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ศาลจังหวัดตรังได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีค้ามนุษย์ คดีหมายเลขดำที่ คม.1/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 2/2560 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และแรงงานชาวพม่า 15 คนเป็นโจทก์ร่วม ฟ้องนางเมซอ ศรีสว่าง นายหน้าจัดหาแรงงาน นายสมพล จิโรจน์มนตรี นายจ้างเจ้าของแพปลาโภคาสถาพรในอำเภอกันตัง ไต้ก๋งเรือ 4 ลำของแพปลาดังกล่าว พนักงานรักษาความปลอดภัยของแพปลา กับพวกรวม 10 คนเป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดตรัง ในความผิดต่อเสรีภาพ และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 มีผลให้ลงโทษจำคุกนายหน้าและสามี นายจ้างเจ้าของแพปลาโภคาสถาพร พนักงาน รปภ. คนละ 10 ปี และยกฟ้องไต้ก๋งเรือทั้ง 4 ลำ

คดีนี้สืบเนื่องจากการแจ้งเหตุและการประสานงานขององค์การเอกชน (NGOs) เมื่อปี 2558 ทำให้แรงงานชาวพม่าหลายคน ได้รับการช่วยเหลือพ้นจากเรือประมงแพปลาโภคาสถาพร 4 ลำ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญลาภการประมง ที่มีนายสมพล จิโรจน์มนตรีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งในขณะเกิดเหตุนายสมพล จิโรจน์มนตรี เป็นนายกสมาคมประมงจังหวัดตรังด้วย หลังจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ พบว่าแรงงาน 15 คน เข้าข่ายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ พนักงานอัยการจึงฟ้องนายหน้าและสามี เจ้าของแพปลา รปภ. แพปลา ไต้ก๋งเรือ 4 คน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวม 10 คน ต่อศาลจังหวัดตรังเป็นจำเลยในคดีค้ามนุษย์ โดยแรงงานทั้ง 15 คน ได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีด้วย

ต่อมาเมื่อปี 2560 ศาลจังหวัดตรังได้มีคำพิพากษายกฟ้องไต้ก๋งเรือและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของแพปลา เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ แต่ให้ลงโทษนายสมพล ซึ่งเป็นนายจ้างและเจ้าของแพปลา นางเมซอ นายหน้าจัดหาแรงงาน พร้อมสามีและจำเลยอื่นๆ รวม 6 คน โดยให้จำคุกคนละ 14 ปี โดยสามีนางเมซอต้องรับโทษเพิ่มอีกหนึ่งปีฐานครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่แรงงานทั้ง 15 คนรวมเป็นเงิน 1,992,000 บาท ต่อมาในปี 2561 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาลดโทษจำคุกจำเลยดังกล่าวจากคนละ 14 ปีเหลือ 10 ปี ยังคงโทษฐานครอบครองอาวุธปืนหนึ่งปี และพิพากษากลับให้จำคุก รปภ. 10 ปี เช่นกัน สำหรับไต้ก๋งเรือทั้ง 4 ลำ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แรงงานซึ่งเป็นโจทก์ร่วมทั้ง 15 คนจึงได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องไต้ก๋งทั้ง 4 คน ในขณะเดียวกัน พนักงาน รปภ.ก็ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษตนเช่นกัน จนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศาลฎีกาจึงได้มีคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว โดยนายหน้าค้ามนุษย์ เจ้าของเรือซึ่งเป็นนายจ้างและเจ้าของแพปลา และพนักงาน รปภ. ได้ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว สิ่งที่ มสพ. และองค์กรเอกชนต้องดำเนินการต่อไปคือการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อบังคับคดีให้แรงงานซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้ง 15 คน ซึ่งเดินทางกลับไปประเทศพม่าแล้ว ให้ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนรวม 1,992,000 บาท ตามที่ศาลมีคำสั่งต่อไป

สำหรับคดีนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่า “คดีกันตัง” และเป็นตัวอย่างสำคัญของคดีค้ามนุษย์เกี่ยวกับ “แรงงานขัดหนี้” เนื่องจาก ลูกเรือชาวพม่าทั้ง 15 คน ได้ถูกนายหน้าร่วมกับนายจ้างบังคับให้ทำงานเพื่อใช้หนี้ไม่รู้จบ โดยเงินค่าจ้างที่ได้จากการทำงานจะถูกยึดไปทันทีเพื่อชดใช้หนี้จากการถูกบังคับให้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาแพงเกินจริงจากร้านขายของชำของนายหน้า โดยแรงงานต้องทำงานอย่างหนักเยี่ยงทาสในเรือประมงของนายจ้างเจ้าของแพปลา แม้ไม่สบายหรือประสบอุบัติเหตุก็ไม่สามารถหยุดทำงานได้ นอกจากนี้แรงงานประมงเหล่านี้ยังตกอยู่ในสภาพถูกบังคับ ให้จำยอม ถูกกักกัน บางคนถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว ขาดเสรีภาพในการไปไหนมาไหน ซึ่งมีผู้ควบคุมตลอดเวลา หากขัดขืนจะถูกคนของนายหน้าและนายจ้างทำร้ายร่างกายอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

กาญจนา อัครชาติ ผู้จัดการคดี

โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและพัฒนา

เบอร์โทรศัพท์ 090-916-0011 E-mail: [email protected]

ใบแจ้งข่าวคำพิพากษาศาลชั้นต้น: https://bit.ly/326h2lj

ใบแจ้งข่าวคำพิพากษาศาลอุทธรณ์: https://bit.ly/2FRWKCB