ใบแจ้งข่าว: ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกนายจ้าง 15 วันและให้ปรับ 5000 บาท กรณีนายจ้างยึดเอกสารประจำตัวของลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

ใบแจ้งข่าวศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกนายจ้าง 15 วันและให้ปรับ 5000 บาท กรณีนายจ้างยึดเอกสารประจำตัวของลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้อ่านคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.999/2562 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ กับ นางนงนุช พรชื่น จำเลย ข้อหาความผิดตาม มาตรา 131 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และมาตรา 188 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องของพนักงานอัยการ กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติได้ทำการยึดเอกสารประจำตัวคนต่างด้าวไว้ ให้จำคุกจำเลย 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษจึงให้ลดโทษจำคุกลงมาเป็น 15 วัน และเมื่อพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงและจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงลดโทษจำคุกเหลือ 15 วัน รอการลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี และให้ปรับเป็นเงิน 5,000 บาท (คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1389/2562) ส่วนเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาตินั้น ศาลได้มีคำสั่งให้นายจ้างคืนเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ภายหลังจากที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง

คดีนี้ สืบเนื่องจากโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติกรณีนายจ้างได้ยึดเอกสารประจำตัว ได้แก่ เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) ที่ออกโดยสาธารณแห่งสหภาพรัฐเมียนมา บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ใบอนุญาตทำงานสำหรับทำงานในประเทศไทย นายจ้างซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ได้ยึดไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยนายจ้างอ้างว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนนายจ้างเป็นเงิน 11,500 บาท โดยไม่มีหลักฐานใบเสร็จ และเรียกร้องให้ลูกจ้างจ่ายคืน จึงจะคืนเอกสารให้

แม้ว่าแรงงานได้เข้าสู่กระบวนการเพื่อไกล่เกลี่ยเจรจากับนายจ้าง อาทิ การร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ร่วมบริการแรงงานต่างด้าว แต่นายจ้างยังคงปฏิเสธที่จะคืนเอกสารโดยอ้างเหตุผลเดิม ทางมูลนิธิจึงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่า การกระทำของนายจ้างจะเป็นการขัดต่อพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของตัวลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทาง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการถูกจับกุมตัว การรายงานตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า แม้ว่าคดีนี้ศาลจะมีคำพิพากษารอลงอาญาในส่วนโทษจำคุกเนื่องจากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกของจำเลย(นายจ้าง)  และค่าปรับเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับความเสียหายของลูกจ้างที่ต้องเผชิญ ตลอดระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน ที่เอกสารสำคัญประจำตัวถูกยึดไป แต่นับว่าเป็นก้าวแรกของการปกป้องสิทธิของลูกจ้างเพื่อให้ตนเองได้รับความเป็นธรรมผ่านมาตรา 131 แห่งพ.ร.ก.พระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2560 ซึ่งหากนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพสิทธิของลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่อนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมายอย่างจริงจังแล้ว ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และประเทศคู่ค้าในเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น

 

การยึดเอกสารประจำตัวของแรงงาน นอกจากจะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานขอคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แล้ว ผู้กระทำความผิดอาจจะมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีข้อหาบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามมาตรา 6/1 ของ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 ซึ่งไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวให้สอดคล้องกับพิธีสาร ฉบับที่ 29 ขององค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยแรงงานบังคับ เพื่อแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือการละเมิดสิทธิของแรงงาน และ ตามกฎหมาย นายจ้างไม่อาจอ้างเหตุผลใดๆ รวมทั้งภาระหนี้สินที่ลูกจ้างมีต่อนายจ้าง เพื่อยึดเอกสารของลูกจ้างได้ เพราะการยึดเอกสารของลูกจ้างแรงงานข้ามชาติไว้ ทำให้ลูกจ้างขาดสิทธิเสรีภาพ และอาจเสี่ยงตกเป็นแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ หรือตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้

 

———————————————————————————————-

 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ปสุตา ชื้นขจร  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 086 916 5541
E-mail: [email protected]

 

Download (PDF)