ใบแจ้งข่าว: บริษัทเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์รายใหญ่ต้องจ่ายค่าชดเชยรวม 822,250 บาท แก่แรงงานกัมพูชา 21 คน กรณีถูกนายจ้างรับเหมาค่าแรงเลิกจ้าง

วันนี้ (10 มกราคม 2563) ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาจำนวนทั้งสิ้นรวม 21 คน ได้รับเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 822,250 บาท ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานลงวันที่ 2 ธันวาคม 2562 กรณีนายจ้างรับเหมาค่าแรงจัดส่งลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี และถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2562 ตัวแทนแรงงานข้ามชาติกัมพูชากับพวกรวม 21 คน ได้ถูกนายจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมา เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และไม่แจ้งล่วงหน้าตามกฎหมาย โดย นายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงอ้างว่าบริษัทมหาชน เจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่แรงงานทำงานอยู่นั้นต้องการ “คืนพนักงาน” เนื่องจากยอดการสั่งผลิตลดลง ในขณะที่แรงงานให้ข้อเท็จจริงว่าว่าพวกตนถูกข่มขู่ และให้เขียนใบลาออก เนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายที่สูงเพื่อทำเอกสารการทำงานในประเทศไทยแบบ MOU มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) จึงพาลูกจ้างทั้งหมดไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงานจังหวัดปทุมธานี

พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ได้ออกคำสั่งที่ 175/2562  และ 176/2562 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2562 มีใจความว่า

  • นายจ้าง (บริษัทรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง) ไม่สามารถจัดส่งลูกจ้างที่มีสัญชาติกัมพูชา เมียนมา และลาวไปทำงานให้แก่สถานประกอบกิจการอื่นในลักษณะที่เป็นการรับเหมาค่าแรงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากประกาศกรมจัดหางาน ซึ่งออกตามความในมาตรา 36 แห่งพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ได้ประกาศห้ามไว้
  • บริษัทมหาชน (สงวนนาม) ผู้ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ได้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรง (สงวนนาม) ให้ส่งแรงงานมาทำงานในโรงงานของตน zจึงมีนิติสัมพันธ์กับบริษัทรับเหมาค่าแรงตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรง ดังนั้นบริษัทฯผู้ประกอบกิจการจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของแรงงานเช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาค่าแรง ตามมาตรา 11/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และต้องร่วมกันรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และดอกเบี้ยแก่แรงงานด้วย โดยเป็นเงินทั้งสิ้น 822,250 บาท

สำหรับในเรื่องนี้ มสพ. มีความเห็นว่าแม้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจะเป็นข่าวดีต่อแรงงานข้ามชาติในกรณีนี้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินคดีบริษัทรับเหมาค่าแรงหรือไม่ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 บัญญัติห้ามการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรงแรงงานข้ามชาติไว้ และกำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับไว้ชัดเจน

ที่ผ่านมา  มสพ. พบว่าการรับเหมาแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยังพบในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย ลูกจ้างรับเหมาแรงงานมักถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอีกมากมาย นอกจากถูกหักเงินค่าจ้างด้วยข้ออ้างต่างๆ ของนายจ้างผู้รับเหมา ถูกบังคับให้ลาออกหรือเลิกจ้างอย่างกะทันหันและไม่จ่ายค่าชดเชย การต้องทำเอกสารจ้างงานแบบ MOU แต่กลับไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้ว ในกรณีนี้นายจ้างรับเหมาค่าแรงยังได้หักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างโดยอ้างว่าเป็นค่าประกันสังคมแต่ปรากฎว่าไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งเข้ากองทุนประกันสังคมแต่อย่างใด นายจ้างจึงถูกปรับจากสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากแรงงานกลุ่มเดียวกันได้ร้องเรียนเรื่องการหักค่าประกันสังคมดังกล่าว

คำถามที่รัฐบาลไทยควรต้องตอบคือ

  1. รัฐจะมีมาตรการกลไกรัฐอย่างไรในการคุ้มครองลูกจ้างการจ้างงานแบบเหมาแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
  2.  สำหรับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรัฐกำหนดให้ต้องผ่านกระบวนการทำเอ็มโอยูภายใน 31 มีนาคม 2563 รัฐจะกำกับดูแลให้แรงงานข้ามชาติไม่ถูกเรียกเงินเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ และไม่ถูกบริษัทรับเหมาแรงงานสวมรอยเป็นนายจ้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร
  3. รัฐต้องกำกับดูแลให้บริษัทผู้ประกอบการในนิคมต่างๆ ซึ่งมักเป็นบริษัทใหญ่ๆ และมีกิจการส่งออก เพื่อให้มีการจ้างงานที่คุ้มครองดูแลลูกจ้างให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลอดจนเคารพสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศผู้รับซื้อให้ความสำคัญในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ [email protected]