ใบแจ้งข่าว: พนักงานตรวจแรงงาน จังหวัดตาก ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินกว่าสิบล้านบาท แก่แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา 71 คน กรณีละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

1581063587877 เผยแพร่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563

 

ใบแจ้งข่าว

พนักงานตรวจแรงงาน จังหวัดตาก ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินกว่าสิบล้านบาท

แก่แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา 71 คน กรณีละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตากมีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 20 มกราคม 2563 ให้นายธวัชชัย  รอดแก้ว นายจ้าง จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างในวันหยุดประเพณี  ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,298,124 บาท ให้กับลูกจ้างแรงงานจากประเทศเมียนมา จำนวน 71 คน

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 แรงงานข้ามชาติดังกล่าวได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ว่า ได้ถูกนายธวัชชัย รอดแก้ว นายจ้างเจ้าของโรงงานไทย.ทีจี.กรุ๊ป  ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากซึ่ง ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลิกจ้างโดยปิดโรงงาน จึงพากันร้องเรียนพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างในวันหยุดประเพณี  ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หลังจากที่พนักงานตรวจแรงงานได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้าง

ในกรณีนี้ทั้งฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง หากไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ก็มีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวัน หากนายจ้างเป็นผู้ฟ้องคดี นายจ้างต้องวางเงิน จำนวน 10,298,124 บาทดังกล่าวต่อศาล

นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เห็นว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้พัฒนาดีขึ้นโดยลำดับ โดยสามารถเปลี่ยนสถานะของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายโดยผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและการนำเข้าแรงงานในระบบรัฐต่อรัฐ (MOU) มาตรการดังกล่าว แม้ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้างที่ต้องแก้ไข แต่ถือว่าเป็นการส่งเสริมการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยและป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากคนงานโดยมิชอบและจากการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม ทาง มสพ. พบว่า เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560  (พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานฯ) โดยเฉพาะมาตรา 64 ที่ อนุญาตให้ “คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีบัตรผ่านแดนหรือบัตรอื่นใดทำนองเดียวกันที่อธิบดีกำหนด อาจได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้ทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลและในท้องที่ที่กำหนดได้” มีผลทำให้นายจ้างในท้องที่อำเภอแม่สอดและใกล้เคียงที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ปี 2557 ฉวยโอกาสนำแรงงานจากประเทศเมียนมาเข้ามาทำงานโดยใช้บัตรผ่านแดนที่มีอายุ 90 วัน และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 90 วัน เพื่อให้สามารถทำงานติดต่อกันไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่งานที่ทำเช่น งานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอีเล็คโทรนิค โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ มิใช่เป็น “งานในโครงการเฉพาะ” หรือ “งานตามฤดูกาล” ตามมาตรา 118 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2561 แต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่บางคนของหน่วยงานที่รับผิดชอบยังได้ละเลยการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม โดยอ้างหรือเข้าใจว่าการจ้างงานตามมาตรา 64 ดังกล่าว ถือเป็นงานในลักษณะชั่วคราว ที่นายจ้างไม่ต้องนำแรงงานขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นส่วนหนึ่งของเหตุจูงใจให้นายจ้างหันมาจ้างแรงงานจากประเทศเมียนมา จำนวนมากตามมาตรา 64 และได้เกิดสถานการณ์ที่นายจ้างได้ละเมิดสิทธิของแรงานข้ามชาติจำนวนมากและกว้างขวางยิ่งขึ้นทุกที

สถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลไทยและกลุ่มองค์กรนายจ้างควรเร่งแก้ปัญหาโดยทบทวนนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติในการจ้างงานชายแดนตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานฯ ทีทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านต้องตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรงจากนายจ้าง โดยรัฐบาลและกลุ่มองค์กรนายจ้างจักต้องทำให้นโยบายและ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (Business and Human Rights) ระยะที่ 1 (2562-2565) https://mk0globalnapshvllfq4.kinstacdn.com/wp-content/uploads/2017/11/nap-thailand-th.pdfได้รับการปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป


รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ นางสาวจิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ ที่  089 273 4711