ใบแจ้งข่าว: ทายาท นาย HLA PHYU ลูกเรือประมงชาวเมียนมา รับเงินทดแทน 1,041,600 บาท กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี

13 พฤษภาคม 2563

ใบแจ้งข่าว

 

ทายาท นาย HLA PHYU ลูกเรือประมงชาวเมียนมา รับเงินทดแทน 1,041,600 บาท

กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 เวลาประมาณ 20.00 น.นาย HLA PHYU แรงงานประมง สัญชาติเมียนมา ได้พลัดตกน้ำจากเรือประมง ป.บรรจงทรัพย์ บริเวณ แลตติจูด 12.32.100 น. ลองติจูด 100.09.400 อ. (แบริ่ง 080 ระยะ 10.8 ไมล์ จากปากน้ำปราณ) โดยนายจ้างได้แจ้งศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือภาค 1 และทางศูนย์ฯ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินค้นหา และแจ้งเครือข่ายวิทยุเพื่อให้เรือประมงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงช่วยค้นหาอีกทางหนึ่งด้วย แต่ก็ไม่พบ

ต่อมาเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือญาติของนาย HLA PHYU และแจ้งขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับค่าทดแทนกรณีสูญหายเนื่องจากการทำงาน ถือเป็นการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างนั้น โดยการสูญหายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ ซึ่งทายาทของลูกจ้างที่เสียชีวิตมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนและเงินอื่นๆจาก “กองทุนเงินทดแทน”  สำนักงานประกันสังคม

หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 120 วัน  เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้พานาง AUNG MA ZAN มารดาของนาย HLA PHYU ผู้สูญหาย เข้ายื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรี  ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงได้มีคำสั่ง ที่ พบ. 0030/9485 ลงวันที่ 29 เมษายน 2563 ให้นาง AUNG MA ZAN มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนเป็นค่าทำศพ จำนวนเงิน 33,600 บาท และค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตคิดเป็นระยะเวลา 120 เดือน โดยจ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 8,400 บาท เป็นเงินจำนวน 1,008,000 บาท ดังนั้นในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2563) นาง AUNG MA ZAN จึงเข้ารับเงินดังกล่าวโดยขอรับเป็นเงินก้อนครั้งเดียวทั้งหมด ซึ่งจะมีการหักส่วนลดตามกฎหมาย 118 เดือน เป็นจำนวนเงิน 98,293.95 บาท เหลือเป็นเงินทดแทนการเสียชีวิต และเงินค่าทำศพ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 943,306.05 บาท (เก้าแสนสี่หมื่นสามพันสามร้อยหกบาทห้าสตางค์)

นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้อำนวยการ มูลนิธิฯ เห็นว่า ในระยะหลังกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญเพื่อให้ลูกจ้างทุกคน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติให้ได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยออกประกาศ เรื่องประเภท ขนาดของกิจการ และท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบ อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ให้กองทุนเงินทดแทนมีความครอบคลุมไปถึงลูกจ้างที่ทำงานในกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปของกิจการดังกล่าวมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างทำงานอยู่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  ซึ่งหากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ก็จะมีความผิดตามพรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 นอกจากนี้ก็ยังมีกิจการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งเงินสมทบ ได้แก่ กิจการของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วยและกิจการของนายจ้างที่ประกอบการค้าเร่ แผงลอย เป็นต้น ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำส่งสมทบ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองมากขึ้น

———————————————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายวิชาญ ทำไร่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มือถือ : 063-579-6989 E-mail : [email protected]