ใบแจ้งข่าว: ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาจำคุกนายกิติพงษ์หรือกอล์ฟ ยะปะตัง 12 ปี 16 เดือน 20 วันและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 273,500 บาทแก่แม่บ้านชาวเมียนมา ฐานความผิดต่อชีวิต กระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย และพยายามฆ่า

4 สิงหาคม 2563

ใบแจ้งข่าว

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาจำคุกนายกิติพงษ์หรือกอล์ฟ ยะปะตัง

12 ปี 16 เดือน 20 วันและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 273,500 บาทแก่แม่บ้านชาวเมียนมา

ฐานความผิดต่อชีวิต กระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย และพยายามฆ่า

 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.108/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.309/2563 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ และหญิงผู้เสียหายชาวเมียนมา โจทก์ร่วม กับ นายกิติพงษ์หรือกอล์ฟ ยะปะตัง จำเลย ในความผิดข้อหา “กระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และความผิดข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น”

โดยศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ดังนี้

  1. จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
  • ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ มิใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าว[1]
  • ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โจทก์และโจทก์ร่วม เป็นพยานเบิกความ ศาลเห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความเป็นลำดับ นับแต่จำเลยหลอกลวงให้ไปหน้าห้องน้ำ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา และใช้เชือกรัดคอโจทก์ร่วม สอดคล้องกับผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ และเมื่อไม่ปรากฏสาเหตุให้ต้องระแวงสงสัยว่าโจทก์ร่วมจะปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ จึงเชื่อว่าโจทก์ร่วมเบิกความไปตามความเป็นจริง พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมารับฟังได้เป็นที่พอใจว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง ส่วนเชือกรองเท้าและเข็มขัดของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1)

ศาลจึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวม 12 ปี 16 เดือน 20 วัน ริบเชือกรองเท้าและเข็มขัด    ของกลาง

  1. จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด ศาลเห็นว่า มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วม แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพียงใดนั้น โจทก์ร่วมอ้างตนเองเป็นพยาน
  • โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า ดวงตา และตามลำตัว ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นาน 7 วัน และทำให้ฟันปลอมของโจทก์ร่วมเสียหายต้องทำใหม่ โดยต้องเดินทางไปทำที่กรุงเทพมหานคร มีค่ารักษา และค่าเดินทาง รวมประมาณ 50,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังมีภาวะเครียดเนื่องจากเกิดเหตุสะเทือนใจต้องรักษาตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ประสงค์เรียกค่ารักษาพยาบาล ส่วนนี้ 50,000 บาท

ค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาพยาบาลในอนาคต โจทก์ร่วมเรียก รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ศาลเห็นว่า แม้โจทก์ร่วมจะมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงไม่ครบตามที่ขอมา แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของกรณีนี้แล้ว ศาลเห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมขอเรียกมารวม 100,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

  • การที่จำเลยทำร้ายโจทก์ร่วมรวมตลอดถึงการที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมทำให้สูญเสียเสรีภาพ โจทก์ร่วม ประสงค์เรียกค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท
  • โจทก์ร่วมประสงค์เรียกร้องค่าเสียหายที่จำเลยถูกข่มขืนกระทำชำเราเป็นเงิน 100,000 บาท

ศาลเห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมสูญเสียเสรีภาพ และค่าเสียหายที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราล้วนเป็นค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน ศาลเห็นสมควรให้กำหนดให้รวมเป็นตัวเงิน 100,000 บาท (จากคำขอโจทก์ร่วม รวม 300,000 บาท)​

  • โจทก์ร่วมไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากตาทั้งสองข้างมีอาการมัวจากการถูกจำเลยทำร้าย ทำให้ขาดรายได้ โดยก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วม มีรายได้เดือนละ 10,500 บาท จึงเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดรายได้นับแต่วันทำละเมิดเป็นเวลา 7 เดือน คิดเป็นเงิน 73,500 บาท

ศาลเห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความติดใจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันยื่นคำร้อง จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 73,500 บาท

พิพากษา ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 273,500 บาท พร้อม

ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (31 กรกฎาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ภายหลังคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้พาผู้เสียหายรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ได้แก่ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เป็นเงินจำนวน 2,240 บาทและค่าตอบแทนความเสียหายอื่น เป็นเงินจำนวน 40,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42,240 บาท จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

ในคดีนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา โดยได้มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรีวิชาญ ทำไร่ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เป็นทนายความของผู้เสียหายและแต่งตั้งเข้าเป็นทนายความโจทก์ร่วมในคดี

นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ที่ให้ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายจะพึงได้รับตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดนั้น ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย รวมทั้งกรณีที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน ศาลยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการคิดค่าสินไหมทดแทนที่ชัดเจน จึงมักกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับในค่าสินไหมทดแทนเพียง 1/3 ที่ได้เรียกร้องไปเท่านั้น

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า ความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งด้านจิตใจและสิทธิเสรีภาพนั้นรุนแรงยิ่ง โดยเฉพาะกรณีละเมิดทางเพศ ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงควรพิจารณาวางหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายด้านจิตใจและอื่นๆ อันเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอแนะให้ผู้พิพากษาในคดีใช้เป็นแนวทางในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน โดยอาจจัดให้มีการประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเสนอแนะแนวทางการเยียวยาดังกล่าวบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

ที่มาของคดี

เมื่อ 15 กันยายน 2562 ได้มีข่าวปรากฏบนสื่อออนไลน์ ระบุว่า “สาวเมียนมาถูกหนุ่มไทยข่มขืน ใช้เชือกรัดคอหวังจะฆ่าปิดปาก แต่สาวเมียนมาคนนี้รอดไปได้อย่างหวุดหวิด ผ่านมาอาทิตย์หนึ่งตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องมันยังเงียบ… เธอเป็นแม่บ้านโรงงานชาวกระเหรี่ยง สัญชาติเมียนมา ถูกทำร้ายร่างกายแล้วก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พอโดนเสร็จกำลังจะถูกฆ่ารัดคอคือเอาเชือกหวังจะฆ่าปิดปาก ตัวเหยื่อวิ่งหนีรอดมาได้แล้วก็เรียกให้คนช่วย แจ้งตำรวจไปแล้วแต่จนถึงตอนนี้เรื่องยังเงียบ…ตามรายงานระบุว่า หนุ่มคนไทยน่าจะหนีไปอยู่กับญาติ”  ทำให้ข่าวดังกล่าวเป็นที่สนใจของแรงงานชาวเมียนมา ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อกรณีการทำร้ายแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

———————————————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ว่าที่ร้อยตรีวิชาญ ทำไร่ ทนายความ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มือถือ : 063-579-6989 E-mail : [email protected]