ใบแจ้งข่าว: แรงงานข้ามชาติเรียกร้องรัฐบาลไทย ขอให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามโยบาย “ม .33 เรารักกัน”

10 มีนาคม 2564

ใบแจ้งข่าว
แรงงานข้ามชาติเรียกร้องรัฐบาลไทย
ขอให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามโยบาย “ม .33 เรารักกัน”

 

วันนี้ ( 10 มีนาคม 2564) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้มีหนังสือนำส่งจดหมายร้องเรียนของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ยื่นต่อรัฐบาลไทย ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขคุณสมบัติสัญชาติไทยของผู้ได้รับสิทธิโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนได้รับสิทธิในเงินช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลโดยการเสนอของกระทรวงแรงงานได้มีการอนุมัติโครงการ “ม 33 เรารักกัน” เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ภาคประชาชนฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563 ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่ 2 งบประมาณรวม 31,700 ล้านบาท กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณ 9.7 ล้านคน โดยจ่ายเงินจำนวนคนละ 4,000 บาท โดยเปิดให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนผ่านช่องทาง www.ม33เรารักกัน.com ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2564 แต่โครงการดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น มีผลทำให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เช่นกัน หมดสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว

มูลนิธิฯได้ส่งจดหมายลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 ลงชื่อโดยแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ส่งถึง นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว โดยระบุเหตุผลว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนนับล้านคน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกันกับคนไทยหรือยิ่งกว่า การตัดสิทธิแรงงานข้ามชาติไม่ให้รับเงินเยียวยาโดยอ้างเหตุว่าไม่มีสัญชาติไทย เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

จึงขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกเงื่อนไขที่ตัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินเยียวยาดังกล่าว

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิแรงงานทั้งที่เป็นชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นในกรณีการตัดสิทธิผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติตามโครงการ “ม.33 เรารักกัน” นี้ ทางมูลนิธิฯ จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิเช่นเดียวกับผู้ประกันตนอื่นๆต่อไป

 


รายละเอียดติดต่อ : ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทร 0815957578 อีเมล์: [email protected]