ใบแจ้งข่าว: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานสาธารณสุข กรณีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานโรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต ปฎิเสธการขายประกันสุขภาพให้กับเด็กผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติ


เผยแพร่วันที่ 24 มีนาคม 2564

ใบแจ้งข่าว
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานสาธารณสุข
กรณีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานโรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต
ปฎิเสธการขายประกันสุขภาพให้กับเด็กผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติ

        เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ผู้ว่าราชการจัวหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีการซื้อประกันสุขภาพให้กับเด็กผู้ติดตามบิดามารดาที่เป็นแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากมีกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพให้กับบุตรที่เกิดในจังหวัดภูเก็ตได้

       การดำเนินการช่วยเหลือคดีนี้สืบเนื่องจาก มูลนิธิฯได้นำแรงงานข้ามชาติและบุตร เดินทางไปยังศูนย์ตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เกาะสิเหร่ เพื่อซื้อบัตรประกันสุขภาพให้กับเด็กผู้ติดตามแต่ได้รับการปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่แจ้งด้วยวาจาว่า เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หากจะซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ มารดาจะต้องเป็นผู้มีบัตรประกันสุขภาพก่อนเท่านั้น แม้ว่าบิดาจะมีประกันสุขภาพหรือประสังคม แต่หากมารดาไม่มีก็ไม่สามารถทำบัตรประกันสุขภาพให้แก่เด็กได้

       ทางมูลนิธิฯเห็นว่า การปฎิเสธสิทธิการขายบัตรประกันสุขภาพให้กับเด็กผู้ติดตามนั้นไม่สอดคล้องกับคู่มือการดำเนินงานประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 ภาคผนวก 3 มาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2563 ที่ระบุอย่างชัดเจนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจและประกันสุขภาพให้แก่ผู้ติดตาม ณ สถานพยาบาลเดียวกับบิดาหรือมารดา หรือสถานพยาบาลของรัฐในพื้นที่ที่อยู่ของบิดาหรือมารดา หรือนายจ้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามประกาศ ขณะเดียวกันบุตรแรงงานต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเช่นเดียวกับบิดาหรือมารดา ตามกฎกระทรวงกําหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. 2560 โดยเด็กๆเหล่านั้นย่อมมีสถานะเป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับการบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พศ. 2563 และเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องด้วย

       ดังนั้นเพื่อให้เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการประกันสุขภาพได้ อันจะเป็นผลดีในการคุ้มครองสิทธิของเด็กเองและสังคม รวมทั้งการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามอนุสัญญาด้านสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทางมูลนิธิฯ จึงได้เรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกการตั้งเงื่อนไขดังกล่าว โดยให้เด็กทุกคนที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ โดยจะใช้สิทธิเชื่อมโยงทางใดทางหนึ่งกับบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้มีประกันสุขภาพหรือเป็นผู้ประกันตนก็ได้ ในลักษณะเดียวกันกับสิทธิของเด็กในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่สามารถเลือกโดยเชื่อมโยงกับบิดาหรือมารดาที่เป็นผู้ประกันตนได้ และให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันด้วย


ข้อมูลเพิ่มเติม

ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและพัฒนา
เบอร์โทรศัพท์ 094-548-5306 E-mail: [email protected]