ปัญหาการใช้แรงงานเด็กกับการทำงานในภาคประมง

ปัญหาการใช้แรงงานเด็กกับการทำงานในภาคประมง

เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล1

บทคัดย่อ

       การใช้แรงงานเด็กในการทำงานภาคอุตสาหกรรมประมงก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กที่เกิดจากรูปแบบในการทำงานที่เสี่ยงอันตรายเนื่องจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมงมีชั่วโมงการทำงานที่ทำให้แรงงานเด็กต้องพบความยากลำบากในการทำงานต้องทำงานกลางคืนทำงานต่อเนื่องเกิน  4 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก ต้องยกของหนักหรือใช้อุปกรณ์ในการทำงานที่เสี่ยงอันตราย แม้จะมีทั้งกฎหมายภายในประเทศและต่างประเทศที่กำหนดอายุขั้นต่ำของการทำงานในภาคประมง แต่อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีการจัดทำร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.. …  เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันไม่สอดคล้องต่อสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงานในเรือประมงทะเล ประกอบกับเพื่อให้กฎหมายว่าด้วยแรงงานประมงในประเทศไทยมีมาตรฐานการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ การมีข้อกำหนดเพิ่มเติม ในข้อ 4 โดยอนุญาตให้ทายาทเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือซึ่งมีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี ที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือประมงตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทยเพื่อฝึกงานด้านการประมงจำนวนลำละไม่เกิน 1 คน ซึ่งข้อกำหนดเช่นนี้ขัดต่อบทบัญญัติภายในประเทศ และมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานเด็กอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก ดังนั้น การร่างบทบัญญัติดังกล่าวนำไปสู่การก่อให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการทำงานในภาคประมง และผลกระทบหลายประการที่ตามได้มาในภายหลัง

  1. การใช้แรงงานเด็กในการทำงานในภาคประมง

       การทำงานบนเรือประมงนับได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงอาชีพหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีการใช้แรงงานหนักและมีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บขณะทำงาน เช่น ถูกเชือกหรืออุปกรณ์ชักรอกเกี่ยวดึงลากอวัยวะ ถูกอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากหล่นทับ หรือพลัดตกน้ำสูญหายขณะทำงาน นอกจากนั้นการทำงานบนเรือประมงยังมีช่วงเวลาทำงานที่ไม่แน่นอน มีการทำงานต่อเนื่องยาวนาน และบ่อยครั้งต้องทำงานในช่วงเวลากลางคืน การออกจับปลาแต่ละครั้งต้องออกไปอยู่กลางทะเลเป็นเวลาหลายวันกว่าที่จะกลับเข้าฝั่งเพื่อถ่ายปลา โดยทั่วไปแล้วบนเรือประมงมักจะมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไม่เพียงพอและไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการปฐมพยาบาลประจำอยู่บนเรือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแรงงานจึงไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยสภาพการทำงานที่หนักและเลวร้ายจนทำให้หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงการทำงานประมง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน2

       ในแง่มุมมองของผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยเป็นลักษณะธุรกิจครอบครัว มีการถ่ายทอดอาชีพจากรุ่นสู่รุ่น จึงอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พ่อแม่จะนำบุตรหลานร่วมออกเรือด้วย แต่การอนุญาตให้เด็กสามารถทำงานบนเรือประมงได้อาจกลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และมีการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้เด็กต้องทำงานในสภาพการทำงานที่เลวร้าย ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาและการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 3เป็นผลให้มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของอนุสัญญา โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของประเทศภาคีสมาชิก ประเทศไทยจึงได้ริเริ่มจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายฉบับแรกประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2557 และนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงาน เด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2563 ฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นฉบับที่สอง4

โดยการใช้รูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว5 หมายถึงการขจัด การใช้แรงงานเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีใน 4 รูปแบบคือ

  1. การใช้แรงงานทาสหรือแนวปฏิบัติที่ คล้ายกับการใช้ทาส
  2. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี เพื่อการผลิตสื่อลามก หรือ เพื่อการแสดงลามก
  3. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเพื่อการผลิต และขนส่งยาเสพติด
  4. การใช้แรงงานเด็กในลักษณะของงานหรือโดยสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก

     นอกจากนี้งานใด ๆ จะถูกจัดว่าเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็กหรือไม่ขึ้นอยู่กับอายุ ประเภทงาน และชั่วโมงการทำงานที่เด็กทำงาน ผลกระทบของการทำงานที่มีต่อสุขอนามัยพัฒนาการและการเข้าถึงทาง การศึกษาของเด็กภายใต้มาตรฐานสากล การทำงานในช่วงเวลากลางคืนและการทำงานเป็นระยะเวลานาน จะถูกพิจารณาว่าเป็นงานอันตรายสำหรับแรงงานกรณีที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่างานนั้นจะมีลักษณะงานที่เป็นอันตรายหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตามข้อกังวล ณ ขณะนี้สืบเนื่องจากกระทรวงแรงงานได้มีการจัดทำร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. …  โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันสอดคล้องต่อสภาพการจ้าง การทำงานในเรือประมงทะเลและเพื่อให้กฎหมายว่าด้วยแรงงานประมงมีมาตรฐานการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล ปัญหาสำคัญจากการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ การมีข้อกำหนดเพิ่มเติม ในข้อ 4 โดยอนุญาตให้ทายาทเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือซึ่งมีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี ที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือประมงตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทยเพื่อฝึกงานด้านการประมงจำนวนลำละไม่เกิน 1 คน ซึ่งการกำหนดเช่นนี้นำมาซึ่งความกังวลในการที่จะมีการใช้แรงงานเด็กเกิดขึ้นอย่างผิดกฎหมายในอนาคตต่อไป

       ดังนั้น  การทำประมงเป็นการทำงานในลักษณะของงานที่มีความอันตรายหรือโดยสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย นำไปสู่การทำงานในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งก่อนหน้านี้แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี แต่ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม หากมีการบัญญัติกฎหมายที่อนุญาตให้เด็กทำงานบนเรือประมงได้ ปัญหาการใช้แรงงานเด็กก็ยังไม่หมดสิ้นไป จึงสรุปได้ว่าการร่างกฎหมายที่จะออกมาในอนาคตหากไม่มีการทบทวนแก้ไขมาตรการป้องกัน ลักษณะการทำประมงโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในเรือ การอนุญาตให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี ลงเรือประมงก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการทำงานของเด็กแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายเช่นว่านั้นยังขัดต่อกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะว่างานประเภทประมงไม่เหมาะกับการอนุญาตให้เด็กได้ทำด้วยสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น

      2. การกำหนดอายุขั้นต่ำในการทำงานภาคประมง

       ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กล่าวถึงการคุ้มครองและดูแลเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง หรือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และได้กำหนดการทำงานของเด็กไว้ว่า เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และจากการทำงานที่เป็นการเสี่ยงอันตราย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือการพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็ก เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการถูกใช้แรงงาน ซึ่งในอนุสัญญาฉบับนี้ประเทศไทยได้ลงนามภาคยานุวัติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก6 ทำให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับสิทธิตามอนุสัญญาฯ

      ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น ยังได้มีการกำหนดให้ภาครัฐ กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการรับเข้าทำงานและกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมง และสถานภาพการจ้างงานการ นอกจากอนุสัญญาฉบับนี้ การกำหนดอายุขั้นต่ำในการทำงานที่เฉพาะเจาะจงของการทำงานภาคประมงได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศไทย แต่ในบางอนุสัญญาได้มีการเปิดช่องกำหนดอายุขั้นต่ำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถทำงานได้แม้จะเป็นงานที่มีความเสี่ยงอันตราย ยกตัวอย่างเช่น ได้แก่ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 (C 188) ได้ระบุถึงอายุขั้นต่ำของแรงงานในกิจการประมงจะต้องไม่ต่ำกว่า 16 ปี ไว้ในมาตรา 9 ของอนุสัญญาฯ “(1) อายุขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมงต้องมีอายุ 16 ปี อย่างไรก็ตามหน่วยงานผู้ทรงอำนาจ สามารถอนุญาตให้มีอายุขั้นต่ำ 15 ปี ได้สำหรับบุคคลผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามที่บัญญัติโดยกฎหมายภายในประเทศก็และเป็นผู้ที่ฝึกอาชีพในการทำประมง” แม้ใน C 188 เป็นอนุสัญญาฯที่ให้ความคุ้มครองด้านประมงโดยเฉพาะ แต่ข้อที่น่ากังวล คือการเปิดช่องอายุขั้นต่ำในการทำงานที่แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกนำไปปรับใช้กับบริบทของประเทศตนเองได้ แต่ยังขาดในเรื่องกลไกการติดตามและการร้องเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญต่อแรงงานเด็กที่ทำงานประมง เนื่องจากงานในกิจการประมงเป็นการทำงานที่มีลักษณะงานที่เสี่ยงอันตรายมากกว่างานประเภทอื่น ๆ อีกทั้งการทำงานต้องใช้ประสบการณ์ การตัดสินใจที่เด็ดขาด และทักษะในหลาย ๆ ด้านจึงทำให้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งนอกจากมีการกำหนดเกณฑ์ของอายุแรงงานในกฎหมายฉบับนี้แล้วปัจจุบันยังมีอนุสัญญาที่กำหนดเรื่องการทำงานของเด็กโดยตรงประกอบด้วยอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 138 (ค.ศ. 1973) ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงาน และอนุสัญญาฉบับที่ 182 (ค.ศ. 1999) ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายในการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานของแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้วย

      ในการบัญญัติคุ้มครองแรงงานเด็กในกฎหมายไทยตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศนั้น กฎหมายของประเทศไทยในการกำหนดอายุขั้นต่ำของการทำงานในภาคประมง ซึ่งอยู่ในกฎกระทรวงในส่วนของกฎหมายในประเทศไทย มีการบัญญัติข้อกำหนด เรื่องอายุขั้นต่ำไว้ในข้อ 4 ของกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 กล่าวคือ ห้ามนายจ้างจ้างบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานบนเรือประมง โดยเป็นการกำหนดมาตรฐานที่สูงกว่าอนุสัญญาฯ หากประเทศใดมีการกำหนดมาตราฐานที่คุ้มครองสูงกว่าในอนุสัญญาฯก็สามารถกำหนดให้แตกต่างได้ เพราะในอนุสัญญาฯเป็นเพียงการระบุขั้นต่ำเอาไว้ อีกทั้งในและประกาศคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เรื่อง ประเภทงานอันตรายสำหรับแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย พ.ศ. 2555 ถือว่างานทั้งหมดบนเรือประมงทะเลเป็นงานอันตรายสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากมีการกำหนดบัญชีประเภทงานอันตรายไว้ในประกาศดังกล่าวด้วย7 ประกาศฉบับนี้มีความสำคัญในการดำเนินการเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544

      3. ผลกระทบของการแก้ไขบทบัญญัติอายุขั้นต่ำของแรงงานประมง

      ผลกระทบที่สำคัญของการแก้ไขบทบัญญัติอายุขั้นต่ำของแรงงานประมง คือ เรื่องของการฝึกงาน ไม่มีได้คำนิยามไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่หากจะพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนของบทนิยามศัพท์คำว่านายจ้าง” “ลูกจ้าง” “สัญญาจ้างและค่าจ้าง  ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  . . 2541 8นั้น  หากการทำงานไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อได้ค่าจ้างเป็นการตอบแทนสัญญาจ้างงานก็จะไม่เกิดขึ้น ผู้ให้ทำงานก็ไม่อยู่ในฐานะนายจ้างและในทางกลับกันผู้ทำงานก็ไม่อยู่ในฐานะลูกจ้างด้วยเช่นกัน  ถ้าการเข้าฝึกงานนั้นมีเงื่อนไขในเรื่องค่าจ้างระบุไว้ด้วยว่า ในการฝึกงานต้องได้รับค่าจ้างหากไม่จ่ายค่าจ้างจะไม่ทำงานให้ เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่มีค่าจ้างขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการทำงาน ส่วนใหญ่แล้วการฝึกงานในสถานประกอบการต่าง ๆ เป็นการทำเพื่อการศึกษาหาประสบการณ์ โดยเฉพาะในแรงงานประมงที่ต้องการให้ทายาทไปฝึกงานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อธุรกิจของครอบครัวตนนั้น โดยสาระสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่การได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงาน ถึงผู้รับเข้าฝึกงานจะไม่จ่ายค่าจ้างหรือไม่มีสวัสดิการใดให้เลยก็สามารถทำงานได้ หากประสงค์เข้าฝึกงานในสถานประกอบการนั้นก็ต้องยอมทำงานให้ เช่นนี้ จึงทำให้ผู้เข้าฝึกงานในสถานประกอบการต่าง ๆนั้นไม่มีคุณสมบัติตามบทนิยามของคำว่าลูกจ้างอย่างที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมายนั่นเอง ผลที่ตามมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นในระหว่างฝึกงานถึงแม้จะเกิดจากการฝึกงานก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้ระบุไว้ ยกตัวอย่างเช่น หากแรงงานเด็กเกิดทำงานบนเรือประมงแล้วแขนขาด การจะพาไปรักษาที่โรงพยาบาล เด็กต้องจ่ายค่ารักษาเองโดยที่ไม่สามารถเบิกได้จากกองทุนเงินทดแทนได้ แต่ก็ยังที่จะสามารถฟ้องแพ่งกับทางเจ้าของเรือได้ โดยใช้มาตรา 420 ตามประมวลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะส่วนใหญ่เวลาเกิดอุบัติเหตุทางนายจ้างก็จะเลิกจ้าง    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเข้าใจว่าการมาฝึกงานเพื่อศึกษาความรู้ไม่ใช่ฝึกงานเพื่อที่จะทำงาน นอกจากนั้นหากจะลาหรือใช้สิทธิลาป่วยตามปกติของลูกจ้างทั่วไปก็ไม่ได้ และยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามประกันสังคมอีกด้วย

     ในการรับเด็กฝึกงานเข้าเป็นลูกจ้าง ยังต้องพิจารณาประกอบกฎหมายเกี่ยวกับใช้แรงงานเด็กอีก โดยหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ..2541 ที่เกี่ยวข้องการจ้างแรงงานเด็กเช่น การห้ามจ้างแรงงานเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานโดยเด็ดขาด ตามมาตรา 44 ในการจ้างเด็ก อายุไม่เกิน 18 ปี นายจ้างต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วันนับแต่วันเข้าทำงานหรือสิ้นสุดการทำงานต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามมาตรา 45 อีกทั้งยังต้องจัดให้ลูกจ้างเด็กมีเวลาพักวันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และต้องจัดภายใน 4 ชั่วโมงแรกของการทำงาน ตามมาตรา 46 ห้ามให้เด็กทำงานระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 . เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือให้เด็กแสดงภาพยนต์ ละคร หรือการแสดงอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตามมาตรา 47 ห้ามให้เด็กทำงานวันหยุด และทำงานล่วงเวลา ตามมาตรา 48 ห้ามให้เด็กทำงานอันอาจเป็นอันตรายตามกฎหมายกำหนด เป็นต้น

     นอกจากนั้นเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.. 2541 มุ่งเน้นต่อการคุ้มครองแรงงานมากกว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การฝึกอาชีพ ข้อกำหนดนี้จึงไม่สมควรกำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงฯ เนื่องจากกฎกระทรวงขาดมาตรการที่ชัดเจนต่อการคุ้มครองเด็กในเรือประมง เช่น กลไกการตรวจสอบ กลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพของการทำงานของเด็กในเรือ ข้อกำหนดนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.. 2546 มาตรา 26(6) การให้เด็กทำงานที่ส่งผลกระทบอันตรายต่อร่างกาย จิตใจของเด็ก ทั้งนี้คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายจัดให้งานประมงคือหนึ่งในงานที่มีสภาพที่เลวร้ายต่อเด็ก นอกจากนั้น ข้อกำหนดในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 กำหนดว่าการจะอนุญาตให้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานในเรือประมงได้นั้น ต้องมีการประชุมปรึกษาหารือโดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็ก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานยังไม่ได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือกับแรงงานหรือองค์กรภาคประชาสังคม การอนุญาตให้แรงงานเด็กทำงานในเรือประมงขัดต่อพันธะสัญญาที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้ต่อ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ C182 ว่าด้วยเรื่องการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย

    นอกจากนั้นแล้วการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวยังขาดมาตรการที่ชัดเจนต่อการคุ้มครองเด็กในเรือประมง รวมถึงกลไกการตรวจสอบ กลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพราะในเนื้อหาตามข้อบทกฎหมายไม่ได้มีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขในส่วนมาตรการในการตรวจสอบการทำงานของแรงงานเด็กที่ควรจะมีการคุ้มครองให้มากกว่าแรงงานที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น ไม่มีกลไกการตรวจสอบว่าแรงงานเด็กได้ทำงานต่อวันกี่ชั่วโมง  หรือกลไกการร้องเรียนหากถูกละเมิดระหว่างการทำงาน ทั้งนี้หากหน่วยงานภาครัฐมุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในการกำหนดเรื่องอายุขั้นต่ำในการทำงานประมง ก็ควรที่จะมีการบัญญัติวิธีการตรวจสอบเพื่อที่จะได้มั่นใจว่าแรงงานเด็กที่ได้ไปทำงานบนเรือประมงได้รับการคุ้มครองโดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและมาตราฐานของกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ

    ดังนั้น การร่างกฎหมายตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 นั้น เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองแรงงานที่เป็นเด็ก และการทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมง หากกระทรวงแรงงานจะบัญญัติกฎหมายนี้ ทางกระทรวงต้องคำนึงถึงการกำหนดข้อกฎหมายที่ทำให้เด็กทุกคนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เด็กทุกคนต้องไม่ตกอยู่ในรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด เช่น การใช้แรงงานบังคับ หรือในงานที่ผิดกฎหมาย หรือมีอันตรายอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ หรือสภาพจิตใจของเด็กนั้น และหากยังไม่แก้ไขในตัวร่างกฎหมายต่อไปก็จะทำให้การจัดการในเรื่องนี้ไร้ระเบียบในการจัดการและคุ้มครองแรงงานเด็ก ก่อให้เกิดช่องโหว่ในการใช้เด็กทำงานในภาคประมง และก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาจากการไม่ไตร่ตรองข้อกฎหมายนี้

        4. สรุป

       การทำประมงเป็นการทำงานในลักษณะรูปแบบที่เลวร้ายอย่างหนึ่งของการใช้แรงงานเด็กเนื่องจากเป็นงานที่มีความอันตรายและสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย นำไปสู่การทำงานในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก การกำหนดอายุขั้นต่ำของเด็กที่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงได้มีการบัญญัติในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกฎหมายของประเทศไทย แต่การร่างกฎหมายตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 นั้น เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองแรงงานที่เป็นเด็กและการทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมง หากกระทรวงแรงงานจะบัญญัติกฎหมาย ทางกระทรวงต้องคำนึงถึงการกำหนดข้อกฎหมายที่ทำให้เด็กทุกคนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก

       นอกจากนั้นการคุ้มครองสิทธิเด็กในการทำงานก็ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอีกหนึ่งประการที่ภาครัฐจะต้องให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิเด็กด้วยในฐานะกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางธุรกิจบางอย่างที่มีสภาพการจ้างงานที่อาจส่งผลกระทบและคุกคามสิทธิเด็กได้ เช่น การทำงานในภาคประมง ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานควรจะต้องพิจารณาและแก้ไขกฎหมายโดยตัดข้อกำหนดนี้ออกจากร่างกฎกระทรวง และให้เหลือเฉพาะบทบัญญัติทางกฎหมาย “ห้ามนายจ้างจ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในเรือประมง” เพื่อเป็นการลดการกดขี่แรงงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการบังคับใช้แรงงานในรูปแบบต่าง ๆ และดูแลให้แรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนกำกับดูแล ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด ดังนั้น การออกกฎหมายดังกล่าวควรมีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้แรงงานเด็กถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน ถูกละเมิดสิทธิจากการทำงานและมีสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นายจ้างจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย และเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนทุกคน ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลหากพบเห็นการกระทำผิดด้านแรงงานเด็กอีกด้วย


1. เจ้าหน้าที่กฎหมายและนโยบาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

2. ไทยรัฐ, “แรงงานขาดกดทับเศรษฐกิจ ชูนำเข้าต่างด้าวถูกกฎหมาย,” สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/2111247.

 3. องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, “อนุสัญญาแรงงานเด็กของ ILO ได้รับการให้สัตยาบันสากล,”สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564, จาก https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_752498/lang–en/index.htm

4. วิจิตรา อร่ามวัฒนานนท์, “บทบาทของอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล กับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย,” สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564, จาก http://elibrary.constitutionalcourt.or.th/document/read.php?bibid=11556&cat=4&typ=4&file=IS4H_590431.pdf

 5. Convention on the Worst Forms of Child Labour, 1999 (No. 182). Article 3 

6. Unicef Thailand, “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กคืออะไร,” สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564, จาก https://www.unicef.org/thailand/th/what-is-crc

7. ประกาศคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เรื่อง ประเภทงานอันตรายสำหรับแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ข้อ 2