แถลงการณ์: เรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยไม่เลือกปฏิบัติ

เผยแพร่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 

แถลงการณ์

เรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19โดยไม่เลือกปฏิบัติ 

       ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ว่าด้วยการปิดสถานที่ก่อสร้างห้ามรับประทานอาหารในร้าน รวมกลุ่มสังสรรค์ งานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้อย่างน้อยสามสิบวัน ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) แถลงข่าวกล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 โดยกำหนดให้จ่ายค่าแรง 50% สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท แก่แรงงานในแคมป์ก่อสร้างที่ต้องหยุดงานและเพิ่มให้อีก 2,000 บาทกรณีเป็นแรงงานไทย หรือชดเชย 2,000 บาท กรณีที่ไม่ใช่เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม โดยแรงงานจะได้รับเงินเยียวยาผ่านการลงทะเบียนในแอพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถลงทะเบียนได้ ทำให้มีเฉพาะแรงงานที่ถือบัตรประจำตัวประชาชนไทยเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการเยียวยาได้ 

       มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เห็นว่า เป็นระยะเวลาเกือบสองปีแล้วที่รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อการจัดการดูแลแรงงานข้ามชาติ แม้จะทราบดีว่าแรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายจากสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ครั้งใหญ่ครั้งนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อแรงงานก่อสร้างหรือร้านอาหาร ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 เท่านั้น แต่ส่งผลต่อแรงงานทุกประเภทในทุกพื้นที่ ปัจจุบันกรมควบคุมโรค ระบุตัวเลข ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564 มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับเชื้อโควิด 19 จำนวน 48,135 คน โดยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากพ้นจากสถานะลูกจ้างเนื่องจากตกงานจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ในขณะเดียวกันมาตรการเยียวยาของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงทัศนคติการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีการเยียวยาให้กับแรงงานที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แต่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติไม่สอดคล้องกับระบบลงทะเบียนบัตรประจำตัวสำหรับผู้ที่มีสัญชาติไทย โครงการเยียวยาตามมาตรา 33 สำหรับผู้ประกันตนในกฎหมายประกันสังคม ที่กำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการเยียวยาได้ โดยมูลนิธิฯได้มีหนังสือไม่เห็นด้วยกับโครงการที่มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว (http://hrdfoundation.org/?p=2510&lang=en )  

       เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อที่ประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration-GCM) ณ ห้องประชุม สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เป็นกลุ่มแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนกำลังเศรษฐกิจของชาติและเป็นหุ้นส่วนสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงเป็นกลุ่มที่จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้จะต้องเป็นกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเพราะจะไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย (No one is safe until everyone is safe) จากถ้อยแถลงของผู้แทนรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศนี้ จากถ้อยแถลงของผู้แทนรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการของรัฐที่เกิดขึ้นจริงขณะนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงขอเรียกร้องให้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงขอเรียกร้องให้

  1. รัฐบาลกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเท่าเทียมกันปราศจากทัศนคติของการเลือกปฏิบัติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติที่มีฐานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ก็ตาม 
  2. รัฐบาลกำหนดแผนระยะสั้นโดยการตรวจเชิงรุกแก่แรงงานทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นและจัดการให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิขึ้นทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป อีกทั้งแรงงานข้ามชาติที่ตรวจพบเชื้อโควิด 19 ต้องได้รับการรักษาโดยทันที 
  3. รัฐบาลกำหนดแผนระยะกลางและระยะยาวด้านการจัดการแรงงานข้ามชาติด้วยการ ผ่อนผันไม่ดำเนินคดีกับแรงงานข้ามชาติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2562 รวมถึงเว้นโทษให้แก่แรงงานที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วในช่วงปี2563-2564 และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติอีกครั้งโดยค่าใช้จ่ายต้องไม่เป็นภาระต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทร 065-9042329 Email [email protected]