จดหมายเปิดผนึก: ข้อเสนอต่อแนวทางการต่อต้านการค้ามนุษย์และการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง

1628254147094

 

 

จดหมายเปิดผนึก

           6 สิงหาคม 2564

รื่อง ข้อเสนอต่อแนวทางการต่อต้านการค้ามนุษย์และการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง

เรียน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

สำเนาถึง  1) นายกรัฐมนตรี

                2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกรายงานจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP report 2021) โดยจัดให้ประเทศไทยตกอันดับสู่ Tier 2 Watchlist หรือประเทศที่รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่ำกว่ามาตรฐานและอยู่ในข่ายที่จะต้องเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ รายงานฉบับดังกล่าวให้เหตุผลว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาการคอรัปชั่นและความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐในการขัดขวางการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขาดกระบวนการส่งต่อกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานที่อาจเข้าข่ายปัญหาการค้ามนุษย์ พบปัญหาการจัดการในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติและกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายยังคงไม่ผ่านมาตรฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีอิสระของผู้เสียหายจากสถานคุ้มครองของรัฐ

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมมีความเห็นว่า ในช่วงเวลาการทำงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนามาตราการและดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะได้รับการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติแต่แผนงานและกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ยังไม่สอดคล้องต่อบริบทของปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลไทยไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ มีดังต่อไปนี้ 

ประการแรก ปัญหาเชิงโครงสร้างของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากโครงสร้างของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐตามตำแหน่งในหน่วยงานนั้น โดยมิได้กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่มีความหลากหลายเพียงพอ อาทิ องค์กรภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้แทนผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้คณะกรรมการไม่สามารถกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม และไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงระบบได้

ประการที่สอง การเน้นตัวชี้วัดความสำเร็จจากจำนวนคดีมากกว่าการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินคดีและกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหาย ในช่วงที่ผ่านมาสังเกตเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้านปริมาณเป็นหลัก โดยเน้นการวัดผลสัมฤทธิ์จากจำนวนคดีที่มีการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาและตัวชี้วัดด้านอัตราโทษต่อผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม สถิติการดำเนินคดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามิได้แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีบุคคลหรือผู้มีอำนาจต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีความพยายามผลักดันให้เกิด “คดีนโยบาย” เพื่อเพิ่มจำนวนสถิติการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในประเทศไทย รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการดำเนินคดี การคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย กระบวนการส่งต่อผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม และการคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อหรือวัฒนธรรม มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่การวัดผลสำเร็จด้านสถิติคดีเป็นหลัก

ประการที่สาม ความล้มเหลวของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศ รัฐบาลล้มเหลวในการกำหนดนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย กล่าวคือ รัฐบาลไม่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ แรงงานข้ามชาติยังต้องพึ่งพานายหน้าเพื่อเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนและจัดทำเอกสาร อีกทั้งมีแรงงานข้ามชาติตกหล่นจากระบบการจดทะเบียนจำนวนมาก ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายและสถานะทางกฎหมาย ยิ่งเพิ่มความเปราะบางให้แก่แรงงาน และเพิ่มความเสี่ยงจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และนำไปสู่การบังคับใช้แรงงานหรือแรงงานขัดหนี้ 

ด้วยเหตุนี้เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ 

  1. รัฐบาลต้องแก้ไขโครงสร้างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ โดยเพิ่มสัดส่วนให้มีผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนของผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยหมายรวมถึง ผู้แทนแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ หน่วยงานด้านเด็ก หน่วยงานด้านแรงงานข้ามชาติ และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยให้มีการพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการให้มีความเท่าเทียมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ (หญิง ชาย LGBTQI+) 
  2. ยกเลิกการใช้สถิติคดีเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รัฐควรกำหนดเป้าหมายเชิงนโยบายโดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ด้านกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายที่สามารถช่วยให้ผู้เสียหายเข้าถึงกลไกการคุ้มครองเยียวยาเป็นสำคัญ 
  3. ยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินคดีโดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และความเพียงพอของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และต้องสร้างมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงหรือชี้นำจากบุคคลหรือผู้มีอำนาจใดที่จะผลักดันให้เกิดคดีนโยบาย
  4. รัฐต้องมีเครื่องมือสำหรับการคุ้มครองบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายโดยใช้กลไกการส่งต่อการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับชาติ (National Referral Mechanism) และแนวปฏิบัติสำหรับการขยายระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) โดยมุ่งเน้นให้บุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองเยียวยาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด และแยกกระบวนการคุ้มครองออกจากกระบวนการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา
  5. กรณีที่บุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายเป็นเด็ก ให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาใช้เป็นลำดับแรก และต้องให้การคุ้มครองโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเสมอ  
  6. รัฐต้องกำหนดนโยบายจัดการผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และผู้ติดตาม โดยคำนึงถึงสิทธิในการอยู่อาศัย สิทธิในการทำงาน สิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และความมั่นคงในการดำรงชีวิต   
  7. รัฐต้องลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารและค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้แรงงานข้ามชาติเป็นผู้รับผิดชอบ  

ขอแสดงความนับถือ

องค์กรร่วมลงนาม 

  • เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group)
  • องค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย (Save the Children)
  • มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Right and Development Foundation)
  • มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (Foundation for AIDS Rights)

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 

นายปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

โทรศัพท์ 094 548 5306 อีเมล [email protected]