ใบแจ้งข่าว: ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งแรงงานข้ามชาติ ระบุ โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เหตุห้ามเลือกปฏิบัติเฉพาะเชื้อชาติ มิใช่สัญชาติ

27 กันยายน 2564

ใบแจ้งข่าว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งแรงงานข้ามชาติ ระบุ โครงการ “ม.33 เรารักกัน”

ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เหตุห้ามเลือกปฏิบัติเฉพาะเชื้อชาติ มิใช่สัญชาติ

 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงนามในหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ มีหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน สืบเนื่องจากรัฐบาลโดยการเสนอของกระทรวงแรงงานได้มีการอนุมัติโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เพื่อช่วยเหลือเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 งบประมาณ 31,700 ล้าน บาท เป้าหมายผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9.7 ล้านคน มีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นชาวต่างชาติและผู้ไร้สัญชาติจำนวนนับล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาตามโครงการดังกล่าวได้

แรงงานข้ามชาติเห็นว่า โครงการดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 ม.4 และ 27 ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง และหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ขัดต่อมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกูเงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาฯ ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี จึงเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. ตรวจสอบและเสนอแนะต่อกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย หรือไม่
  2. เสนอแนะให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรียกเลิกเงื่อนไขการกำหนดการเยียวยาในโครงการดังกล่าวเฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นโดยสรุปว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล โดยห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ฯลฯ โดยที่คำว่า เชื้อชาติ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง น. ผู้ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน ส่วนคำว่า “สัญชาติ หมายถึง น. ความเกิด, การเป็นขึ้น, ความอยู่ในบังคับ คือ อยู่ในความปกครองของประเทศชาติเดียวกัน, (กฎ) สถานะตามกฎหมายของบุคคลที่แสดงว่าเป็นพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศใดประเทศหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าการถือสัญชาติเป็นสิ่งบ่งชี้ให้ทราบในทางกฎหมายถึงสถานะของบุคคลนั้นๆว่ามีความเกี่ยวพันหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง อันก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆในฐานะพลเมืองของรัฐนั้น การมีสัญชาติย่อมก่อให้เกิดความผูกพันในทางกฎหมายกับรัฐที่ตนถือสัญชาติโดยมีทั้งสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อันมีความแตกต่างจากบุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐ  ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “เชื้อชาติ” ที่หมายถึงลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของคนที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดและแสดงออกในลักษณะของพันธุกรรม รูปลักษณ์ทางกาย สีผิว เส้นผม นัยน์ตา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมดำเนินการโครงการ “ม.33เรารักกัน” ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น กรณีนี้จึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติและมิได้ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างแต่อย่างใด

  1. ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาว่า มาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พ.ศ.2563 ขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 7 แห่งราชจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือไม่
  2. หากกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามข้อ 1 และข้อ 2 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นโดยสรุปว่า เมื่อการดำเนินการโครงการ “ม.33เรารักกัน” ตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจาณาวินิจฉัยได้

 

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ เห็นว่า

ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินปราศจากการยึดโยงกับหลักการสากล อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อพลเมืองทุกคนภายใต้บังคับของรัฐไทย และการดำเนินนโยบายในลักษณะที่เป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมีผลต่อพลเรือนทุกคนจากการใช้มาตรการของรัฐ ดังนั้นการดูแล เยียวยา ฟื้นฟู จากผลกระทบจึงต้องได้รับการดูแลจากรัฐโดยเท่าเทียม ดังที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อที่ประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration-GCM) ณ ห้องประชุม สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เป็นกลุ่มแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนกำลังเศรษฐกิจของชาติและเป็นหุ้นส่วนสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงเป็นกลุ่มที่จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้จะต้องเป็นกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเพราะจะไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย (No one is safe until everyone is safe) อีกทั้ง ตามความเห็นของคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติได้ให้ไว้ต่อรัฐไทยเมื่อวันที่ 6 – 31 สิงหาคม 2555 สมัยประชุมที่ 81ว่า “รัฐภาคีควรกำกับดูแลให้ชาวต่างชาติทุกคนในประเทศเข้าถึงสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย โดยมีข้อเสนอแนะเป็นการเฉพาะต่อรัฐภาคีว่าให้ดำเนินการเพื่อป้องกันและเยียวยาสำหรับปัญหาร้ายแรงที่แรงงานซึ่งไม่มีสถานะพลเมืองต้องเผชิญ รวมทั้งผู้ที่ถูกจ้างงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย”

 

———————————————————————————————————————

รายละเอียดติดต่อ : ปสุตา ชื้นขจร  ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทร 0815957578   อีเมล์ k.chuenkhachorn@gmail