ใบแจ้งข่าว: แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี โครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “มาตรา 33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงานขัดต่อรัฐธรรมนูญ

8 ธันวาคม 2564

ใบแจ้งข่าว

แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี

โครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “มาตรา 33 เรารักกัน ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงานขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.​2533 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง เพื่อยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย เพื่อให้ผู้ร้องเรียนและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามโครงการ ม.33 เรารักกัน และโครงการอื่นของรัฐในอนาคตเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกำหนดเงื่อนไขของโครงการเป็นการกระทำที่เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564  ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการกำหนดเงื่อนไขการเยียวยาในโครงการ “ม.33 เรารักกัน”  ให้เฉพาะแก่ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยเท่านั้นไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 เพราะบทบัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://hrdfoundation.org/?p=2642 )

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 นี้

 

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นับว่าเป็นการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้ายที่มีอยู่ เพื่อหาแนวทางการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่านโยบายในการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังนั้น เป็นไปในลักษณะที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ นางสาวปสุติเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรรับคำฟ้องของประชาชนและพิจารณาคำฟ้องภายใต้หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination — CERD) ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไทยลงนามเป็นรัฐภาคี และรัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในการส่งเสริมและสนับสนุนความเคารพและนับถือในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทั้งมวล โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา

 

——————————————————————————————

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

ปสุตา  ชื้นขจร  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 081-5957578
E-mail: [email protected]