ใบแจ้งข่าว: ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีมีคำสั่งไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุน แก่แรงงานข้ามชาติ ชี้ กองทุนไม่สามารถนำสถานะทางกฎหมายของลูกจ้างมาปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

24 มีนาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

กรณีมีคำสั่งไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุน แก่แรงงานข้ามชาติ ชี้ กองทุนไม่สามารถนำสถานะทางกฎหมายของลูกจ้างมาปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ จำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ ร 212-246/2564 เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มีคำสั่งไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ

โดยศาลพิพากษาว่ามีใจความสำคัญว่า

  1. เนื่องจากกองทุนสงเคราะห์จ้างจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล จึงมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองลูกจ้างทุกคน โดยไม่มีข้อความใดแบ่งแยกระหว่างลูกจ้างที่สัญชาติไทยกับลูกจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทย
  2. ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 126 และ 134 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา โดยจะต้องพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ได้เบิกว่าความยอมรับว่า “..คุณสมบัติของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ เข้าเงื่อนไขทุกประการแล้วตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ.2560 แต่เนื่องจากมีหนังสือเวียนเลขที่ รง.0507/006876 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 กำหนดว่าแนวทางพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนนั้น ลูกจ้างจะเข้าถึงสิทธิในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้นั้น จะต้องมีสถานะการเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย..”
  3. ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า ลูกจ้างทำงานกับนายจ้าง ที่มีชื่อไม่ตรงตามที่ระบุในใบอนุญาตทำงานจึงถือว่าลูกจ้างเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่เข้าเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่ระบุไว้ในหนังสือเวียนฯ ศาลเห็นว่า ปัจจุบัน มีระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ.2560 นั้นเป็นคนละส่วน ดังนั้น จำเลยไม่สามารถจะยกเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่โจทก์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนเลขที่ รง.0507/006876 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้างต่างด้าว ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ.2546 ซึ่งปัจจุบันได้มีการยกเลิกระเบียบฉบับดังกล่าวและให้การใช้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ.2560 แทน ซึ่งยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินสงเคราะห์   การที่จำเลยมีมติไม่อนุมัติให้จ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างกฎเกณฑ์เดิมที่มีการยกเลิกแล้ว จึงเป็นการออกคำสั่งที่เกินเลยไปกว่ากฎหมายกำหนด จึงพิพากษาให้เพิกถอนมติไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุน ของจำเลย และสั่งให้จำเลยและจำเลยร่วมจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ แก่โจทก์ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติทั้ง 35 คน ตามฟ้อง

 

คดีนี้สืบเนื่องจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ จำนวน 38 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาบริการทำความสะอาดของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ค้างจ่ายค่าจ้างคนงาน ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชย กระทั่งได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่ 8 กันยายน 2563 พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งเลขที่ ชม 0029/4346 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่แรงงานทั้งหมดเป็นเงิน  1,097,620 บาท(หนึ่งล้านเก้าหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบบาทถ้วน)

ภายหลังจากที่นายจ้างทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งภายใน 30 วัน จึงทำให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด แรงงานทั้งหมดซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการไม่ได้รับค่าจ้าง จึงได้ยื่นคำร้องขอรับเงินสงเคราะห์ลูกจ้างจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ แต่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มีมติไม่อนุมัติการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้กับลูกจ้างจำนวน 37 คน ที่เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งหมด มีเพียงลูกจ้างสัญชาติไทยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยหนังสือแจ้งผลเพียงแต่ระบุว่า และลูกจ้างแรงงานข้ามชาติกรณีนี้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหนังสือเวียนเลขที่ รง.0507/ว006876   ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 เท่านั้นแต่ไม่ได้ระบุเหตุผลและอ้างอิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ศาลรับฟ้องโจทก์แล้วนั้น  ศาลแรงงานภาค 5 ได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยเนื่องจาก เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาในส่วนเงินสงเคราะห์กรณีค่าชดเชย

นางสาวปสุตา ชื้นขจร ทนายความ และผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่าแรงงานทุกคนที่ทำงานในประเทศไทยควรมีสิทธิเข้าถึงและได้รับการเยียวยา ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล อีกทั้ง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีนั้น คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติฯได้เผยแพร่ข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานของประเทศไทยว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ย่อหน้าที่ 32 ระบุ “ให้รัฐภาคีเพิ่มความพยายามในการปรับปรุงสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขา อันได้แก่การสร้างความตระหนักในสิทธิและชี้แจงวิธีร้องทุกข์ให้แก่บรรดาแรงงานข้ามชาติและสมาชิกครอบครัว รวมถึงเสริมความเข้มแข็งในการทำงานของพนักงานตรวจแรงงาน โดยเฉพาะในภาคส่วนที่มีแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก นำนายจ้างที่กดขี่แรงงานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและให้มีการชดเชยแก่ผู้เสียหาย…” ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงต้องทบทวนและเพิกถอนแนวปฏิบัติต่างๆที่มีลักษณะของการกีดกันการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างและมีการเลือกปฏิบัติ

 

——————————————————————————————————————————-

 

รายละเอียดติดต่อ : ปสุตา ชื้นขจร  ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทร 0815957578   อีเมล์ [email protected]