ใบแจ้งข่าว: ลูกจ้างหญิงชาวเมียนมาจำนวน 4 ราย ได้รับเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย 413,939.88 บาท ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กรณีบริษัทมีคำสั่งย้ายที่ทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

เผยแพร่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

ลูกจ้างหญิงชาวเมียนมา จำนวน ราย ได้รับเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย 413,939.88 บาท

ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กรณีบริษัทมีคำสั่งย้ายที่ทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

 

         เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ 301/2564 ให้บริษัท จินไท แพ็คกิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด นายจ้าง จ่ายเงินให้แก่แรงงานหญิงชาวเมียนมาจำนวน 4 คน เป็นเงินค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้างแต่ละบุคคล รวมเป็นเงิน 367,030.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

         กรณีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากบริษัทฯ นายจ้างติดประกาศหนังสือ เรื่องแจ้งย้ายที่ทำงานบริษัทฯ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งมีรายชื่อของลูกจ้างทั้ง 4 คนรวมอยู่ด้วย โดยจะโอนย้ายจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทนายจ้างไปเป็นลูกจ้างของอีกบริษัทหนึ่งโดยให้มีผลทันทีวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีเพียงลูกจ้าง 1 รายที่ยินยอมไป ส่วนลูกจ้างทั้ง 4 คน ไม่ยินยอมไปทำงานที่บริษัทแห่งใหม่ตามหนังสือประกาศ จึงขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้พาลูกจ้างทั้ง 5 ราย ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ต่อมาพนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพบว่า การกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำใดๆของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด จึงเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างทั้ง 4 คน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างดังกล่าว  โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างทั้ง 4 และหากนายจ้างจะฟ้องศาลแรงงานเพื่อเพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ นายจ้างจะต้องวางเงินดังกล่าวไว้ต่อศาล

         ต่อมาทางบริษัทฯ ได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานฉบับดังกล่าว ต่อศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) และศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ด้วยเหตุผลไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาวางเงิน จึงถือว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 301/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเป็นที่สุด เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สำนักงานสาขาจังหวัดสมุทรสาคร จึงพาลูกจ้างทั้ง 4 ราย ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่โจทก์นำมาวางต่อศาลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้นเงินเป็นเงินจำนวน 367,030.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ระยะเวลาจำนวน 311 วัน รวมดอกเบี้ยจำนวน 46,909.50 บาท รวมทั้งสิ้น 413,939.88 บาท ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ลูกจ้างทั้ง 4 ราย แจ้งว่า ฝ่ายการเงินสำนักงานประจำศาลแรงงานภาค 1 ได้ดำเนินการโอนเงินตามสิทธิผ่านบัญชีธนาคารให้แก่ตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

         จากกรณีดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรีวัชรวิชญ์ วุฒิพัชระพัชร์ ทนายความ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีความเห็นว่า กรณีนี้เป็นการโยกย้าย เปลี่ยนแปลง โอน ลูกจ้าง มีผลทำให้ลูกจ้างไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ มิใช่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการของนายจ้าง นายจ้างจึงต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างทั้งสิทธิต่างๆที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีอยู่ต่อไป โดยนายจ้างใหม่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างนั้นทุกประการ แต่หากลูกจ้างไม่ยินยอมย้ายไปทำงานกับบริษัทซึ่งเป็นนายใหม่ แม้นายจ้างเดิมไม่ได้มีคำสั่งอย่างชัดเจนเพื่อเลิกจ้างลูกจ้าง แต่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ให้ถือเป็นการเลิกจ้าง ตามมาตรา 118 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง และหากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ภายในเวลากำหนด ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างในวันที่เลิกจ้าง ถือว่านายจ้างผิดนัดชำระแก่ลูกจ้าง นายจ้างยังคงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีตามมาตรา 9 อีกด้วย

———————————————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

[email protected]