ใบแจ้งข่าว: ศาลแรงงาน ภาค1 พิพากษาสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างทำงานบ้านเด็กหญิงชาวลาว จำนวน 11,000 บาท จากกรณีถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกบังคับใช้แรงงาน และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเวลานานกว่า 2ปี 8เดือน

เผยแพร่วันที่ 2 มิถุนายน 2565

ใบแจ้งข่าว

ศาลแรงงาน ภาค 1 พิพากษาสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างทำงานบ้านเด็กหญิงชาวลาว
จำนวน 11,000 บาท จากกรณีถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกบังคับใช้แรงงาน
และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเวลานานกว่า 2 ปี 8 เดือน

            เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ศาลแรงงาน ภาค 1 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ร 120,77/2563 คดีหมายเลขแดงที่ ร 657,658/2565 โดยพิพากษาสั่งให้จำเลย (นายจ้าง) จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ (เด็กหญิงชาวลาวผู้เสียหาย) เป็นเงิน 11,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น จากเดิมที่พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้จ่ายจำนวน 99,133.32 บาท

จากคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 1 ได้มีการวินิจฉัยคดีแรงงานแบ่งเป็น 5 ประเด็น ดังนี้  

  1. ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ ว่าเริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่เมื่อใดและสิ้นสุดการทำงานเมื่อใด ในประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายให้การไม่ตรงกัน โจทก์ให้การว่าตนทำงานกับจำเลยนาน 2 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยให้การว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยเพียงประมาณ 1 ปี 3 เดือน ศาลรับฟังและเชื่อตามคำให้การของจำเลยโดยไม่เชื่อคำให้การของโจทก์
  2. อัตราค่าจ้างที่โจทก์ควรได้รับ ว่าโจทก์ควรได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ศาลเห็นว่าโจทก์ เป็นลูกจ้างทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจ โจทก์จึงไม่ได้รับการคุ้มครองอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ได้ประกาศยกเว้นการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันไม่ได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ศาลจึงวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราที่จำเลยตกลงจะจ่ายให้เพียงเดือนละ 3,000 – 5,000 บาทเท่านั้น
  3. โจทก์ควรได้รับค่าจ้างเท่าไร เมื่อพิจารณาจากหลักฐานการโอนเงินค่าจ้าง จำเลยไม่ได้โอนเงินเป็นประจำทุกเดือน และในการโอนแต่ละครั้งเป็นจำนวนไม่เท่ากัน จำเลยให้การว่าค่าจ้างที่โอนเงินให้พ่อของโจทก์ให้มีการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้เสียหายแล้ว ศาลเชื่อและวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลย
  4. ประเด็นเรื่องอายุความ โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายที่ตนทำงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนกุมพาพันธ์ 2562 แต่ศาลพิเคราะห์ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนตุลาคม 2560 เกินกว่ากำหนด 2 ปีไปแล้ว สิทธิเรียกร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลพิเคราะห์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 รวมเป็นเวลา 4 เดือนเท่านั้น ศาลมิได้มีการพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น
  5. โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าทำงานในวันหยุดประเพณี และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เพียงใด ศาลพิเคราะห์และเชื่อตามคำให้การของจำเลยที่ว่า จำเลยได้มีการจัดให้โจทก์มีวันหยุดประจำสัปดาห์ทุกวันอาทิตย์ รวมทั้งวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้จำเลยจะมิได้แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนว่าโจทก์ได้รับวันหยุดจริง ครบถ้วนทุกครั้งตามคำกล่าวอ้าง

         คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2557 เด็กหญิงเอ ภูมิลำเนาอยู่ที่ แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว ในขณะที่อายุเพียง 10 ขวบ เด็กหญิงและพี่ชายได้ถูกนายหน้าชาวลาวหลอกลวงพาเข้ามาให้ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบ้านผู้มีฐานะแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดเวลาหลายปีที่ทำงาน เด็กหญิงเอได้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งและกระทำทารุณกรรมอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ถูกทุบตี ถูกใช้กรรไกรทิ่มแทง ตัดผิวหนังและเนื้อตัวร่างกายจนปรากฎเป็นริ้วรอยบาดแผลทั่วตัว รวมทั้งให้กินอาหารสัตว์และอยู่ร่วมกับแมวและสุนัขที่นายจ้างเลี้ยงไว้ จนเด็กหญิงเอได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส รวมถึงไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดตามที่ตกลงกันไว้ และไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามกฎหมายขั้นต่ำตามกฎหมาย เด็กหญิงถูกพบตัวและได้รับการประเมินว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ใน ปี พ.ศ. 2562

นางสาวเพ็ญพิชชา จรรโกมล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและนโยบาย โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายเด็กหญิงรายนี้ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าคำพิพากษามีข้อกังวล 3 ประการ

ประการแรก การวินิจฉัยว่าแรงงานรับใช้ในบ้านไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้แรงงานรับใช้ในบ้านได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) แทน ทำให้มีข้อยกเว้นสำคัญหลายข้อ เช่น สิทธิในการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย เมื่อถูกเลิกจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้คนรับใช้ในบ้านไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควร คนทำงานรับใช้ในบ้านจึงถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด เอาเปรียบ และความไม่มั่นคงในการทำงาน

ในกรณีนี้ ไม่ว่าแรงงานรับใช้ในบ้านจะอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายใดก็ตาม แต่ควรมีการพิจารณาข้อเท็จจริงและสภาพการทำงานที่แท้จริงอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่แสดงว่าให้เห็นว่า ภาระหน้าที่ที่เด็กหญิงต้องรับผิดชอบ ช่วงเวลาที่เด็กหญิงทำงาน ช่วงเวลาพักผ่อน ปริมาณงานที่เด็กหญิงทำประกอบด้วยอะไรบ้าง สอดคล้องกับค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ในอัตรา 3,000 – 5,000 บาท หรือไม่ งานที่เด็กหญิงทำมีความปลอดภัย มีสุขอนามัย และเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาว่า “การให้อาหารแมวหรือการทำความสะอาดบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นงานที่ไม่หนักมากและไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน หรือทำติดต่อทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีวันหยุดพัก” อาจเป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากนายจ้างมีสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก ทั้งสุนัขและแมวมากกว่า 10 ตัว สัตว์เลี้ยงต้องมีการให้อาหารทุกวัน วันหนึ่งอย่างน้อย 2 มื้อ เด็กหญิงยังต้องรับผิดชอบทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยง พาสัตว์เลี้ยงไปขับถ่ายและวิ่งเล่น อีกทั้งยังต้องรับภาระในการทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า และทำสวนของนายจ้างอีกด้วย เด็กหญิงให้การถึงการทำงานหนัก ในช่วงเวลาทำงานที่ยาวนาน และมีความสุ่มเสี่ยงด้านสุขอนามัย การพิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้างตามที่นายจ้างกล่าวอ้างจึงอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริงและอัตราค่าจ้างที่เด็กหญิงสมควรได้รับ

ประการที่สอง เรื่องการพิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากคำให้การของทั้งสองฝ่าย จากการวินิจฉัยของศาลจะเห็นได้ว่า ศาลพิเคราะห์และเชื่อตามคำให้การของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามคำให้การของเด็กหญิงเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาการทำงาน จำนวนเงินค่าจ้าง สภาพการทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดตามประเพณี แม้ว่าผู้เสียหายจะควรถูกได้รับการพิจารณาว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากเป็นเด็กหญิงที่มีอายุเพียง 14 ปี และตกเป็นผู้เสียหายในจากการถูกทารุณกรรมและค้ามนุษย์ อีกทั้งยังไม่มีมูลเหตุจูงใจในการให้ความเท็จ ยิ่งไปกว่านั้น คดีนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งนายจ้างตกเป็นจำเลยในคดีค้ามนุษย์อีกด้วย การพิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากนายจ้างเป็นหลักโดยมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจึงเป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่สาม เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลพิเคราะห์ว่าสิทธิเรียกร้องค่าจ้างย้อนหลังของผู้เสียหายมีช่วงที่เกินกว่ากำหนด 2 ปีไปแล้ว ในกรณีนี้ มูลนิธิมีความเห็นว่า แม้ตามกฎหมายจะมีระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าจ้างย้อนหลังไว้ แต่ทั้งนี้ควรมีการพิจารณาถึงข้อเท็จจริงโดยมีเงื่อนไขที่ผู้เสียหายเป็นเด็กเป็นกลุ่มเปราะบาง และเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยตนเองในระยะเวลาที่มีการกำหนดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเรียกเรียงสิทธิของตนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น การตัดสิทธิเรียกร้องค่าจ้างย้อนหลังเพราะเกินกว่ากำหนดตามกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความเปราะบางของผู้เสียหายและเหตุปัจจัยอื่นร่วมอยู่ด้วย จะนำมาซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่เป็นเด็กไม่ได้รับการคุ้มครองและประโยชน์สูงสุดที่เด็กควรจะได้รับ