1629466016852 16 มิถุนายน 2565

ใบแจ้งข่าว

กรมการจัดหางานมีหนังสือตอบกลับเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

กรณีการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก

  ตามที่เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)  ได้ทำหนังสือ เรื่อง “ข้อเสนอการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก” ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้จากการจัดเวทีประชุมสัมมนาและหารือร่วมกันทั้งจากทางภาครัฐ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนแรงงาน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://hrdfoundation.org/?p=2725 ) ต่อมาอธิบดีกรมการจัดหางาน ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ถึงผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เพื่อตอบประเด็นข้อเสนอของเครือข่ายฯ โดยสรุปดังนี้

  1. กลุ่มแรงงานที่ถือบัตรแรงงานตามนโยบายการจ้างงานชายแดน พรก.บริหารจัดการฯมาตรา 64 ที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ให้อยู่และทำงานได้ถึง 31 มีนาคม 2565 แต่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ทำให้การเข้าถึงการจัดทำหนังสือผ่านแดนได้ยากขึ้น และยังมีความเสี่ยงในการเดินทางข้ามชายแดน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและภาคธุรกิจ

ที่ประชุม เสนอให้รัฐบาลพิจารณาขยายระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่และทำงานต่อไปได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือจนกว่าด่านถาวรไทย-เมียนมา จังหวัดตากได้อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายของบุคคลจากฝั่งไทยและเมียนมา

กรมการจัดหางาน เรียนให้ทราบว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 รับทราบความคืบหน้าการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาเข้ามาทำงานตาม มาตรา 64 แห่งพรก.บริหารจัดการฯ ในพื้นที่ 8 จังหวัด รวมถึงจังหวัดตาก โดยดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับแนวทางกานำแรงงานกัมพูชามาทำงานตามมาตรา 64 พื้นที่จังหวัดจันทบุรี (https://covid.chanthaburi.go.th/files/com_announce/2021-12_82dd2589eeeaf65.pdf ) ทั้งนี้หากแรงงานมีหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ หรือหลักฐานการตรวจโรคกโควิด-19 แบบ RT-PCT ไม่ต้องเข้ารับการกักตัว

  1. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี หรือกลุ่มแรงงานตามบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐ และต้องเข้าสู่กระบวนการต่อใบอนุญาตทำงาน การอยู่อาศัย รวมทั้งการปรับปรุงเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI แต่เนื่องจากมีศูนย์ฯ เพียง 5 แห่ง ทำให้พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์มีความยากลำบาก และมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19

ที่ประชุม เสนอให้ รัฐบาลไทยประสานงานกับผู้แทนรัฐบาลเมียนมา ในการจัด ทำเอกสาร CI แบบเคลื่อนที่ ส่วนบุคคล โดยมีการประสานกับสำนักงานจัดหางาน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการแรงงานข้ามชาติตามจุดบริการ เพื่อให้แรงงานและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการบริการ โดยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

กรมการจัดหางาน เรียนให้ทราบว่า ทางการเมียนมาได้มีหนังสือผ่านช่องทางทางการทูตแจ้งผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการออกเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI ให้ทราบ และกรมการจัดหางานได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง/สถานประกอบกิจการ และคนต่างด้าวทราบแล้ว

  1. สำหรับกลุ่มแรงงานที่ขึ้นทะเบียนตามนโยบายรัฐบาล โดยจะต้องผ่านการปรับปรุงประวัติบุคคล แต่พบว่าแรงงานยังไม่เคยมีเอกสารการเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคคลจากประเทศต้นทาง ด้วยเงื่อนไขในปัจจุบันศูนย์ฯ จะดำเนินการจัด CI ให้เฉพาะคนที่เคยมี CI เดิม ทำให้กลุ่มที่ไม่มีเอกสาร CI เดิมไม่สามารถทำได้ และเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

ที่ประชุม เสนอให้รัฐบาล พิจารณาให้แรงงานกลุ่มที่ยังไม่มีไม่เอกสารรับรองตัวบุคคล Certificate of Identity (CI)   สามารถดำเนินการ ณ. ศูนย์ออกเอกสารรับรองตัวบุคคล Certificate of Identity (CI)  โดยถือเป็นการตรวจพิสูจน์สัญชาติ (National Verification)

กรมการจัดหางาน เรียนให้ทราบว่า การออกเอกสารรับรองตัวบุคคล หรือการตรวจพิสูจน์สัญชาติ เป็นกระบวนการของประเทศต้นทาง ปัจจุบันทางการเมียนมา ลาว และกัมพูชา ยังไม่มีท่าทีตอบรับการเข้ามาพิสูจน์สัญชาติหรือจัดทำเอกสารประจำตัวให้กับคนชาติของตนในประเทศไทยที่ยังไม่มีเอกสารดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ที่แรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติ จะต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อไปทำเอกสารประจำตัว หรือเมื่อครบระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามที่กฎหมายกำหนดก็ต้องเดินทางกลับประเทศ

  1. จากการนำเสนอตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า ตัวเลขการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หายไปจากระบบเกือบ 1 ล้าน คน และจากการนำเสนอข่าวจากสื่อต่างๆ มีการจับกุมแรงงานที่ไม่มีเอกสารหรือหลุดจากระบบการขึ้นทะเบียนจำนวนมาก ที่ประชุม เสนอ ให้กรมการจัดหางาน พิจารณาและเสนอนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงาน หรือ แก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังตกหล่นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19

กรมการจัดหางาน เรียนให้ทราบว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการบริหารจัดการคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้จะต้องมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

——————————————————————————————————

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ นายอดิศร เกิดมงคล 089 788 7138 [email protected] หรือ นางสาวระวีพร ดอกไม้ 082 901 5357 [email protected]