ใบแจ้งข่าว: สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรังออกคำสั่งให้ลูกเรือประมงชาวเมียนมา ได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน 417,847.50 บาท กรณีประสบอันตรายจากทำงานบนเรือประมง

เผยแพร่วันที่ 28 ธันวาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรังออกคำสั่งให้ลูกเรือประมงชาวเมียนมา

ได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน 417,847.50 บาท กรณีประสบอันตรายจากทำงานบนเรือประมง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรังมีหนังสือที่ ตง 0031/394138 เรื่องแจ้งผลการวินิจฉัยเงินทดแทนของลูกเรือประมงประสบอันตรายจากการทำงานบนเรือประมง โดยพิจารณาวินิจฉัยเงินทดแทน สำหรับค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ระยะเวลา 56 เดือน เดือนละ 6,615 บาท รวมเป็นเงิน 370,440 บาท รวมกับเงินค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวที่ลูกเรือได้รับไปแล้ว 47,407.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 417,847.50 บาท

ที่มาของกรณีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สำนักงานสาขาจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิกองทุนเงินทดแทน สิทธิกองทุนประกันสังคม และสิทธิแรงงานในชุมชนอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พบว่า มีลูกเรือ 1 ราย ประสบอันตรายจากการทำงานบนเรือประมง และยังไม่ทราบกระบวนการเข้าถึงเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน

เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สอบข้อเท็จจริงพบว่า ลูกเรือประมงชาวเมียนมารายนี้ประสบอันตรายระหว่างทำงานบนเรือในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยกางเกงข้างขวาเข้าไปพันกับกว้านดึงอวนเป็นเหตุให้ขาข้างขวาถูกกว้านบดจนกระดูกแตก เมื่อไต๋เรือขับเรือมาส่งที่แพของนายจ้าง ลูกเรือจึงถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตรัง ลูกเรือได้รับการรักษาเป็นเวลา 4 เดือนโดยแพทย์ได้ใส่เหล็กดามขาไว้ แต่เนื่องจากเกิดอาการแทรกซ้อนทำให้ขาข้างขวาเน่า แพทย์จึงต้องตัดขาทิ้งตั้งแต่ใต้หัวเข่าบริเวณหน้าแข้งลงไป เมื่อรักษาตัวเสร็จแล้ว ลูกเรือรายนี้ยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนตามสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน

หลังจากสอบข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้พาลูกเรือไปพบเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรัง เพื่อยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมได้แจ้งทางวาจาว่า นายจ้างได้ดำเนินการแจ้งเหตุประสบอันตรายแล้ว และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรังได้จ่ายเงินค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวเข้าบัญชีธนาคารของลูกเรือแล้ว เป็นเงินจำนวน 47,407.50 บาท แต่เนื่องจากลูกเรือไม่ได้ถือสมุดบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มด้วยตนเอง จึงทำให้ไม่ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรังได้ดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวให้แล้วและยังไม่ได้รับเงิน

ในช่วงเย็นวันเดียวกันเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงได้พาลูกเรือติดต่อขอรับเอกสารประจำตัวคืนจากนายจ้าง ได้แก่ หนังสือเดินทาง หนังสือคนประจำเรือ ใบอนุญาตทำงาน บัตรสีชมพู สมุดบัญชีธนาคาร และบัตรเอทีเอ็ม ทำให้ลูกเรือได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืน พร้อมกับเงินค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวจำนวน 47,407.50 บาท ในวันที่    18 พฤศจิกายน 2565

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้พาลูกเรือเข้ารับการประเมินการสูญเสียอวัยวะ ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองโรงพยาบาลตรัง แพทย์ให้ความเห็นว่าการสูญเสียอวัยวะคิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย ต่อมาสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรังจึงมีหนังสือ ที่ ตง 0031/394138 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 แจ้งผลการวินิจฉัยเงินทดแทนสำหรับกรณีสูญเสียอวัยวะระยะเวลา 56 เดือน ตั้งแต่วันเกิดเหตุวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่     23 มีนาคม 2569 เดือนละ 6,615 บาท รวมเป็นเงิน 370,440 บาท

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นางสาวเอมาโช ผู้ประสานงาน โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ สำนักงานสาขาจังหวัดสมุทรสาคร ได้พาลูกเรือเข้าพบสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรัง เพื่อเข้ารับเงินทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทั้งนี้ลูกเรือผู้ประสบอันตรายมีความประสงค์จะขอรับค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะจากกองทุนเงินทดแทนในคราวเดียว จึงถูกหักส่วนลดตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือเงินที่ลูกเรือได้รับ จำนวน 361,399.94 บาท โดยลูกเรือผู้ประสบอันตรายได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 และทางศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำขาเทียมให้กับลูกเรืออีกด้วย

ว่าที่ร้อยตรีวัชรวิชญ์ วุฒิพัชระพัชร์ ทนายความ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีความเห็นว่า ในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงาน ลูกจ้างควรเป็นผู้ได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง สำนักงานประกันสังคมควรต้องดำเนินการสั่งจ่ายเงินทดแทนทันที เมื่อพบลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานให้กับนายจ้าง โดยไม่จำต้องแบ่งแยกการพิจารณาสั่งจ่ายเงินทดแทนออกเป็นเงินจากกองทุน หรือสั่งให้นายจ้างเป็นคนจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างเองดังที่มักจะพบว่าเป็นวิธีที่สำนักงานประกันสังคมถือปฏิบัติกันในกรณีอื่น ๆ

ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้นิยาม คำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนั้นเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายก็ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเงินทดแทน อันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง

นอกจากนี้ ในกรณีของลูกเรือประมงที่เป็นแรงงานข้ามชาติมักจะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างมักจะถูกนายจ้างเก็บเอกสารสำคัญประจำตัวไว้ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวได้โดยสะดวกตลอดเวลาตามที่ลูกเรือร้องขอ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดตามกฎหมาย หากปรากฏว่ามีการยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของลูกเรือไว้ อันจะเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย

 

———————————————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

[email protected]