ใบแจ้งข่าว: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างชาวเมียนมาจำนวน 14 คน ในไร่อ้อย จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและบังคับใช้แรงงาน

เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม  2566

 

ใบแจ้งข่าว

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง

ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างชาวเมียนมาจำนวน 14 คน ในไร่อ้อย จังหวัดกาญจนบุรี

เนื่องจากถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและบังคับใช้แรงงาน

 

วันที่ 1 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างชาวเมียนมาจำนวน 14 คน เป็นชาย 10 คนและ หญิง 4 คน ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานตัดอ้อยอยู่ในพื้นที่ หมู่ 9 ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองได้เข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า นายจ้างอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามมาตรา 6/1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่นายจ้างได้ทำการหลบหนีไป และต่อมานายจ้างคนดังกล่าวได้ประสานไปยังชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองว่า จะขอเข้ามอบตัวในวันถัดไป

การช่วยเหลือครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 มีลูกจ้างชาวเมียนมารายหนึ่ง ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อมนุษยชนและการพัฒนา สำนักงานสาขาสมุทรสาคร เนื่องจากถูกนายจ้างข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ไม่จ่ายค่าจ้าง บังคับให้ทำงาน และยึดหน่วงเอกสารประจำตัว จนทำให้ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้

ลูกจ้างชาวเมียนมาให้ข้อมูลกับมูลนิธิฯ ว่า เขาถูกนายหน้าหลอกว่าจะพาไปทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงวัว แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับพบว่าเป็นไร่อ้อย เขาไม่สามารถหนีออกมาได้เพราะนายจ้างยึดเอกสารประจำตัวไว้ และขู่ว่า “ถ้าหนีไปแล้ว หนีไม่พ้น จะยิงทิ้ง” ในการทำงานนายจ้างจะเข้ามาปลุกเขาและพวกให้ตื่นตั้งแต่ตี 4 หากพวกเขาไม่ตื่น นายจ้างจะบุกเข้ามาและเอาน้ำสาดให้ตื่น พวกเขาต้องทำงานตั้งแต่ 05.00 – 17.00 น. ตลอดช่วงเวลาที่เขาทำงานตัดอ้อยให้กับนายจ้าง เขาไม่รู้ว่าเขาต้องได้ค่าจ้างเท่าไร และไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างครบจำนวน ในแต่ละสัปดาห์นายจ้างจะให้เงินพวกเขา 500 บาท แต่เป็นเงินสำหรับค่าอาหารและค่าใช้จ่ายทั่วไป นายจ้างบอกเขาว่า ด้วยเงินจำนวนนี้พวกเขาจะเป็นหนี้ซึ่งเขาจะถูกหักเงินจากค่าจ้าง และทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าอาหาร นายจ้างจะมีอาวุธปืน หรือมีด วางไว้ให้เห็นบนโต๊ะด้วย และเมื่อพวกเขาสอบถามเรื่องค่าจ้าง เขาจะถูกด่า และปาสมุดบันทึกใส่หน้า

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 พวกเขาไม่ยอมออกไปทำงาน เนื่องจากต้องการเจรจาขอโทรศัพท์ที่ถูกนายจ้างยึดไปคืน แต่นายจ้างได้พังประตูห้องเข้าไปและใช้มีดตัดอ้อยตัดมุ้งของพวกเขาและเอาน้ำสาด เขาพวกเขาทั้งหมด 14 คนถูกเรียกให้ออกมานั่งเรียงกันหน้าที่พัก และเห็นว่ามีบุคคลหนึ่งซึ่งยืนอยู่กับนายจ้างพกอาวุธปืนอยู่ด้วย เขากับพวกที่เป็นผู้ชายรวม 7 คน ถูกนายจ้างใช้มีดตัดอ้อยตีที่ศีรษะ 2 – 3 ครั้ง อย่างแรงจนศีรษะบวมและเจ็บ พร้อมกับถูกข่มขู่ว่า “จะไปทำงาน หรือจะติดคุก” พวกเขาทั้ง 14 คนรู้สึกกลัวจึงยอมขึ้นรถไปทำงานตัดอ้อยต่อไป

ในวันต่อมา ลูกจ้างดังกล่าวจึงขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ เพราะถูกบังคับให้ทำงาน ไม่สามารถขัดขืนได้ และต้องการจะหนีออกจากนายจ้างที่ทำร้ายร่างกายพวกเขา เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงได้ประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง (ศกปค.) สำนักการสอบสวนและนิติการ (สน.สก.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างทั้ง 14 คน อย่างเร่งด่วนเนื่องจากลูกจ้างอาจตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัยและอาจกำลังถูกบังคับใช้แรงงาน

ในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า ควรมีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 (National Referral Mechanism – NRM) ซึ่งกำหนดให้มีการช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพเบื้องต้นและกำหนดให้มีการเว้นระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period – RP) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้เผชิญเหตุ พบข้อบ่งชี้อันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงาน โดยเจ้าหน้าที่สามารถจัดให้ผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้เสียหาย (Presumed Victims) ได้รับการตรวจร่างกายและสังเกตสภาพจิตใจ จนกว่าบุคคลที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสียหายนั้นจะมีความพร้อม ประกอบกับมีข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ตามองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานที่แสวงหามาได้เพียงพอ จึงค่อยเริ่มกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และเกิดการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการขยายผลในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา นำพา รับไว้ และร่วมมือกระทำความผิดในครั้งนี้

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนายังคงดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหาย และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและการคุ้มครองผู้เสียหายจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด

———————————————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

[email protected]