HRDF สรุปประเด็นสำคัญ “มติ ครม. 30 พ.ค.66“ ส่งผลต่อเรื่องผ่อนผันแรงงานข้ามชาติ ในการอยู่และทำงานต่อ และขยายเวลาทำเอกสารเดินทางถึง 31 ก.ค. 66

30 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อสำนักข่าวทำเนียบรัฐบาล ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในประเด็นเศรษฐกิจสังคม เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ โดยผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2566) สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

 

ตาม มติ ครม. 30 พ.ค.2566 ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติ MOU 4 ปี ให้อยู่ต่อ และขยายเวลาทำเอกสารเดินทางถึง 31 ก.ค. 66 ดังกล่าว ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) / Human Rights and Development Foundation (HRDF)  ได้สรุปแนวทางเรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ(กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ดังต่อไปนี้

 

กลุ่มที่ 1 แรงงานตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

แนวทางการดำเนินการ

  1. การผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยใช้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน หรือเอกสารตามที่กรมการจัดหางานกำหนดเป็นหลักฐานแสดงการผ่อนผัน
  2. ในระหว่างการผ่อนผัน ให้นายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ที่ประสงค์จะจ้างแรงงานกลุ่มนี้ ให้ดำเนินการขออนุญาตนำแรงงานซึ่งได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย
  3. ในระหว่างการผ่อนผัน ให้แรงงานที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดสามารถเดินทางกลับประเทศได้ หรือเมื่อครบกำหนดการผ่อนผันแล้วให้แรงงานเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่มีความผิด

ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อยแล้วให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องเพื่อพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ( 30 พฤษภาคม 2566) หรือปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีต่อไป และในส่วนของการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอ ต่อ 2 กระทรวง ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย

1.1 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ผ่อนผันให้แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยกเว้นการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นการแจ้งที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางฯ หมดอายุ และ

1.2 ยกเว้นให้แรงงานข้ามชาติที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้โดยไม่มีความผิด

2. กระทรวงแรงงาน
ออกประกาศกระทรวงแรงงาน ผ่อนผันให้แรงงานทำงาน และให้นายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ที่ประสงค์จะจ้างคนแรงงานดำเนินการขออนุญาตนำแรงงานซึ่งได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด

 

กรณี กลุ่มที่ 2 ขยายระยะเวลาจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตรา (visa) แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และการตรวจลงตรา (Visa) ได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ มีแนวทางการดำเนินการ กรณีกลุ่มที่ 2 ดังนี้

  1. การผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน
  2. เมื่อแรงงานได้รับหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (Visa) และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

และในส่วนของการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มี ดังนี้

  1. กระทรวงมหาดไทย ผ่อนผันให้แรงงานอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการยกเว้นการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นการแจ้งที่อยู่อาศัยของแรงงาน ตามมาตรา 37 และ 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
  2. กระทรวงแรงงาน ผ่อนผันให้แรงงานทำงาน ตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด และกรมการจัดหางาน ประสานประเทศต้นทางเพื่อออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ด้วยวิธีการตามที่ประเทศต้นทางร้องขอ การดำเนินการออกเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางให้ประเทศต้นทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
  3. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการตรวจลงตรา (Visa) ตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และย้ายรอยตราประทับ ตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด รวมทั้งการยกเว้นการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นการแจ้งที่อยู่อาศัยแรงงานตามมาตรา 37 และ 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

hrdf7june23