HRDF สรุปภาพรวมเนื้อหากิจกรรมการพัฒนาแนวปฏิบัติงานสำหรับกรณีการยึดเอกสารส่วนตัวของแรงงานข้ามชาติ

hrdf080823_Picture1

 

27-28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) หรือ Human Rights and Development Foundation (HRDF) ร่วมจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแนวปฏิบัติงานสำหรับกรณีการยึดเอกสารส่วนตัวแรงงานข้ามชาติ” กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน (กลุ่มงานควบคุมตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว) ณ The Graph Hotels กรงุเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights) กิจกรรมครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วม จํานวน 70 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากสํานักงานจัดหางานพื้นที่และส่วนกลาง องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดย วัตถุประสงค์ของกิจกรรม ได้แก่ 1) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ปฎิบัติการ ทั้งกฏหมาย นโยบาย และแนวปฎิบัติ 2)เพื่อระดมความคิดเห็นที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาช่วยเหลือ ดําเนินคดี และคุ้มครองผู้เสียหายอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับกฎหมายและนโยบาย เอกสาร 3) เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ความคิดเห็นระหว่างผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน และเจ้าหน้าที่รัฐ


แผนการทำงานหลัง
จากการประชุมเพื่อการพัฒนาแนวปฏิบัติงานสำหรับกรณีการยึดเอกสารส่วนตัวของแรงงานข้ามชาติ

การประชุมในครั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้สรุปข้อเสนอการทำงานร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดังนี้

  1. การพัฒนาเครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดการชัดเจนมากขึ้น โดยพัฒนาแนวคำถามและเพิ่มประเด็นให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ เช่น แนวสอบปากคำ, แบบตรวจคัดกรองเบื้องต้น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน (รบ.1)
  2. สร้างแนวทางกลไกรับเรื่องร้องเรียนของเคสร่วมกันกับกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
  3. ข้อเสนอเชิงนโยบาย อาทิ สร้างแนวทางการป้องกันการยึดเอกสารส่วนตัวของแรงงาน เช่น ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ การทำใบอนุญาต, การผลักดันนโยบายให้แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินการเรื่องเอกสารการทำงานผ่านหน่วยงานให้สะดวกขึ้นเพื่อลดการพึ่งพานายหน้า, การจัดอบรมเรื่องสิทธิให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ ฯลฯ


อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานโดยเน้นเรื่องการตีความ
‘การยึด/การฝาก’ความคลุมเครือที่ส่งผลต่อการดำเนินคดีค้ามนุษย์

hrdf080823_Picture2

สิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการกล่าวเปิดงาน โดยสรุปเนื้อหาสำคัญได้ว่า แต่เดิมเรื่องการยึดเอกสารไม่ได้มีบรรจุไว้ในกฎหมาย แต่ปัจจุบันบรรจุไว้ใน พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จึงเป็นเรื่องสำคัญในประเด็นเรื่องการตีความ ‘การยึด’ และ ‘การฝาก’ ตัวอย่างเช่น ถ้าแรงงานฝากเอกสารไว้กับนายจ้างด้วยวาจา มีพยานรู้เห็นหมด แล้วมาวันหนึ่งแรงงานบอกว่าผมไม่ได้ฝากแบบนี้จะถือว่าเป็นการยึดหรือไม่ หรือการฝากโดยมีเอกสารหลักฐาน แต่แรงงานบอกว่าผมถูกบังคับแบบนี้จะทำอย่างไร ดังนั้น จึงต้องมาไล่ดูว่าเอกสารตามพระราชกำหนดว่าคืออะไร อาทิ บัตรชมพู หนังสือเดินทาง สัญญาจ้าง เจ้าหน้าที่ต้องมีความชัดเจนว่าเอาเอกสารใดไปถือว่าเป็นการยึดเอกสาร เพราะมันจะนำไปสู่การลงโทษคนที่ยึด และเพื่อตรวจสอบว่าการยึดเอกสารนั้นนำไปสู่การค้ามนุษย์หรือไม่ การยึดเอกสารใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ได้

“ในมุมมองส่วนตัวของผม แรงงานต่างด้าวถ้าเข้ามาถูกต้องตาม MOU โดยมากจะไม่มีปัญหา ส่วนที่มีปัญหาโดยมากจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย อย่างประเด็นที่ว่าบางทีนายจ้างไม่ได้ยึดแต่คนที่ยึดเป็นโบรกเกอร์ ต้องมาดูกันอีกว่ากรณีนี้ถือว่ายึดไหม ดำเนินคดีได้หรือไม่ มันมีหลายปัจจัย ฝากประเด็นเหล่านี้ไว้กับที่ประชุมนี้ด้วย ควรจะมีความชัดเจนว่าอะไรคือการยึด เพราะตราบใดที่กฎหมายมีช่องว่างเยอะคนทำผิดก็ใช้ช่องว่างเหล่านั้นทำผิด สิ่งนั้นก็จะย้อนกลับมาให้เราตามแก้ไขอีก เรื่องยึดเอกสารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นปัญหาอย่างมากในการบริหารจัดการ ขอให้ช่วยกันหาหลักการที่ชัดเจนในการปฏิบัติงานให้ได้” รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

 

สรุปบรรยายเรื่องเจตนารมณ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยึดหน่วงเอกสารสำคัญ/ประจำตัวตามกฎหมายไทย โดย สำนักงานกฎหมายเอสอาร์ (SR Law)

hrdf080823_Picture3

“คนไทยเราต้องทำบัตรประชาชนตั้งแต่อายุ 7 ปี ถึง 70 ปี เวลาไปสถานบันเทิงแล้วเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ ถ้าเราไม่แสดงบัตรจะมีความผิดทางอาญา ตามพรบ.บัตรประจำตัวประชาชน มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท บัตรประชาชนเป็นบัตรประจำตัว ดังนั้นเราจะต้องเก็บรักษาไปไว้กับตัวเอง และถ้าใครยึดเอาบัตรประชาชนของคนอื่นไป จะต้องโทษตาม พรบ.ประจำตัวบัตรประชาชน ม.15 ทวิ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท กฎหมายยังเขียนอีกว่าแม้การยึดของคนอื่นไปนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสำหรับตัวเองหรือบุคคลอื่นก็ยังถือว่าเป็นความผิด กฎหมายไม่ได้มีข้อยกเว้นไว้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าการเอาบัตรของคนอื่นไปนั้นเป็นความผิด อย่างเช่นเอาบัตรคนอื่นไปเลือกตั้ง” สำนักงาน กฎหมายเอสอาร์ (SR Law)

 ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล และ คุณสรไกร ศรศรี สำนักงานกฎหมายเอสอาร์ (SR Law) กล่าวว่า ประเด็นเรื่องเอกสารสำคัญของแรงงานข้ามชาติ หากอธิบายให้เห็นภาพชัด คือ การมองภาพคนไทยที่ตัวเราก็มีเอกสารสำคัญประจำตัวก็ คือ บัตรประชาชนใช้เพื่อยืนยันตัวตน เป็นเอกสารที่นำไปสู่การเข้าถึงสิทธิ์ เช่น การรักษาพยาบาลก็ต้องมีบัตรประชาชนยืนยันตัวตน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ดังนั้นแรงงานต่างด้าวก็ไม่ต่างกันกับคนไทยเมื่อเขามีบัตรเขาก็มีสิทธิ์ ในกรณีของแรงงานต่างด้าวการยึดบัตรจึงมีความเกี่ยวข้องไปถึงการค้ามนุษย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จัดหางาน เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบ แล้วเจ้าหน้าที่จะต้องตีความอย่างไรว่าอะไรคือยึด และอะไรคือการฝาก

ในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้น ในเรื่องของบัตรเอกสารประจำตัวและเอกสารการทำงานจะมีความแตกต่าง เพราะมีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฯลฯ ในส่วนของ พรบ.คนเข้าเมือง ซึ่งในข้อกฎหมายไทยได้กำหนดว่าคนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศต้องมีหนังสือเดินทางหรือบัตรผ่านแดน การตรวจตราคนต่างชาติว่าเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องหรือไม่ ต้องดูที่เอกสารประจำตัวเป็นอย่างแรก และต้องตรวจสอบข้อมูลในเอกสารเหล่านี้ให้ถูกต้อง เช่น บัตรผ่านแดนจะกำหนดว่าคนต่างชาติที่มาทำงานสามารถอยู่ได้ในพื้นที่ไหนบ้าง  อายุในหนังสือเดินทางตรงกับอายุจริงหรือไม่ ซึ่งเอกสารสำคัญของแรงงานข้ามชาติในลำดับต่อไป คือ ใบอนุญาตทำงาน (Work permit) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) การยึดเอกสารทุกวันนี้อาจจะเป็นการยึดหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ยึดทั้งหนังสือเดินทางกับใบอนุญาต อย่างเช่นกรณีแรงงานชำแหละไก่ที่เข้ามาผ่าน MOU นอกจากจะถูกยึดใบอนุญาตแล้ว ถูกยึดหนังสือเดินทางด้วยเช่นกัน เพราะเขาก็อ้างว่า เขาทำสัญญาจ้าง 2 ปี เพราะฉะนั้นจึงต้องฝากหนังสือเดินทางไว้กับเขาเป็นเวลา 2 ปี โดยอ้างว่าทำตามกฎหมายของไทย และสิ่งสำคัญคือเอกสารเหล่านั้นต้องไม่หมดอายุ ไม่อย่างนั้นการยึดเอกสารอาจไม่เป็นความผิด ยกเว้นจะเป็นการยึดไว้เพื่อไม่ให้แรงงานไปต่ออายุจะซึ่งเป็นอีกประเด็นนึง

 

สรุปกิจกรรมการถอดบทเรียนปัญหาและข้อท้าทายการยึดเอกสารเพื่อนําไปสู่การปรับปรุงแนวปฏิบัติแบบตรวจคัดกรองเบื้องต้น การบังคับใช้ แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้าน แรงงาน (แบบรบ.1)

 

โสภณา บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการ ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (สล.ศปคร) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ กล่าวคือ สำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (สล.ศปคร.) เดิมทีเป็นหน่วยงานเล็กๆ จนกระทั้งประเทศไทยถูกจัดอันดับจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือ TIPS REPORT 2014 ให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่ม 3 หรือเป็น tier 3 ซึ่งเป็นประเทศที่สถานการณ์การค้ามนุษย์เลวร้ายที่สุด จนปัจจุบันประเทศไทยถูกผลักดันให้กลับมาอยู่ tier 2 (กลุ่มที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์) ปลัดกระทวงแรงงานให้ความสำคัญต่อการปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อให้ไทยเลื่อนลำดับ tier ขึ้นไป สล.ศปคร จึงถูกผลักขึ้นมากลายเป็นสำนักจากเดิมที่มีผู้รับผิดชอบ 3 คน เพิ่มขึ้นมา 8 คนในตอนนี้

“ ผลของรายงาน TIP  ล่าสุด (2023) ประเทศไทยอยู่ในสถานะ Tier 2 เดิม สำหรับตัวเองขอบอกว่าดีไว้ก่อน จะได้มีเวลาเตรียมตัว ถ้าเลื่อนไปTier 1 เลย อาจจะช๊อคว่าทำไมอยู่ ๆก็ได้เลย แบบนี้แสดงว่าโอเคเราก็อาจจะเดินถูกทางแล้ว  เพราะข้อเสนอแนะในรายงาน TIP ทั้งหมด 12 ข้อที่ออกมาปีนี้ ด้านป้องกันเหลือแค่ 5” ผู้อำนวยการ สำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการ ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (สล.ศปคร)

ประเด็นสำคัญที่ทาง สล.ศปคร ต้องเฝ้าดำเนินติดตาม เป็นเรื่องข้อเสนอแนะของรายงาน TIP คือประเด็นข้อที่ 2 เรื่องการต้องเพิ่มความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ที่ถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานจากกระบวนการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยข้อเสนอขอให้ยุติการส่งผู้เสียหายเข้าห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกลงโทษอย่างไม่เหมาะสม ทาง สล.ศปคร. กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าภายใต้ทรัพยากรของภาครัฐมีจำกัด เราจึงมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ซึ่งจะมี 4 ขั้นตอน 1.รับแจ้ง 2.คัดกรอง 3.คัดแยก 4.คุ้มครอง การดำเนินในช่วง 15 วัน โดยเริ่มจากกระบวนการคัดกรองไปสู่คัดแยก และสถานที่คุ้มครองผู้ที่เป็นผู้เสียหาย ในช่วงที่มีการคัดกรองจะมีการเปิดศูนย์บูรณาการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ฯ  ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพมีระยะเวลาในการหาพยานหลักฐาน แต่ทางหน่วยงานรัฐก็ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของพนักงาน โดยฝ่ายที่เข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้มากก็องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)

นอกจากนี้ทาง สล.ศปคร. ยังมีข้อแนะนำเรื่องการเพิ่มการจัดทำวีซ่าเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์  ประเด็นนี้ต้องยอมรับว่าทาง สล.ศปคร บกพร่อง เพราะ งบประมาณที่มีจำกัดและการเผชิญกับหน้างานอื่นที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก แต่ทาง สล.ศปคร ไม่ได้ละเลย ยิ่งมีประเด็นนี้เข้ามาอยู่ในข้อเสนอแนะเรายิ่งต้องเร่งแก้ไข ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถทำงานต่อได้

สุดท้ายนี้ ประเด็นที่ประเทศไทยต้องดำเนินการในเรื่องค้ามนุษย์ คือ การตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการสืบสวนการละเมิดแรงงานและข้อร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวที่มีข้อบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานเพื่อระบุอาชญากรรมการค้ามนุษย์ รวมทั้งการบังคับใช้ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่แรงงานในการส่งต่อกรณีที่อาจจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในปีที่ทาง สล.ศปคร คัดกรองไป 1 หมื่นกว่าราย มีกรณีเข้าข่ายค้ามนุษย์จำนวน 13 ราย มีการเข้าตรวจแรงงานประมงทั้ง 24 จังหวัด มีคัดกรองได้ จำนวน 14 คน แต่พอถึงคัดแยกก็พบว่าไม่มีคนที่เข้าข่ายเลย ซึ่งทาง สล.ศปคร พบว่าการระบุข้อบ่งชี้เป็นเรื่องยากมาก ๆ เพราะมันเป็นเรื่องนามธรรมและต้องดำเนินการหาข้อมูลที่จะใช้ให้น้ำหนักกับการคัดแยกประกอบกัน และอีกประเด็นที่สำคัญคือการเพิ่มความตระหนักแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเกี่ยวกับการทราบถึงตัวชี้วัดการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับให้ใช้หนี้ การทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การยึดเอกสารสัญญา และการค้างจ่ายค่าจ้าง โดยเรื่องสำคัญหลักๆคือเรื่องการยึดเอกสาร โดยทาง สล.ศปคร ได้มีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จำนวน 8 รุ่น ดำเนินการไปแล้ว 5 รุ่น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เข้มข้น เป็นหลักสูตรที่ออกแบบโดยคณะกรรมการระดับชาติ