ศาลฎีกาพิพิพากษาจำคุกนายจ้างคดีฆ่าแม่บ้านสัญชาติพม่าด้วยวิธีการทรมานทารุณโหดร้ายสนับสนุนกฎหมายของกระทรวงแรงงานเรื่องการคุ้มครองสิทธิแม่บ้านโดยไม่เลือกสัญชาติ

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ศาลจังหวัดอุทัยธานี ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องน.อ.สุชาติ อัคควิบูลย์ จำเลยที่ 1 และนางยุวดี อัคควิบูลย์ จำเลยที่ 2 (คดีดำที่ 1089/2547) ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมืองพ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย  ร่วมกันให้คนต่างด้าวพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือให้พ้นการจับกุมและร่วมกันรับบุคคลต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตโดยฝ่าฝืนกฎหมาย”  เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย ร่วมกันให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยและร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ลงโทษจำคุก 17 ปี 4 เดือน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นระยะเวลา 4 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน และริบของกลางที่เป็นรถยนต์กระบะ เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2545 เมื่อนางสาวมาซู อายุ 18 ปี ชาวพม่า ได้เดินทางจากอำเภอแม่สอดมาประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านโดยการจ่ายเงินให้กับนายหน้าในการจัดหานายจ้างให้ ที่ร้านเฟอร์นิเจอร์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นนายจ้าง หลังจากที่นางสาวมาซู ทำงานมาได้ประมาณสามเดือนก็ได้ถูกนายจ้างกล่าวหาว่าลักทรัพย์สินภายในบ้านไปแต่นางสาวมาซูปฎิเสธข้อกล่าวหาของนายจ้าง ทำให้นายจ้างไม่พอใจจึงได้ทำร้ายร่างกาย โดยการตี ใช้น้ำมันก๊าซราดไปที่ร่างกายและจุดไฟเผาจนให้บาดบาดเจ็บสาหัส หลังจากที่ถูกทำร้ายร่างกายแล้วนายจ้างได้ขังนางสาวมาซูไว้ในห้องพักของบริเวณบ้านของนายจ้างโดยไม่ได้รับการรักษาหรือให้อาหารเป็นระยะเวลาสามวัน และยังคงถูกทำร่างกายซ้ำอีก จนกระทั่งนายจ้างเชื่อว่านางสาวมาซูเสียชีวิตแล้ว จึงได้นำนางสาวมาซูขึ้นรถยนต์กระบะ และนำนางสาวมาซูไปทิ้งไว้ข้างถนน จนกระทั่งมีพลเมืองดีมาพบและนำตัวนางสาวมาซูไปรักษาตัวไว้ที่โรงพยาบาลจังหวัดอุทัยธานี นางสาวมาซูเสียชีวิตภายหลังจากที่ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 9 วัน คดีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในสังคมและองค์กรที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของผู้รับใช้ในบ้านยังไม่ได้รับการรับรอง ทำให้เกิดความเสี่ยงและขาดการตรวจสอบการกระทำของนายจ้างต่อผู้รับใช้ในบ้าน โดยเฉพาะแม่บ้านที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติและไม่มีใบอนุญาตทำงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เป็นองค์กรทีทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพในประเทศไทย ขอชื่นชมยินดีต่อบุคลากรด้านกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินการให้ผู้เสียหายในคดีอาญา สามารถเข้าถึงความยุติธรรม โดยการพิจารณาฟ้องคดีและมีคำพิพากษาอันเป็นการยืนยันถึงการกระทำที่ทารุณโหดร้าย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 2 ล้าน และมีข้อมูลว่าแรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพรับใช้ในบ้านจำนวนกว่า 200,000 คน ซึ่งบางรายได้ถูกนายจ้างแสวงหาประโยชน์ โดยการเอารัดเอาเปรียบ ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและปลอดภัย ทำให้ได้รับอันตราย เจ็บป่วยจากการทำงาน และถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง ดังนั้น ทางมูลนิธิฯ จึงขอสนับสนุนกระทรวงแรงงานในการบังคับใช้กฎหมายอย่างสัมฤทธิ์ผลในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานรับใช้ในบ้าน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นแรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จำนวน 7ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับการวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิในการล่าป่วย การจ่ายเงินค่าแรงแก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18   ปี และการจ่ายค่าแรงในวันหยุด เป็นต้น


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 02-277 6882