ศาลแรงงานกลาง พิจารณา กำหนดประเด็นข้อพิพาท และกำหนดวันนัดสืบพยานคดี กรณีนายจ้างเป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลย และลูกจ้างเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครและคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ใบแจ้งข่าว

เผยแพร่วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 

“ศาลแรงงานกลาง พิจารณา กำหนดประเด็นข้อพิพาท และกำหนดวันนัดสืบพยานคดี กรณีนายจ้างเป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลย และลูกจ้างเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครและคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา09.30 น.ศาลแรงงานกลางได้นัดพิจารณาและกำหนดประเด็นข้อพิพาท กรณีที่บริษัท เกียวโต แพคเก็จจิ้ง จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานประกันสังคม เป็นจำเลย และนายโทน เอ จำเลยร่วม กรณีที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ได้ออกคำสั่งเลขที่ 4/2555 เรื่องเงินทดแทน เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทน กรณีที่นายโทน หรือ TUN AYE (a) THON (สัญชาติพม่า) ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท เกียวโต แพคเก็จจิ้ง สาขาสมุทรสาคร จำกัด และได้ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงานในหน้าที่ปั๊มพลาสติก เป็นเหตุให้ นิ้วหัวแม่มือซ้ายสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 80 นิ้วกลางซ้ายสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 90 นิ้วชี้และนิ้วนางมือซ้ายสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ78 ของนิ้วมือ รวมเท่ากับสูญเสียสมรรภาพ ร้อยละ 40 ของร่างกาย จึงให้นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนตามพรบ.เงินทดแทน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 274,560 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตามพรบ.เงินทดแทนจึงได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน แต่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติคำวินิจฉัยที่ 282/2555 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องฟ้องสำนักงานประกันสังคม และนายโทน เอ เป็นจำเลย โดยเห็นว่า “คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประสบอันตรายของนายโทน เอ ลูกจ้างนั้น เกิดจากการที่นายโทน เอ จงใจให้ตนเองประสบอันตรายเอง” จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย และตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 4/2555 ฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนทดแทน ที่ 282/2555 ฉลับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2555 นายโทน เอ จึงได้ร้องต่อศูนย์ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ประจำพื้นที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคดี

ในการพิจารณาคดี นายโทน เอ จำเลยร่วมในคดีนี้ได้แถลงต่อศาลว่าประสงค์ให้โจทก์ชำระเงินให้กับจำเลยร่วม เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท เพื่อที่จะทำการยุติคดีนี้ ในขณะที่ทนายความของโจทก์ แถลงต่อศาลว่าจะนำข้อเสนอของฝ่ายจำเลยร่วมไปนำเสนอต่อฝ่ายโจทก์แล้วจะมาแถลงต่อศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก วันที่ 28 สิงหาคม 2556

นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความในคดีนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายปรากฏโดยชัดแจ้งว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ.๒๕๓๗  มาตรา ๑๘(๑) และมาตรา ๑๘(๒)  และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๒(๒) เนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน  นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  แต่กลับใช้สิทธิตามมาตรา ๕๓ ฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน  และผู้เสียหายจะถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับสำนักงานประกันสังคมและมีการไกล่เกลี่ย  หากลูกจ้างพอใจเงินจำนวนตามที่นายจ้างเสนอ  คดีก็สามารถจบลงได้  แต่เงินทดแทนที่ลูกจ้างได้รับจะต่ำกว่าสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมาย  ทั้งที่กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แต่สามารถไกล่เกลี่ยลดจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิมาตรฐานขั้นต่ำของลูกจ้างได้   จึงมีความเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวอาจมีผลทำให้นายจ้างนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเข้าสู่การตกลงไกล่เกลี่ยลดจำนวนเงินทดแทนลง  ทำให้เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติเงินทดแทนที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างถูกลดทอนประสิทธิภาพลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยังเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมควรใช้ความพยายามในการบังคับใช้พรบ.เงินทดแทน เรียกร้องให้นายจ้าง จ่ายเงินสมทบในกองทุนเงินทดแทน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมควรพิจารณายกเลิกหนังสือ ร.0607/ว.987   ลงวันที่ 31   พฤษภาคม 2555 ว่าด้วยแนวปฏิบัติใหม่ของสำนักงานประกันสังคม ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างเฉพาะกรณีที่นายจ้างได้จ่ายเงินสมทบในกองทุนเงินทดแทนแล้วเท่านั้น แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม หากนายจ้างหลีกเลี่ยงไม่จ่ายนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินทดแทนกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเอง อันเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทุกคนที่ประสบอันตราย ทุพพลภาพ สูญหายหรือตาย อันเนื่องมาจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง หรือเจ็บป่วยเป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดจากการทำงาน


ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ 083-907 2032 หรือ นางสาวปรีดา ทองชุมนุม ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 089 459 0212