ใบแจ้งข่าว ความคืบหน้า “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. …. “

เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา๐๙.๓๐ น. – ๑๒.๓๐ น. คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. …. ณ อาคารรัฐสภา มีองค์กรทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม โดยมีคุณสุนี  ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน เป็นประธานในการประชุมฯ

การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เลขที่ คปก.๐๑/๕๓๔ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เรียกร้องให้มีการการออกร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เพราะยังขาดการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องและลักษณะของการบังคับใช้ของร่างกฎกระทรวงเป็นการควบคุมและจำกัดสิทธิทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างเท่าที่ควร มีการเปิดช่องให้ประเด็นที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตกอยู่ภายใต้การตกลงของลูกจ้างและนายจ้างเหมือนเดิม  ประกอบกับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว มีการปรับปรุงสาระสำคัญ ๒ ประการที่แตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (ฉบับเดิม) คือ ให้ร่างกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้แก่เรือที่มีลูกจ้างในงานประมงทะเลทุกประเภทและเรือประมงที่ดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป จึงเห็นสมควรที่จะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกร่างกฎกระทรวงอีกครั้ง

นอกจากนี้ที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. …ยังได้มีการหยิบยกประเด็นอื่นๆขึ้นพิจารณาด้วย ดังนี้

๑) ความจำเป็นของการกำหนด “ค่าจ้าง” ตามร่างกฎกระทรวงให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังไม่มีการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นว่าในปัจจุบันลูกจ้างในกิจการแรงงานประมงทะเลได้รับสิทธิในค่าตอบแทนอื่นๆตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้วหรือไม่ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นนี้ยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนว่าลูกจ้างในงานประมงทะเลควรได้รับสิทธิดังกล่าว อีกทั้งยังปรากฏว่านายจ้างบางรายไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแต่ละคนโดยตรง แต่จ่ายผ่านหัวหน้าคนงานซึ่งปฏิบัติงานในเรือลำเดียวกันกับลูกจ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดความเสี่ยงที่จะมีกลุ่มบุคคลวางตนเป็นนายหน้าเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ลูกจ้าง

๒) ความเหมาะสมในการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็กที่ทำงานในงานประมงทะเล

ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าการที่ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้เด็กที่ทำงานในเรือประมงทะเล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี เว้นแต่เด็กนั้นอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปีและบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นทำงานอยู่ในเรือประมงนั้น แต่ไม่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเตรียมความพร้อมและการรับรองสิทธิของเด็กในสภาวการณ์ที่เด็กต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายขัดต่อเจตนารมณ์การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่เด็กจะได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖และพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาILO ฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้และอนุสัญญาILO ฉบับที่ ๑๘๒ ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก แต่ในทางปฏิบัติพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ปรากฏการใช้แรงงานเด็กในงานประมงทะเลเกิดจากการที่เด็กต้องติดตามผู้ปกครองลงไปทำงานในเรือประมงทะเลด้วย และหลายกรณีเด็กเป็นบุคคลต่างด้าวที่ไม่สามารถยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าเพียงแต่กำหนดหลักเงื่อนไขในการจ้างแรงงานเด็กแต่ไม่มีมาตรการในการตรวจสอบอย่างบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ปัญหาการใช้แรงงานเด็กบนเรือประมงลดลงแต่อย่างใด

๓) ความเหมาะสมในการกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป จัดทำทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทยเก็บไว้ในสถานที่ทำงานของนายจ้าง และส่งสำเนาทะเบียนลูกจ้างให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เริ่มจ้างลูกจ้างเข้าทำงาน แม้จะมีการคัดค้านว่าลักษณะการจัดทำทะเบียนลูกจ้างไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานบนเรือประมงทะเลที่ลูกจ้างมักเปลี่ยนงานกะทันหัน ตกเป็นภาระแก่นายจ้างที่ต้องเก็บรักษาทะเบียนดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับแต่สิ้นสุดการจ้างลูกจ้างแต่ละราย แต่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าระบบการจัดทำทะเบียนยังคงจำเป็นต่อการประกันสิทธิเบื้องต้นของลูกจ้างที่ควรถูกระบุว่ามีตัวตนและมีสถานะเป็น “ลูกจ้าง”ของนายจ้าง อีกทั้งยังเป็นข้อมูลพื้นฐานที่นำไปสู่การติดตามตัวบุคคลนั้น ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงทะเลด้วย เพียงแต่ระบบการจัดทะเบียนลูกจ้างควรมีการปรับปรุงเพื่อสนองถึงหลักการข้างต้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

๔) ขณะนี้มีความพยายามในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมงทะเล นำโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ดูแลการดำเนินกิจการเรือประมงทะเลโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาระบบบริหารงานโดยคำนึงถึง ลูกจ้างในกิจการประมงทะเล เป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นจะจัดให้มีการตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมงทะเลจำนวน ๗ ศูนย์ ครอบคุลมพื้นที่ ๒๒ จังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเลของประเทศไทย

๕) ขอคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นของ ขอบเขตการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงในเรือประเภทต่างๆ การกำหนดนิยามของคำว่า ลูกจ้าง การเสนอให้ลดบทลงโทษนายจ้าง การกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง สิทธิในการได้รับค่าจ้างในวันหยุด สิทธิในการกำหนดวันลาของลูกจ้าง ฯลฯ อีกทั้ง ยังมีการเสนอให้นำ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งยกเลิกไปแล้ว เข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมควบคู่ด้วย

ในการนี้ คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะดำเนินการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดประชุม นำมาประกอบการนำเสนอและจัดทำเป็นบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะส่งต่อรัฐบาลต่อไป