แถลงการณ์ รัฐบาลไทยต้องมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์​ ปี 2557 (Trafficking in Person Report 2014 หรือ Tip report) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 (เวลาประเทศไทย) ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ ประเทศไทยถูกลดอันดับจากประเทศที่อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 อันเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุด    ในรายงานฉบับดังกล่าวเเสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์เเละเสนอข้อแนะนำบางประการให้ประเทศไทยพิจารณาเเละทบทวนเพื่อยกระดับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ใน 3 ประเด็น ได้แก่

1. ประเด็นการรณรงค์เเละป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในพันธกรณีระหว่างประเทศ คือ The 2000 UN TIP Protocol (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children, Supplementing the United Nations Convention Against Transnational Organized Crime) เเละจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงปัญหาเเละความสำคัญต่อการยุติการค้ามนุษย์

2. ประเด็นการคุ้มครองสวัสดิภาพเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยในเบื้องต้นพบว่ายังไม่สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพเเละให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างทั่วถึงได้  อีกทั้งยังพบความบกพร่องเเละความขัดเเย้งของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการคัดเเยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อีกด้วย

3. ประเด็นกระบวนการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะภาครัฐที่ถูกมองว่ายังไม่มีความพยายามที่มากพอในการใช้มาตรการทางกฎหมายเเละมาตรการทางนโยบายอย่างบูรณาการในการป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่าวคือ

3.1 ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพทั้งในหน่วยงานด้านการยุติธรรม หน่วยงานที่มีบทบาทในการป้องกันเเละเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

3.2 ปัญหาการทุจริตหรือเรียกรับประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ

3.3ปัญหาการส่งต่อข้อมูลและพยานหลักฐานระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเสี่ยงต่อการเกิดความล้มเหลวและล่าช้าไม่ตอบสนองนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นภารกิจหลัก

3.4ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดในกรณีกลุ่มโรฮิงญา เเต่กลับปรากฎว่ามีการฟ้องคดีโดยกองทัพเรือในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อสื่อมวลชนที่นำเสนอเรื่องดังกล่าว

การจัดลำดับและการออกรายงานดังกล่าวของทางการสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหลายประการ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจกลุ่มกิจการประมงทะเลเเละอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งปรากฎว่ามีการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในลักษณะเเรงงานขัดหนี้เเละแรงงานทาส  มีสภาพการทำงานที่เลวร้าย และแรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  โดยสินค้าจากกิจการดังกล่าวได้ส่งไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป และเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศไทยก็อาจถูกตั้งรังเกียจทางการค้าเเละการลงทุนรวม ทั้งประเทศไทยอาจถูกลดความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการลงทุนของนานาชาติต่อประเทศไทยอีกด้วย

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา (มสพ.) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเเละสนับสนุนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เเละผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ได้ตระหนักเเละได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเเละภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ตลอดมา ทั้ง มสพ.และองค์การภาคประชาสังคม ได้พยายามเสนอแนะและผลักดันให้ภาครัฐและภาคธุรกิจกำหนดนโยบายและมาตรการที่ได้ผลในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งนอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องแล้ว ยังสามารถหลีกเลี่ยงมิให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นที่รังเกียจทางการค้าด้วย แต่ข้อเสนอแนะต่างๆของ มสพ.และภาคประชาสังคมไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ดังนั้น ในสภาวะที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 โดยทางการสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มสพ. จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะต่อทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.รัฐต้องกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นนโยบายแห่งชาติที่จะต้องระดมทรัพยากรและภาคส่วนต่างๆมาร่วมกันแก้ปัญหา โดยจะต้องกำหนดแผนงานการป้องกัน ปราบปรามการค้ามนุษย์เเละคุ้มครองสวัดิภาพของเหยื่อหรือผู้เสียหายอย่างบูรณาการร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เเละผู้ประกอบการในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกิจการประมงทะเล เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแผนงานควรกำหนดให้สามารถเข้าใจได้ง่ายเเเละสามารถปฏิบัติอย่างได้ผลภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเรื่องข้อจำกัดของบุคลากร งบประมาณรวมทั้งต้องสนับสนุนให้การปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพสามารถช่วยเหลือเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้จริงจัง ทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพของทีมสหวิชาชีพไปในคราวเดียวกัน

2.รัฐจะต้องกำหนดให้แรงงานในเรือประมงเป็นแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งในเรื่องการขึ้นทะเบียนเพื่อรองรับการเป็นลูกจ้าง ค่าจ้าง สภาพแวดล้อมในการทำงานและสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเมื่อแรงงานประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานเเละกำหนดให้การใช้แรงงานเด็กในกิจการประมงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

3.รัฐและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทะเลเเละอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องร่วมมือกันปราบปรามการจ้างแรงงานที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์อย่างยิ่ง  โดยเน้นการลงโทษนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่กระทำผิด ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ เป็นต้น จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และปราบปรามการทุจริตของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง

4.รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมกิจการประมง ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล ด้วยการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย  ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้  โดย นายท้ายเรือกลเดินทะเล (ไต้ก๋ง) และคนใช้เครื่องจักรยนต์ต้องผ่านการฝึกอบรมและได้รับใบอนุญาต จัดระบบควบคุมคุณธรรมและส่งเสริมความสามารถ รวมทั้งการจัดทำประวัติบุคคลดังกล่าวเเละเจ้าของเรือประมงเพื่อประโยชน์ในการป้องปรามอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ และส่งเสริมกิจการประมง

5.ควรทบทวนประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ นอกจากพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยเพิ่มมุมมองการบังคับใช้กฎหมายอย่างรอบด้านบนพื้นฐานของการคุ้มครองเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เเต่ละประเภท ควบคู่กับการเร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานประมงทะเลอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งควรมีระบบตรวจสอบเเละประเมินผล โดยเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐเเละเอกชนเป็นผู้ประเมิน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการประสานงานที่ดี   การปฏิบัติงานทั้งหมดควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ความสุจริตในการปฏิบัติงาน การคุ้มครองกลุ่มเสี่ยงเเละการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

6.ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ เอกชนและประชาสังมในการปฏิบัติงานร่วมกัน  รวมทั้งในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐไปพร้อมๆกับองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในประเด็นการรณรงค์ การจัดกิจกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เหยื่อหรือผู้เสียหาย โดยสร้างเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังแต่ต่อต้านการค้ามนุษย์

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

24 มิถุนายน 2557

—————————————————————————————– 

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

นางสาวณัฐรัตน์ อรุณมหารัตน์ ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา โทร 092 – 6690417

นายปภพ เสียมหาญ ผู้ประสานงานฝ่ายคดี โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา โทร 094 – 5485306