หนังสือเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

หนังสือเปิดผนึก

วันที่ 29 สิงหาคม 2567

เรียน     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เรื่อง      การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 

วันที่ 24 สิงหาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจเยี่ยม ร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมด่านพรมแดนถาวรบ้านริมเมย สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 1 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ข้อมูลจากผลการดำเนินการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา64) ว่ามีความห่วงใยในประเด็นบัตรผ่านแดน 2 ประเภท คือ บัตรผ่านแดน และ บัตรผ่านแดนชั่วคราว โดยจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาพื้นที่ชายแดน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ เยี่ยมญาติ การท่องเที่ยว ราชการ ธุรกิจ การกีฬา การทำงานแบบไปกลับหรือแบบฤดูกาล และได้ขอให้แต่ละบริษัทผู้ประกอบการ มีความรัดกุมเรื่องการจ้างงานประเภทอาชีพต้องห้ามที่สงวนไว้สำหรับคนไทย รวมถึงจะต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจ 6 โรคต้องห้าม ได้แก่ โรคซิฟิลิส วัณโรค โรคพิษสุราเรื้อรัง สารเสพติด โรคเท้าช้าง และโรคเรื้อน พร้อมทั้งต้องมีหลักประกันคุ้มครองด้านสุขภาพให้ครอบคลุม  รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องของการค้าชายแดนและการเตรียมพร้อมด้านแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่าการที่รัฐมนตรีว่า   การกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน  เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมด่านพรมแดนถาวรบ้านริมเมย สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 1 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เล็งเห็นถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่สถานการณ์ต่อเนื่องการระบาดของโรคโควิด-19  รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเมียนมาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานชายแดน หรือ กลุ่มจ้างงานชายแดนตาม ม.64 ของพรก.การบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พิจารณาจำนวนแรงงานก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนแรงงานก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่จ้างงานในมาตรา 64 ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2562 มีจำนวนถึง 21,078 คน หลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่สิ้นสุดการผ่อนผันตามมติ ครม. ข้อมูล ณ วันที่ 25 กันยายน 2565 มีจำนวน 7,594 คน และปัจจุบัน ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 จำนวน 4,604 คน จะเห็นได้ว่าจำนวนแรงงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากประเทศเมียนมามีสถานการณ์การรัฐประหาร และไม่ออกเอกสารหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (มาตรา 64) ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่ออัตรากำลังแรงงานในพื้นที่ชายแเดน  

อีกทั้งการขึ้นทะเบียนแรงงานตามกลุ่มมติคณะรัฐมนตรี มีระยะเวลาที่จำกัด และระบบการขั้นทะเบียนออนไลน์ที่ทำให้มีการเข้าถึงยากบวกกับระยะเวลาที่สั้น ทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ตามกรอบระยะเวลา  ประกอบกับการทำเอกสารรับรองตัวบุคคล (Certificate of Identity : CI) และการบริหารจัดการศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ที่ปฎิเสธการออกเอกสาร และมีการปิดศูนย์ฯ ทั้ง 6 แห่งก่อนกำหนด ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการ โดยเป็นที่น่ากังวลใจต่อกลุ่มแรงงานมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 2 ล้านคน ที่จะหมดอายุในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568และยังขาดความชัดเจนในการต่อใบอนุญาตทำงาน

          ข้อท้าทายการปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จนั้น ชี้ให้เห็นว่าศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จจังหวัดสมุทรสาครที่เหลือเพียงแห่งเดียวจะต้องเร่งการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) โดยจำนวนแรงงานเมียนมาตามมติคณะรัฐมนตรี 5 ตุลาคม 2566 ที่ต้องดำเนินการจัดทำเอกสารทั้งหมด 676,515 คน แรงงานที่ได้ดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองตัวบุคคล (Certificate of Identity : CI) ผ่านศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จแล้วเสร็จ ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2567 จำนวน 394,721 คน  ยังมีแรงงานที่จะต้องดำเนินการจำนวน 281,794 คน ที่ศูนย์ฯสมุทรสาครโดยจะต้องเร่งการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (CI) ภายในระยะเวลาเดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม 2567 เฉลี่ยวันละประมาณ 3,567 คนต่อจำนวนแรงงานที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งหากประเมินจากอัตรากำลังที่ศูนย์ฯสมุทรสาครได้ให้บริการ  23 กุมภาพันธ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2567 จำนวน 72,605 คน อัตราเฉลี่ยที่วันละประมาณ 554 คน เป็นข้อท้าทายที่จะดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567

ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม คือ การที่แรงงานหลุดออกจากระบบ เป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการแรงงานจำนวนประมาณ 2 ล้านคนที่กำลังจะหมดอายุ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และการขาดแคลนจำนวนแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ ในสถานการณ์การขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการด้านเอกสารแรงงานของประเทศเมียนมาที่ทำให้แรงงานมีกังวลและกลัว ที่จะกระทบต่อครอบครัวทางฝั่งประเทศต้นทางและไม่สามารถกลับมาทำงาน เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้มีการละเมิดด้านคุ้มครองสิทธิของแรงงาน และอาจทำให้มีแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น การถูกเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ การถูกแสวงประโยชน์โดยขบวนการนายหน้า และกระบวนการการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ เปิดช่องว่างให้ระบบการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบกลไกเอกสารการคุ้มครอง 

ปัญหาและผลกระทบของการขาดการจัดระบบและเสถียรภาพของประเทศต้นทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้

  1. พิจารณาผ่อนผันแรงงานกลุ่มคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะหมดอายุ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ให้มีการต่ออายุใบอนุญาตทำงานโดยบริหารจัดการฝ่ายเดียวก่อนในช่วงที่ประเทศต้นทางยังมีความไม่สงบ และขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการด้านเอกสารแรงงาน  โดยให้มีการเปิดศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)
  2. พิจารณาผ่อนผันแรงงาน กลุ่มจ้างงานชายแดนที่มีเอกสารหนังสือผ่านแดนเล่มเดิมที่อาจจะหมดอายุแล้ว ขอมติคณะรัฐมนตรี ให้มีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน 1 ปีก่อน โดยบริหารจัดการฝ่ายเดียวก่อน
  3. พิจารณายกเว้นการใช้หนังสือเดินทาง/เอกสารรับรองตัวบุคคล (Certificate of Identity : CI) เนื่องจากข้อจำกัดของประเทศต้นทาง  โดยให้มีการจัดทำเอกสารจากประเทศไทยฝั่งเดียว และความจำเป็นที่ต้องให้ใช้บัตรชมพูเป็นหลักในการบริหารจัดการแรงงานที่อยู่ในระบบจำนวนประมาณ 2 ล้านคน และกลุ่มที่กำลังจะพิจารณาให้มีการขึ้นทะเบียนใหม่ กรณีการบริหารจัดการด้วยบัตรชมพูเป็นหลัก ประเทศไทยเคยมีการจัดการมาแล้วในปี 2558 โดยมีการพิจารณาประกอบตามบริบททางการเมือง คือ การที่ให้ประเทศเมียนมาเริ่มกลับเข้าสู่การฟื้นตัวทางเมือง ก่อนที่รัฐบาลไทยจะมีการประสานให้รัฐบาลเมียนมาเข้ามาจัดการเรื่องกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและจัดทำเอกสารรับรองตัวบุคคล (Certificate of Identity : CI) ในปี 2561
  4. พิจารณาเร่งให้มีการติดตามการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ยังไม่ได้เสนอเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

อดิศร เกิดมงคล

ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

Download:
PDF
Word