ใบแจ้งข่าว: แรงงานข้ามชาติ ชาวเมียนมา 26 คน ตกลงรับเงิน 1,039,365.09 บาท ภายหลังศาลแรงงานภาค 6 นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีพนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง จำนวน 3,483,088.14 บาท


เผยแพร่วันที่ 29 มีนาคม 2564

ใบแจ้งข่าว
แรงงานข้ามชาติ ชาวเมียนมา 26 คน ตกลงรับเงิน 1,039,365.09 บาท ภายหลังศาลแรงงานภาค 6
นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีพนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง จำนวน 3,483,088.14 บาท

   เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ศาลแรงงานภาค 6 (ศาลจังหวัดแม่สอด) ได้กำหนดนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างที่มีการพิจารณาคดี ในคดีที่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา จำนวน 26 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางกัลยาณี เรืองฤทธิ์ นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ที่ 23/2562 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 จำนวน 3,483,088.14 บาท (สามล้านสี่แสนแปดหมื่นสามพันแปดสิบแปดบาทสิบห้าสตางค์) และลูกจ้างตกลงรับเงิน 1,039,365.08 ระหว่างที่มีการไกล่เกลี่ยกับนายจ้าง

ที่มาของคดีนี้ สืบเนื่องจาก

• เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ได้มีชุดตรวจสถานประกอบกิจการจากกรุงเทพมหานคร เข้าตรวจโรงงานของนายจ้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับแบรนด์ของต่างประเทศ ได้แก่ STARBUCK ,TESCO,DISNEY,UNIVERSAL โดยชุดตรวจสอบพบว่านายจ้างไม่ปฎิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงงาน
• 15 ตุลาคม 2562 แรงงานข้ามชาติ จำนวน 26 คน ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ว่า นางกัลยาณี เรืองฤทธิ์ นายจ้าง ค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างในวันหยุดประเพณี ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์และพวกรวม
• 24 ธันวาคม 2562 พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตากมีคำสั่งที่ 23/2562 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ให้นางกัลยาณี เรืองฤทธิ์ นายจ้าง จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างในวันหยุดประเพณี ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างจำนวน 26 คน รวมเงินทั้งสิ้น 3,483,088.14 บาท (สามล้านสี่แสนแปดหมื่นสามพันแปดสิบแปดบาทสิบห้าสตางค์)
• นายจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานตรวจ เลขที่ 23/2562 จึงได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง แต่นายจ้างไม่ได้วางเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงาน ทำให้ศาลแรงงานมีคำสั่งยกฟ้องของนายจ้าง
• 31 สิงหาคม 2563 แรงงานข้ามชาติ ทั้ง 26 คน โดยการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลินิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานภาค 6 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ศาลแรงงานได้กำหนดให้มีการเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ย โดยนายจ้างตกลงจ่ายเงินจำนวน 1,039,365.09 บาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์ ของยอดตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
• ในชั้นไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานนั้น สาเหตุที่ลูกจ้างยินยอมรับเงินจากนายจ้างในจำนวนที่ต่ำกว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เนื่องมากจากบรรยากาศในการไกล่เกลี่ยมีการหยิบยกประเด็นโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบนายจ้างทางด้านเศรษฐกิจ และกระบวนการยุติธรรมหากต่อสู้ต้องใช้ระยะเวลานาน สร้างภาระแก่ลูกจ้าง และลูกจ้างยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ จึงต้องรับเงินขั้นต่ำนับเพียง 30% ของจำนวนเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
• อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการรณรงค์เรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้าง ร่วมกันรับผิดต่อแรงงานที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานของตน ปรากฏว่า
o วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ตัวแทนของบริษัท เทสโก้ ได้จ่ายเงินให้กับคนงาน รวมทั้งสิ้น 736,000 บาท
o วันที่ 20 ธันวาคม 2563 ทาง Starbucks ได้จ่ายเงินให้กับคนงาน รวมทั้งสิ้น 600,000 บาท
o วันที่ 20 ธันวาคม 2563 บริษัท The Walt Disney ได้จ่ายเงินให้กับคนงาน รวมทั้งสิ้น 600,000 บาท
o NBCUniversal ตกลงยอมตกลงจ่ายเงินที่เหลือจำนวน 489,1896 บาท ให้แรงงาน โดยมีการนัดหมายการจ่ายเงินให้กับคนงานในวันที่ 28 มีนาคม 2564

นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) พบว่าแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอดและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ทำอยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงาน หรือโรงงานต่างๆที่เป็นงานประจำ ไม่ใช่งานชั่วคราวหรืองานตามฤดูกาล ได้ถูกจ้างเข้ามาตามมาตรา 64 ของพรก.บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบระยะสั้น 3 เดือน ทำให้แรงงานข้ามชาติตกอยู่ในสถานะที่เป็นกลุ่มเปราะบางจากการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงานเช่น ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขาดสวสัดิการและขาดความมั่นคงในการทำงาน เนื่องจากมีการทำสัญญาจ้างคราวละ 3 เดือน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างได้โดยง่ายและขาดอำนาจต่อรอง เมื่อลูกจ้างมีการรวมกลุ่มกันยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองกับนายจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทย นายจ้างจะไม่ต่อสัญญาจ้างให้ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายสมชาย ยังพบว่า แรงงงานข้ามชาติ ที่มีการจ้างงานตามมาตรา 64 ของพรก.ฯ ยังเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ทั้งๆที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวและสำนักงานประกันสังคม มีอำนาจที่จะตรวจสอบนายจ้างหรือสถานประกอบกิจการและสั่งให้นายจ้างจะต้องนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนได้ ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลได้โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทบทวนกระบวนการการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในรูปแบบการจ้างงานตามมาตรา 64 ของพรก.บริหารจัดการฯ การดำเนินการอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลไทยในการเข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 และการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ และเรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้างกำหนดกรอบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact Network)


รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ นางสาวจิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ ที่ 089 273 4711