ใบแจ้งข่าว: แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ยื่นฟ้องศาลปกครองปกครอง กรณี โครงการเยียวยา “ม.33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตราสารระหว่างประเทศ

27 พฤษภาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ยื่นฟ้องศาลปกครองปกครอง กรณี โครงการเยียวยา

“ม.33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตราสารระหว่างประเทศ

วันนี้ (27 พฤษภาคม) ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ และผู้ไร้สัญชาติ ในฐานะผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจทางปกครอง ยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง คณะกรรมาการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ในฐานะหน่วยงานทางปกครองมีการกระทำที่ละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือคำสั่งทางปกครอง โดยการออกโครงการ ม.33 เรารักกัน ซึ่งเป็นแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การอนุมัติ โครงการ ม.33 เรารักกัน นั้นเป็นไปเพื่อให้การช่วยเหลือ เยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบของผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีการอนุมัติงบประมาณ 37,100 ล้านบาท และ 48,841 ล้านบาท ให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 กว่า แปดล้านคน ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนที่มีสัญชาติ เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ประกันตนที่เข้าถึงเงินเยียวยาตามโครงการดังกล่าวได้ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น

ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานที่ไร้สัญชาติ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการทำร่วมกันของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าที่ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติโครงการ ม.33 เรารักกัน ปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 ล้านคน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย มีการจ่ายเงินสมทบรวมกันแล้วเป็นเงินจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่แรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยกลับไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในโครงการฯ อย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกำหนดเงื่อนไขของโครงการเป็นการกระทำที่เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่  ต่อมา วันที่ 15 กันยายน 2564  ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยว่าการกำหนดเงื่อนไขการเยียวยาในโครงการ “ม.33 เรารักกัน”  ให้เฉพาะแก่ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยเท่านั้นไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 เพราะบทบัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://hrdfoundation.org/?p=2642 )

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ผู้แทนแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ( http://hrdfoundation.org/?p=2676&lang=en ) และวันที่ 11 มกราคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งมายังผู้ร้องว่าโครงการ ม.33 เรารักกันเป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีกรณีความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ดังนั้นแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติจึงได้เดินทางมายังศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาว่า การกระทำร่วมกันของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า คือ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน การะทรวงการคลัง คณะกรรมาการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 หรือไม่ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ร่วมกันดำเนินการยกเลิกคุณสมบัติของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในส่วนที่กำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ออกจาก “โครงการม.33 เรารักกัน” และให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์ตามโครงการ ม.33 เรารักกันด้วย โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้มีประชาชนทั่วไปได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นจำนวน 2,198 ราย

นางสาวปสุตา ชื้นขจร ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า การมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ นับเป็นการใช้สิทธิการเข้าถึงกลไกของฝ่ายตุลาการเป็นหน่วยงานสุดท้าย จึงขอเรียกร้องให้ ศาลปกครอง ที่มีอำนาจอิสระ ตามแบบแม่บทประชาธิปไตย ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้สร้างบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) เพียงองค์กรเดียว

———————————————————————————–

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ปสุตา  ชื้นขจร  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 0815957578

Email: [email protected]