จดหมายเปิดผนึก: ท่าทีและข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

11 มีนาคม 2567

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง ท่าทีและข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เรียน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

สำเนาถึง

นายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 รับทราบการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 (พ.ศ. 2568-2670) ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2567 โดยในกระบวนการสมัครนั้นตามข้อมติสหประชาชาติที่ 60/251 ไทยจัดทำเอกสาร คำมั่นโดยสมัครใจที่จะดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ

คำมั่นโดยสมัครใจของไทยจำนวน 10 ข้อ พบว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน อยู่หลายกรณี เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน คือ อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families : ICRMW) การพัฒนาแก้ไข กฎหมาย หรือนโยบายให้มีความสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี การปฏิบัติตามข้อแนะนำของ สมาชิกองค์การสหประชาชาติในกระบวนการจัดทำรายงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ตามกระบวนการพิเศษ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review : UPR) การ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในระยะที่ 2 ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย ยังมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติและครอบครัว อาทิ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยในปัจจุบันยังคงปิดกั้นเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการสมาคม โดยไม่อนุญาตให้แรงงานข้าม ชาติมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม อันไม่สอดคล้องต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม. (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ความพยายามในการ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานประมงจะเผชิญกับความเสี่ยงของการเป็นแรงงานบังคับมากขึ้น การให้มีเด็กเข้าสู่กระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมที่มีอันตราย เช่นในอุตสาหกรรมประมง การเลือกปฏิบัติด้านการเข้าถึงด้าน สิทธิประโยชน์ทางสังคมของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านและภาคเกษตร และความไม่ชัดเจนด้านการคุ้มครองผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดย เฉพาะที่ประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่สงบทางการเมืองทำให้มีนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ได้รับผลกระทบทางการขัดแย้งต้อง หนีเข้ามายังชายแดนไทยและมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองและการบังคับส่งกลับโดยไม่สมัครใจ อันขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานฯ ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ดังนั้นแนวทางการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในภาวะสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเครื่องชี้วัดความความตั้งใจในการจะปกป้องคุ้มครองและการยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และความเชื่อมั่นของประชาคมโลกต่อการที่ประเทศไทยจะมีความเหมาะสมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และภาคีภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการพัฒนามาตรการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยดังนี้

  1. พิจารณารับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย ได้แก่ การให้การรับรองอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว, อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย, อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกัน และเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้รองรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย
  2. ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มียุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การมีแผนรองรับผลกระทบสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า
  3. พิจารณาดำเนินการทบทวนกลไกการคัดกรองบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงยังพบปัญหาเชิงข้อกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการได้รับการคุ้มครองจากประเทศไทยต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองก่อนซึ่งถือว่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อยู่ในสภาวะเปราะบางซ้ำซ้อน รวมถึงการพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อบริหารจัดการและกำหนดสถานะให้แก่ผู้ลี้ภัยและแสวงหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ
  4. จัดทำกลไกการคัดกรองก่อนการผลักดันส่งกลับผู้อพยพที่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและภัยการประหัตหารหากกลับประเทศต้นทาง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพไปเผชิญภัยอันตรายต่อตนเองในประเทศต้นทาง

ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก และการสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนกับประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการเคารพหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ว่าประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม และเป็นหลักประกันสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และประชาชนไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ [email protected]