เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เข้าพบรัฐมนตรีแรงงาน เพื่อหารือและเสนอแนะต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562
|
26 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และข้าราชการที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG ) นำโดย อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน MWG และตัวแทนผู้ประกอบการด้านประมง เพื่อร่วมพูดคุยและรับฟังข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์การด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ทั้งนี้ภาคเครือข่ายได้เน้นประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ที่ควรคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ . พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนการการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization :ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ.1947 ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ล่าสุด 21 มีนาคม 2567 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบด้วยคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน อาทิ ฝ่ายข้าราชการ องค์การระหว่างประเทศ ฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สัตยาบั ในอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนการดำเนินการเพื่อพิจารณาขั้นที่ 1 และผลการออกเสียงของคระกรรมการฯ นั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ แต่ทั้งนี้จะต้องมีกระบวนการดำเนินการต่อเพื่อปรับแก้หรือทำให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่
นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้มอบเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในกลุ่มงานประมง โดยมีข้อกังวลอ้างอิงจากข้อมูลการทำงานของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งปัญหาที่ค้นพบต่อแรงงานประมงที่สำคัญ ได้แก่ การยึดเอกสารประจำตัวแรงงาน, ระบบประกันสุขภาพ, การบังคับใช้แรงงาน, การค้ามนุษย์, ล่ามตรวจแรงงาน, นายหน้าแรงงาน ฯลฯ นอกจากนี้ทางฝ่ายภาคธุรกิจผู้ประกอบการสะท้อนประเด็นปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาเรื่องการจัดทำเอกสารแทนหนังสือเดินทาง (CI) ของศูนย์จัดทำ CI ที่ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ นายจ้างและแรงงานข้ามชาติเกิดภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร และมีสามารถตรวจสอบความโปร่งใสของระบบการดำเนินการนี้ได้ ซึ่งทางเครือข่ายเสนอว่าให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขประกาสกฎกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานให้ยกเว้นการตรวจลงวีซ่าของแรงงานข้ามชาติ ตาม มติ 3 ตุลาคม 2566 ไปก่อนจนถึง 13 กุมภาพันธ์ 2568
สุดท้ายนี้ ทางเครือข่ายฯได้เสนอให้เกิดการตั้งคณะทำงานระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐเพื่อทำการศึกษา จัดทำแนวทางแก้ไข และบริหารแรงงานข้ามชาติ ตามข้อเสนอปัญหาข้างต้น เพื่อที่จะดำเนินการรองรับความต้องการแรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย