ข้อเสนอทางนโยบายในพื้นที่ชายแดนแม่สอด ภายหลังจากมีการลงพื้นที่วันที่ 12-14 พฤษภาคม 2567

 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567

เรียน      ประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

เรื่อง      ข้อเสนอทางนโยบายในพื้นที่ชายแดนแม่สอด ภายหลังจากมีการลงพื้นที่วันที่ 12-14 พฤษภาคม 2567

            สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองจากประเทศต้นทาง ส่งผลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ในฐานนะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนทางธรรมชาติติดกับประเทศเมียนมายาวที่สุด ผลกระทบดังกล่าว กระทบทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดน ในประเด็น การจ้างงาน แรงงานเด็ก การป้องกันผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ ดังนั้นแล้ว การศึกษาของประชาการผู้ติดตามของประชากรเคลื่อนย้าย และ การจ้างงาน เพื่อตอบสนองโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงเป็นประเด็นที่สำคัญ อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยหากมีการจัดการที่เหมาะสม 

จากจำนวนผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติและผู้ติดตาม ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงอันเนื่องมาจากสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีเด็กข้ามชาติจำนวนมากเดินทางหลบหนีภัยต่อชีวิตเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เด็กกลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสถานศึกษาของทางโรงเรียนรัฐบาล และ การเข้าถึงการศึกษาของศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายการศึกษาถ้วนหน้าที่จะให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2548 ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว สพป.ตาก เขต 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ระบุว่า มีศูนย์การเรียนรู้พลัดถิ่นทั้งหมด 64 แห่งกระจายอยู่ทั่วจังหวัดตาก ดำเนินการให้การศึกษาแก่นักเรียนพลัดถิ่นจำนวนกว่า 15,139 คน และยังพบว่าแม้เกิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติที่จัดตั้งกันขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ  สพป.ตาก เขต 2 ที่ทั้งเสี่ยงต่อการถูกปิด แต่ไม่เพียงพอต่อจำนวนบุตรหลานของประชากรข้ามชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองและเด็กเคลื่อนย้ายต้องหาโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการมีงานและหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยการหาช่องทางลักลอบเดินทางไปพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย และเสี่ยงต่อถูกหลอกและตกเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์ การปฏิเสธรับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไทย จากทั้งประกาศเขตพื้นที่การศึกษาในการคัดกรองเด็กเข้าเรียน และความขาดแคลนทรัพยากรทั้งอาคารและครูผู้สอนของโรงเรียนรัฐเอง ทำให้มีเด็กจำนวนมากตกหล่นจากระบบการศึกษา รวมถึงในบางโรงเรียนมีการเรียกรับผลประโยชน์และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแลกกับการรับเด็กเข้าเรียน สถานการณ์ในพื้นที่พบว่ามีจำนวนแรงงานเด็กที่เพิ่มมากขึ้น และการเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวรวมกับผู้อพยพ เพื่อเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันการเรียนการสอนยังไม่อนุญาตให้มีการศึกษาภาษาไทย 

การจ้างงานชายแดน สถานการณ์การรัฐประหารในประเทศเมียนมา และความรุนแรงด้านการสู้รบในพื้นที่ชายแดน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการออกเอกสารการผ่านแดน มาตรา 64 ที่ทางการเมียนมาไม่มีการออกเอกสารต้นทางอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลในเดือนเมษายน 2567 จำนวนแรงงานที่จ้างงานในมาตรา 64 จำนวน 5,033 คน ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขตามจำนวนกำลังแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด ซึ่งมีจำนวนที่ต้องการจ้างเพิ่มถึง 15,000-20,000 คน จำนวนแรงงานที่จ้างงานในมาตรา 64 ก่อนสถานการณ์โควิด 19 ข้อมูล ณ.วันที่ 25 มกราคม 2562 มีจำนวนถึง 21,078 คนหากพิจารณาแล้วจะเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19  

ล่าสุดรัฐบาลเมียนมา ประกาศให้มีดำเนินการทำเอกสารการเก็บอัตลักษณ์ หรือ Unique Identification Number หรือ Unique Identification Card (UID) เป็นเอกสารที่จะต้องใช้คู่กับการข้ามแดนซึ่ง รวมถึงเอกสารหนังสือผ่านแดน มาตรา 64 และบัตรผ่านแดนชั่วคราว 7 วัน โดยแรงงานมาตรา 64 ที่ต้องเดินทางเข้า-ออก จะต้องดำเนินการทำเอกสารการเก็บอัตลักษณ์เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาจจะกระทบต่อการออกเอกสารหนังสือผ่านแดน มาตรา 64 และ การข้ามแดนของแรงงาน ที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานได้ 

ข้อเท็จจริงที่พบในพื้นที่ คือการมีการใช้เอกสารประเภทที่ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นลักษณะเอกสารที่มีการจ่ายสินบน เพื่อแลกกับเอกสารหรือการคุ้มครองในพื้นที่ เพื่อให้อยู่ทำงาน โดยพบมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม  ทั้งนี้เนื่องมากจากไม่มีการจัดการนโยบายที่ตรงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดช่องว่างและเพิ่มการคอรัปชั่นในพื้นที่

ข้อเสนอ 

  1. พิจารณาให้มีการเปิดโอกาสการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน (12 ปี) ให้กลุ่มเด็กเคลื่อนย้ายทุกคน ในทุกรูปแบบที่เหมาะสมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทุกสถานศึกษา ทุกสังกัด ตามนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน และนโยบายเรียนฟรี 15 ปี 
    1.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    1.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
    1.3 กรมส่งเสริมการเรียนรู้
    1.4 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
    1.5 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
    1.6 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
  2. พิจารณาการขึ้นทะเบียนชั่วคราว ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ Migrant Learning Center ที่ยังไม่ได้มีการจดแจ้ง ตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ที่จัดทำโดยศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว สพป.ตาก เขต 2 รวมถึงขั้นตอนการกำกับควบคุม
  3. พิจารณาการเปิดห้องเรียนสาขาที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและศูนย์การเรียน เพื่อรองรับสถานการณ์เบื้องต้น รวมถึงให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย และ จัดให้พื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่นำร้อง Buffer Zone ทางการศึกษาให้กลุ่มเด็กเคลื่อนย้าย 
  4. พิจารณากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักต่อกลุ่มเด็กเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและเป็นไปตามหลักสิทธิเด็ก
    4.1 ทำการสำรวจสถานการณ์และจำนวนเด็กในสถานที่พักชั่วคราวรูปแบบต่างๆ
    4.2 จัดทำแผนการคุ้มครองและประสานการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ให้แก่เด็กตามความเหมาะสมแต่ละ กลุ่ม โดยเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เฉพาะ เช่นเด็กกำพร้า เด็กพลัดหลงจากผู้ปกครอง และเด็กพิการ เป็นต้น
  5. พิจารณาให้มีการอนุญาตสอนภาษาไทยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งนี้ ระยะสั้นอาจจะพิจารณา เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันเบื้องต้น 
  6. กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหนังสือสั่งการย้ำให้ทุกโรงเรียนจะต้องรับนักเรียนทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือสถานะทางกฎหมายแบบใดเข้าเรียนตามระเบียบและประกาศกระทรวงศึกษาที่เกี่ยวข้อง
  7. พิจารณาเสนอขอมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาเอกสารที่ทางอธิบดีกำหนดเพื่อใช้แทนหนังสือผ่านแดนชั่วคราว มาตรา 64 ในระหว่างที่ประเทศต้นทางยังไม่สามารถออกเอกสารหนังสือผ่านแดนชั่วคราว มาตรา 64 เสนอให้มีการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ  เพื่อขออนุญาตทำงาน  โดยมีระยะเวลาการอนุญาต 1 ปี 
  8. พิจารณาทำการศึกษา และแผนการแก้ไขการจ้างงานชายแดน เพื่อแผนการรับมือในระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถหารือเพื่อยกระดับเป็นการแก้ไขข้อตกลงการข้ามแดนกับประเทศต้นทาง
  9. พิจารณาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในที่นี้แยกกับกลุ่มผู้ที่หนีภัยทางการเมือง ที่ควรจะมีการพิจารณาเรื่องการคัดกรองและออกเอกสารให้ประชากรกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถลี้ภัยไปประเทศที่สาม หรือกลับประเทศต้นทางอันเนื่องมาจากความปลอดภัยที่ถึงแก่ชีวิตได้ โดยให้เอกสารมีอายุ 1 ปี และพิจารณาต่อจนกว่าสถานการณ์ประเทศต้นทางจะทุเลา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อแรงงานข้ามชาติ


รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ:
คุณอดิศร เกิดมงคล โทรศัพท์ 089-788 7138 อีเมล [email protected]
คุณศิราพร แก้วสมบัติ โทรศัพท์ 081-280 1008 อีเมล [email protected]  
คุณรวีพร ดอกไม้ โทรศัพท์ 082-901 5357 อีเมล [email protected]