โครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย)โดย กระทรวงแรงงานร่วมกับ ILO ไทย ลาว และกัมพูชา
|
จัดประชุมครั้งแรก! โครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย)โดย กระทรวงแรงงานร่วมกับ ILO ไทย ลาว และกัมพูชา
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 -16.30 น. ที่ ห้องดวงกมล ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ องค์การแรงงานระหว่างประเทศไทย (International Labour Organization : ILO) ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับพันธมิตรหลายองค์กรเพื่อหาแนวทางการทำงาน สร้างความเข้าใจ และผลลัพธ์ที่คาดหวัง ต่อโครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Advocacy For Rights) และต่อเนื่องในช่วงบ่าย ทางกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทย (ILO) ได้กำหนดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นการประชมุครั้งแรกตั้งแต่มีการประกาศแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนสิทธิแรงงาน ตามคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 573/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ซึ่งมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เป็นหนึ่งในตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการฯ
โครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Advocacy For Rights) เป็นโครงการที่กระทรวงแรงงานร่วมกับสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาชนลาว(ILO Country Office For Thailand, Cambodia and Lao PDR) และเป็นความร่วมมือทางวิชาการที่ได้รับงบประมาณการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 – กันยายน 2569
วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อต้องการยกระดับการรับรู้สิทธิของแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรและภาคผลิตนอกระบบ ทั้งในและนอกเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของไทย
แนวทางการดำเนินโครงการ เน้นการสร้างการรับรู้ของแรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพและเครือข่ายแรงงาน ผ่านการใช้ยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแรงงานทุกกลุ่มและประเด็นเพศสภาพ
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อให้โครงการฯ นี้ สามารถเข้าถึงกลุ่มคนชายขอบ เช่น ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้พิการ พร้อมทั้งส่งเสริมการรับฟังเสียงสะท้อนที่มีความหลากหลาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา
ในการประชุมครั้งแรกนี้ มสพ. ได้ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 องค์กร จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการทำงานเรื่องสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย