แถลงการณ์: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและเครือข่ายยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคัดค้านคำสั่งจังหวัดภูเก็ต เรื่องมาตรการควบคุมแรงงานประมงของเรือพาณิชย์ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
|
20 สิงหาคม 2564
แถลงการณ์
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและเครือข่าย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
คัดค้าน คำสั่งจังหวัดภูเก็ต เรื่องมาตรการควบคุมแรงงานประมงของเรือพาณิชย์ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ใช้อำนาจตามความ มาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ..2548 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวดภูเก็ต ตาม มติที่ประชุมติที่ประชุมครั้งที่ 48/2564 ลงนามใน คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 4623/2564 เรื่อง “มาตรการควบคุมแรงงานประมงของเรือพาณิชย์ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” ได้กำหนดมาตรการควบคุมแรงงานประมงของเรือประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่
- ห้ามแรงงานประมงเข้า-ออกท่าเทียบเรือที่ตนทำงาน เว้นแต่เดินทางไปเรือที่ทำงานหรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการประมง
- แรงงานประมงต้องอาศัยในเรือประมงหรือบริเวณท่าเทียบเรือที่ตนทำงานเท่านั้น
- แรงงานประมงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกกักตัวในเรือประมงที่ใช้เป็นเรือสนามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากพบผู้ติดเชื้อให้ใช้มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และให้มีผู้จัดการเรือประมง ในการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรการและคำสั่งจังหวัดภูเก็ต
- หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติคำสั่ง จะมีความผิดและต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 วรรคสอง (1) ยกเว้นสิทธิให้คู่กรณีได้ใช้สิทธิโต้แย้งแม้จะเป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจจะกระทบสิทธิของคู่กรณีโดยอ้างว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานประมงมา การสนับสนุนกิจกรรมด้านการบรรเทาทุกข์และการให้ความรู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อแรงงานและประชากรข้ามชาติในชุมชน เห็นว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใช้เรือประมงในการกักตัวผู้ที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงนั้น เรือประมงยังไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้สำหรับการกักตัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในเรือไม่สามารถจัดการให้ถูกสุขลักษณะสำหรับผู้ป่วยได้ เช่น ห้องน้ำ ที่พักนอน การเว้นระยะห่าง และการจัดการขยะ เป็นต้น อีกทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของแรงงานประมงนั้นยังขาดความชัดเจน และวิธีการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากแรงงานไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันในกรณีที่แรงงานติดเชื้อ อาจจะส่งผลกระทบต่ออาการป่วยที่ทวีความรุนแรงของแรงงานได้ นอกจากนี้ในการห้ามไม่ให้เรือจอดในท่า ทำให้มีความเสี่ยงที่แรงงานประมงจะต้องทำงานมากขึ้น มีเวลาพักผ่อนน้อยลง ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และอาจะถูกละเมิดสิทธิแรงงานได้ จากสถานการณ์และมาตรการที่เกิดขึ้นทางมูลนิธิฯ จึงมีข้อห่วงใยต่อคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 4623/2564 และมีข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการเร่งมือในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- แรงงานประมงควรมีสิทธิในการเคลื่อนย้าย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจจากการทำงาน ตามกรอบมาตรการอนุญาตให้มีการเดินทางได้เท่ากับประชากรที่อยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน
- กรณีที่พบว่า แรงงานบนเรือประมงพาณิชย์ลำใดเป็นกลุ่มเสี่ยง รัฐควรจัดสรรพื้นที่กักตัวในบริเวณท่าเรือ แทนการกักตัวบนเรือประมง โดยให้มีการคัดกรองแยกผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกจากกัน และมีระบบการจัดการที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้เห็นว่านโยบายการจัดทำ Bubble & seal ไม่มีรายละเอียดมาตรการการดูแล และเยียวยาคนงาน เช่นกรณีคนงานที่อยู่ในสถานประกอบการณ์ในโรงงานหรือแคมป์ก่อสร้าง
- การทำงานของแรงงานประมงมีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้งทำให้มีแนวโน้มเป็นกลุ่มเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดสรรวัคซีน เพื่อให้แรงงานได้เข้าถึงการป้องกันโรค
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีแนวปฏิบัติที่ยืนยันได้ว่าแรงงานประมงจะได้รับการดูแลและเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยป้องกันมิให้มีการอ้างเหตุของการระบาดของโรคมาลดทอนการจัดการคุ้มครองแรงงาน และเอื้อให้แรงงานเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล
——————————————————————————————————————–
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:
นายปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
โทรศัพท์ 094 548 5306 อีเมล [email protected]
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
โทรศัพท์ 089 788 7138 อีเมลล์ [email protected] , [email protected]