แถลงการณ์: ขอให้บังคับใช้กฎหมายประกันสังคม กับนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติในพื้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
|
เผยแพร่วันที่ 7 สิงหาคม 2563
แถลงการณ์
ขอให้บังคับใช้กฎหมายประกันสังคม
กับนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติในพื้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาได้ชุมนุม ที่บริเวนหน้าโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด เรียกร้องให้เปิดโรงงานหลังจากที่ต้องปิดเป็นเวลาร่วมสองเดือนเนื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 การปิดโรงงานทำให้แรงงานขาดรายได้ ไม่มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส1 โดยที่แรงงานเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาตามนโยบายของรัฐบาลและตามกฎหมาย
ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติให้พื้นที่อำเภอแม่สอดและใกล้เคียง จังหวัดตาก เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการใช้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) พบว่า การใช้แรงงานข้ามชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นั้น นายจ้างได้ถือโอกาสจ้างงานแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งอนุญาตให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานจากประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยรวมทั้งประเทศเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดนให้ทำงานเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาหรือตามฤดูกาลได้ แต่ในความเป็นจริงนายจ้างกลับจ้างแรงงานดังกล่าวสำหรับงานประจำต่อเนื่องระยะยาว มิใช่งานชั่วคราวหรืองานตามฤดูกาลแต่อย่างใด โดยทำสัญญาจ้างคราวละ 90 วันแต่ต่อสัญญาจ้างไปเรื่อยๆเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แรงงานได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้รับเงินค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างในกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากความจำเป็น และไม่ให้แรงงานเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายประกันสังคมเนื่องจากนายจ้างหลีกเลี่ยงไม่นำแรงงานเหล่านั้นเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตน ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 (https://news.ch7.com/detail/363343)
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งปรากฎข้อเท็จจริงชัดเจนมากขึ้นเมื่อสถานประกอบการหลายแห่งได้ปิดกิจการทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ทำให้ลูกจ้างทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างหรือไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว แม้รัฐบาลจะกำหนดนโยบายเยียวยาให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แต่แรงงานข้ามชาติพื้นที่อำเภอแม่สอดที่ถูกจ้างงานภายใต้มาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แม้ทำงานที่มีลักษณะประจำ งานระยะยาว เช่นการผลิตสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเซรามิค เป็นต้น ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานได้
สำนักงานประกันสังคม จังหวัดตาก เคยทำหนังสือ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ถึงมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ยืนยันว่านายจ้างมีหน้าที่ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตนเพื่อนำแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 และมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ แต่ก็ไม่ปรากฏข้อมูลว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด จนทำให้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหยุดกิจการลุกฮือเรียกร้องดังเช่นกรณีแรงงานโรงงานสิ่งทอที่เป็นข่าวข้างต้น
ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ขอให้สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานทำงานเชิงรุกโดยการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตามหน้าที่ รวมทั้งการใช้อำนาจตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตรวจสอบให้นายจ้างยื่นรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน ซึ่งเป็น “ลูกจ้าง” ตามาตรา 5 และไม่เข้าข้อยกเว้นตามาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ รวมทั้งลูกจ้างตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ซึ่งมิได้เป็นงานชั่วคราวในระยะเวลาหรือตามฤดูกาล และยืนยันสิทธิการเป็นผู้ประกันตนของคนงานนับแต่วันแรกที่มีการจ้างแรงงานของสถานประกอบการ เพื่อให้คนงานสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้
- ขอให้กระทรวงแรงงานออกประกาศให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานสำหรับแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน โดยขอให้ทำเอกสารเป็นภาษาของประเทศเพื่อบ้านด้วย เพื่อเป็นการยืนยันหลักการสำคัญของเจตนารมณ์การคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไทยได้ให้การรับรองไว้ในอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 111 และให้แรงงานข้ามชาติทุกคน ในทุกกิจการ และถือเอกสารการจ้างงานทุกรูปแบบ สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในฐานะผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533
- ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานดำเนินคดีกับนายจ้างที่ละเลยหรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคมอย่างเคร่งครัด
.
…………………………………………………………………………………………………………
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
อ้างอิง https://today.line.me/TH/article/R8vn6m?utm_source=copyshare1