ข้อเสนอการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก

            30 มีนาคม 2565

เรื่อง ข้อเสนอการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก เรียน

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  2. ปลัดกระทรวงแรงงาน
  3. อธิบดีกรมการจัดหางาน
  4. ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ วันที่ 9 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้จัดประชุม การให้ความรู้และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องกระบวนการการพิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงานและออกเอกสารรับรองตัวบุคคล Certificate of Identity (CI)และการจ้างงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากทางภาครัฐ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนแรงงาน เข้าร่วมรับฟังนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอกรอบการทำงาน ข้อท้าทาย ของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานจัดหางาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งพบว่า แรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดตากโดยเฉพาะในอำเภอแม่สอด มีการจ้างงานในทุกรูปแบบนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงาน ยกเว้นการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานประมง ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 83 จากการปรับปรุงนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงงานข้ามชาติที่สืบเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด 19 ทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียน การต่อใบอนุญาตทำงาน หรือปรับปรุงเอกสารส่วนบุคคลของแรงงาน โดยเฉพาะการเดินทางไปศูนย์ออกเอกสารรับรองตัวบุคคล หรือ CI ของรัฐบาลเมียนมา ที่เปิดนอกพื้นที่จังหวัดตาก แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมหรือตรวจสอบเนื่องจากพื้นที่จังหวัดตาก ทางจังหวัดยังมีมาตรการการควบคุมการเดินทางเพื่อป้องกันโรคระบาด หรือแรงงานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างการเดินทาง ทำให้แรงงานและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทั้งราคาค่าใช้จ่าย การติดเชื้อและอาจจะไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนการขึ้นทะเบียนหรือการขยายระยะเวลาการทำงานได้ตามกรอบเวลานโยบาย ในที่ประชุมจึงได้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอเพื่อให้ทางเครือข่ายฯ และมูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดงานนำเสนอต่อท่านเพื่อพิจารณาปรับปรุงนโยบายที่สะท้อนสภาพปัญหาและข้อท้าทายที่เกิดขึ้นในระดับปฏิบัติงาน ดังนี้

  1. กลุ่มแรงงานที่ถือบัตรแรงงานตามนโยบายการจ้างงานชายแดน พรก.บริหารจัดการฯมาตรา 64 ที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ให้อยู่และทำงานได้ถึง 31 มีนาคม 2565 แต่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ทำให้การเข้าถึงการจัดทำหนังสือผ่านแดนได้ยากขึ้น และยังมีความเสี่ยงในการเดินทางข้ามชายแดน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและภาคธุรกิจ ที่ประชุม เสนอให้รัฐบาลพิจารณาขยายระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่และทำงานต่อไปได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือจนกว่าด่านถาวรไทยเมียนมา จังหวัดตากได้อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายของบุคคลจากฝั่งไทยและเมียนมา
  1. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี หรือกลุ่มแรงงานตามบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐ และต้องเข้าสู่กระบวนการต่อใบอนุญาตทำงาน การอยู่อาศัย รวมทั้งการปรับปรุงเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI แต่เนื่องจากมีศูนย์ฯ เพียง 5 แห่ง ทำให้พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์มีความยากลำบาก และมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชุม เสนอให้ รัฐบาลไทยประสานงานกับผู้แทนรัฐบาลเมียนมา ในการจัด ทำเอกสาร CI แบบเคลื่อนที่ ส่วนบุคคล โดยมีการประสานกับสำนักงานจัดหางาน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการแรงงานข้ามชาติตามจุดบริการ เพื่อให้แรงงานและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการบริการ โดยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
  1. สำหรับกลุ่มแรงงานที่ขึ้นทะเบียนตามนโยบายรัฐบาล โดยจะต้องผ่านการปรับปรุงประวัติบุคคล แต่พบว่าแรงงานยังไม่เคยมีเอกสารการเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคคลจากประเทศต้นทาง ด้วยเงื่อนไขในปัจจุบันศูนย์ฯ จะดำเนินการจัด CI ให้เฉพาะคนที่เคยมี CI เดิม ทำให้กลุ่มที่ไม่มีเอกสาร CI เดิมไม่สามารถทำได้ และเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ที่ประชุม เสนอให้รัฐบาล พิจารณาให้แรงงานกลุ่มที่ยังไม่มีไม่เอกสารรับรองตัวบุคคล Certificate of Identity (CI)   สามารถดำเนินการ ณ. ศูนย์ออกเอกสารรับรองตัวบุคคล Certificate of Identity (CI)  โดยถือเป็นการตรวจพิสูจน์สัญชาติ (National Verification)
  1. จากการนำเสนอตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า ตัวเลขการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หายไปจากระบบเกือบ 1 ล้าน คน และจากการนำเสนอข่าวจากสื่อต่างๆ มีการจับกุมแรงงานที่ไม่มีเอกสารหรือหลุดจากระบบการขึ้นทะเบียนจำนวนมาก ที่ประชุม เสนอ ให้กรมการจัดหางาน พิจารณาและเสนอนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงาน หรือ แก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังตกหล่นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาในการปรับปรุงนโยบายด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการ ส่งเสริมการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตากที่รัฐบาลไทยได้แถลงต่อที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติ บนเวทีว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular-GCM)

ขอแสดงความนับถือ

1648697313999

(อดิศร เกิดมงคล)

ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ นายอดิศร เกิดมงคล 089 788 7138 [email protected] หรือ
นางสาวระวีพร ดอกไม้ 082 901 5357 [email protected]