ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนายจ้างในคดีฆ่าแรงงานข้ามชาติโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

เมื่อวันที่ 13   มีนาคม 2556 ศาลจังหวัดแม่สอด อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดแม่สอด เป็นโจทก์ฟ้องนายประยุน กาวิระเดช กับพวก รวม 2   ราย ฐานความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนน ซึ่งได้กระทำต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในไร่ข้าวโพดของจำเลย โดยพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9   พฤศจิกายน 2550 เวลาประมาณ 23.00 น. เมื่อนายประยุน หรือพุ กาวิระเดช เจ้าของไร่ข้าวโพด พร้อมลูกน้องได้นำตัวแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 5 คน ออกจากบ้านพักในไร่ข้าวโพดของนายประยุน กาวิระเดชโดยบังคับให้แรงงานทั้ง 5 คน ขึ้นรถยนต์ปิกอัพ ไปที่บริเวณเชิงเขาห้วยพระฤาษี ริมถนนสายบ้านเจดีโค๊ะ-บ้านปางวัว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แล้วนายประยุนกับพวกได้ใช้อาวุธปืนยิงแรงงานและทำการเผานั่งยางจนเป็นเหตุให้แรงงานเสียชีวิต ในที่เกิดเหตุ 4 ศพ ส่วนอีกรายบาดเจ็บสาหัสและได้รับการช่วยเหลือทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน กระทั่งพนักงานอัยการจังหวัดแม่สอด ได้ยื่นฟ้องนายประยุน กับพวกเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดแม่สอด โดยคดีนี้ญาติบางคนของผู้เสียชีวิตได้แต่งตั้งทนายความของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี พร้อมทั้งได้ช่วยเหลือญาติของผู้ตายเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากจำเลย

นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้นับว่าเป็นกรณีศึกษาว่าแรงงานข้ามชาติมักตกเป็นเหยือของการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ จากนายจ้างคนไทย โดยนายจ้างบางคนคิดว่าสามารถใช้อิทธิพลให้ตนรอดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมายได้ การร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรภาคประชาสังคมเช่นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ในคดีนี้และคดีอื่นๆอีกหลายคดี เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้   ทางมูลนิธิขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แม่สอดและพนักงานอัยการจังหวัดตากที่บังคับใช้กฎหมายโดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ

นายสมชาย หอมลออ ยังกล่าวต่อไปว่า การป้องกันไม่ให้นายจ้างกดขี่เอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาตินั้น นอกจากเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบแล้ว การทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะลูกจ้างในภาคเกษตร จะทำให้การตรวจตาของเจ้าหน้าที่ทั่วถึงยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐควรจะอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ง่ายและสะดวกเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นายจ้างนำแรงงานของตนไปขึ้นทะเบียน


 

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

นายธนู เอกโชติ ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทรศัพท์ 084-161 0066 และ

นางสาวปรีดา ทองชุมนุม ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 02 277 6882