ใบแจ้งข่าว: ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา กรณีแรงงานข้ามชาติหญิงฟ้องกรมการจัดหางาน ที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเหตุให้ต้องถูกกุมขังถึง 105 วัน

เผยแพร่วันที่ 29 ธันวาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา กรณีแรงงานข้ามชาติหญิงฟ้องกรมการจัดหางาน

ที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเหตุให้ต้องถูกกุมขังถึง 105 วัน

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ศาลปกครองกลาง มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาล ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ 2283/2565 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ด้วยเหตุผลว่า ผู้ร้องไม่ได้ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้ร้อง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22  มิถุนายน 2564 ขณะที่นางสาว ป. แรงงานข้ามชาติหญิงชาวเมียนมา กำลังทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าย่านสุขสวัสดิ์อยู่นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงกรุงเทพมหานคร เข้าไปในโรงงานและขอตรวจสอบเอกสารประจำตัวและใบอนุญาตทำงานของแรงงานในโรงงานทุกคน เมื่อนางสาว ป. ได้แสดงหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานให้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่พบว่าใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ฝ่ายบุคคลของบริษัทฯ แจ้งว่าทางบริษัทได้มีการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานไว้แล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกลับไม่พบข้อมูลในระบบ เจ้าหน้าที่จึงพาตัวนางสาว ป. ไปยังสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ เพื่อดำเนินคดีข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตามมาตรา 8 ประกอบ มาตรา 101 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับนางสาว ป. ผ่านล่ามของบริษัทฯ และนางสาว ป. ได้รับสารภาพเนื่องจากเข้าใจว่าตนได้กระทำความผิดตามกฎหมายและไม่มีทนายความให้คำปรึกษาในวันดังกล่าว นางสาว ป. จึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจและถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าว (สวนพลู) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเตรียมถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

ระหว่างนั้นน้องสาวของนางสาว ป. ได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สำนักงานสาขาจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยมีนางสาวผรัณดา ปานแก้ว และว่าที่ร้อยตรีวัชรวิชญ์ วุฒิพัชระพัชร์ ทนายความมูลนิธิ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ตลอดมาจนกระทั่งพบว่า นายจ้างได้ดำเนินการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานต่อสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ไว้แล้ว มูลนิธิจึงมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อกองนิติการ กรมการจัดหางาน และกองนิติการ กรมการจัดหางาน โดยให้ความเห็นว่า นางสาว ป. ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุ ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ได้รับ  คำขอและรับชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอไว้แล้ว และไม่ปรากฏว่านายทะเบียนได้มีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานในกรณีดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่นางสาว ป. ยังมีสิทธิทำงานไปพลางก่อนจนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ตามมาตรา 67 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทนายความมูลนิธิจึงได้ประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และรับตัวนางสาว ป. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 อันจะเห็นได้ว่า นางสาว ป. ถูกดำเนินคดีทั้งที่ได้ดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานไว้แล้ว ทำให้ได้รับความเสียหายจากการถูกดำเนินคดีและควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เป็นเวลารวมถึง 105 วัน

นางสาว ป. จึงยื่นคำฟ้องกรมการจัดหางาน ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2159/2565 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยเหตุที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์ เสรีภาพ ชื่อเสียงและจิตใจ จึงขอให้ชดใช้เงินเยียวยา ความเสียหาย จำนวน 185,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และขอให้กรมการจัดหางานประกาศขอโทษผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ทุกประเภท เป็นเวลาติดต่อกันนาน 7 วัน ซึ่งต่อมาสำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือแจ้งคำสั่งศาล ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ด้วยเหตุผลว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ มีความเห็นว่า แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจกระทำการในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งยังคงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา 194 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นนางสาว ป. ยังคงมีสิทธิเสนอคำฟ้องกรมการจัดหางานต่อศาลแพ่ง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงาน ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ทำให้ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินเสรีภาพจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และชื่อเสียง เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่นางสาว ป. ได้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาคาดหวังว่าการยื่นฟ้องคดีครั้งนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจส่งผลต่อความความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชน

 

———————————————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

[email protected]