ใบแจ้งข่าว: ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่ลูกเรือไทย ที่ไปทำงานประมงในประเทศโซมาเลียทั้ง 32 คน เกือบ 10 ล้านบาท

1660043627854-2

 

9 สิงหาคม 2565

 

ใบแจ้งข่าว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่ลูกเรือไทย

ที่ไปทำงานประมงในประเทศโซมาเลียทั้ง 32 คน เกือบ 10 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้นายน. จำเลย จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างทำงานในวันหยุด ค่าจ้างระหว่างตกค้าง และเงินส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำ แก่ลูกเรือทั้ง 32 คน รวมจำนวน 9,034,059.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสามสิบสอง

 

จากคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยศาล ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องนายจ้างไว้ดังนี้

ประเด็นแรก การกระทำของจำเลยนั้นเป็นผู้จัดหางาน เป็นนายจ้างและทำสัญญาแทนนายจ้างที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ การที่จำเลยเดินทางมาหาโจทก์ที่หมู่บ้าน ทำเอกสารการเดินทางให้ แต่จำเลยไม่ได้เรียกค่าใช้จ่ายในเดินทางไปทำงานและไม่เคยเรียกเงินจากโจทก์ในการจัดหางานให้ นอกจากนี้จำเลยและหุ้นส่วนชาวต่างชาติได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เป็นข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางธุรกิจด้านประมง ณ ประเทศโซมาเลียร่วมกัน ภายใต้การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง จำเลยมีอำนาจสั่งงานโจทก์ทั้งสามสิบสองคนผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ มีอำนาจในการจ่ายเงินและตัดโบนัส และยังมีอำนาจในการขายสัตว์น้ำที่จับได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ใด การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบทุกอย่างของการเป็นนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และตามข้อ 2 ของกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคหนึ่งและมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ศาลเห็นว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสามสิบสองพียงฐานะเดียว จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้จัดหางานหรือตัวแทนนายจ้างและทำสัญญาจ้างของโจทก์ทั้งหมดที่อยู่ต่างประเทศแต่อย่างใด

ประการที่สอง จำเลยต้องชำระค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างตกค้าง ค่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้และค่าเดินทางให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสองหรือไม่ เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลย และหุ้นส่วนชาวต่างประเทศ เป็นคู่สัญญาห้างหุ้นส่วนกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 และมาตรา 1013 (1) ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมทุกคนต้องร่วมกันรับผิดเพื่อหนี้ทั้งปวงโดยไม่จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 ซึ่งหมายความว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างตกค้าง ค่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้และค่าเดินทางให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสอง เนื่องจากอัตราเงินเดือนที่โจทก์ทั้งหมดขอมาไม่ได้เกินกว่าความเป็นจริง และค่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำที่ขอมาเป็นการขอตามราคาถัวเฉลี่ยของสัตว์น้ำและปลาทุกชนิดเพียงกิโลกรัมละ 55 บาท และศาลก็เชื่อว่าน้ำหนักปลาจำนวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์จะต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 180,000 กิโลกรัม ดังนั้นศาลจึงมีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสอง เป็นจำนวนรวม 9,034,059.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามสิบสอง

 

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2562 ปรากฏข่าวว่าลูกเรือไทยที่ไปทำงานประมงในน่านน้ำโซมาเลียได้ถูกลอยแพ อีกทั้งนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างค่าแรง และท้ายที่สุดลูกเรือได้ร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรภาคประชาสังคมและสถานกงสุลในกรุงไนโรบี จนกระทั่งลูกเรือทั้ง 32 คนได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย (ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/282745) หลังจากนั้นลูกเรือทั้ง 32 คนได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากนายจ้างมีค่าจ้างที่ค้างจ่ายในระหว่างที่ทำงานในน่านน้ำของประเทศอิหร่าน และประเทศโซมาเลีย

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกับสำนักงานกฎหมายเอส อาร์ และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล  ผนึกกำลังเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและเรียกร้องค่าจ้างให้แก่ลูกเรือทั้ง 32 คน ทั้งนี้รายละเอียดในการฟ้องมีประเด็นที่น่าสนใจว่าผู้ใดคือนายจ้างที่แท้จริงของลูกเรือ เมื่อพิจารณาจากสัญญาจ้างมีชื่อนายจ้างทั้งชื่อนายน. และชื่อชาวต่างประเทศอีก 2 คน ซึ่งการกระทำของนายน. นั้นก็เป็นการกระทำในฐานะนายจ้างหรือเป็นการกระทำในฐานะของคนจัดหางาน และยังสามารถที่จะฟ้องเรียกค่าจ้างที่ค้างจ่าย ค่าจ้างทำงานในวันหยุด ค่าจ้างระหว่างตกค้าง และเงินค่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับมายังประเทศไทยกับนายน.ได้หรือไม่ ล้วนเป็นความท้าท้ายทั้งในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างยิ่งในการทำคดีนี้

นางสาวกาญจนา อัครชาติ ผู้จัดการคดี ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่าผลของคำพิพากษาเรื่องประเด็นการเป็นนายจ้างนั้น ส่งผลที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างที่ทำงานในภาคประมงทะเล สืบเนื่องจากนโยบายการจัดระเบียบเรือประมงทั้งในประเทศไทยและนอกน่านน้ำ ทำให้นายจ้างใช้วิธีการหลีกเลี่ยงไม่จดทะเบียนเป็นเรือไทยเพื่อออกไปทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศและส่งปลากลับเข้ามาขายในประเทศไทย ลูกจ้างหลายคนที่ออกไปทำประมงในต่างประเทศเมื่อเกิดข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างค่าแรง  นายจ้างที่เป็นคนไทยมักปฏิเสธการเป็นนายจ้างของลูกจ้างเนื่องจากไม่ได้ทำงานในน่านน้ำประเทศไทยและเรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นเรือไทย ทำให้ลูกจ้างอยูในสถานการณ์เสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง ตลอดจนอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกบังคับใช้แรงงานและค้ามนุษย์ได้ แต่ถ้านายจ้างที่เป็นหุ้นส่วนในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมดในเรื่องค่าจ้างของลูกจ้าง ย่อมทำให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงกลไกในการเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ง่าย


 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ กาญจนา อัครชาติ ผู้จัดการคดี มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

Email: [email protected]