ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ตัวแทนแรงงานผู้ประกันตน ฟ้องกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน กรณีไม่เร่งดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และขอให้เพิกถอนระเบียบหลักเกณฑ์ ที่มีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

29 มีนาคม 2567

ใบแจ้งข่าว

ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ตัวแทนแรงงานผู้ประกันตน ฟ้องกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน

กรณีไม่เร่งดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม

และขอให้เพิกถอนระเบียบหลักเกณฑ์ ที่มีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

ประเด็นสำคัญ

  1. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ลงประกาศ พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 8 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประกันสังคม” ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ กับตัวแทนฝ่ายนายจ้างและตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน โดยให้ผู้แทนของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่ง กระทรวงแรงงาน และประกันสังคมจะต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง
  2. การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย ซึ่งผู้ประกันตนไม่ได้แต่เพียงผู้ประกันตนสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างชาติด้วย แต่ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการเลือกตั้ง เนื่องมาจากระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ข้อ 16 กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น

เหตุแห่งที่มาของคดีนี้

  1. สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ได้มี ธนพร วิจันทร์ พร้อมตัวแทนผู้ประกันตนทั้งแรงงานสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น จำนวน 6 คน ได้ยื่นฟ้องกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคน ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม และขอให้มีคำสั่งเพิกถอนระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมต้องมีสัญชาติไทย และผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
  2. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองได้มีหนังสือ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เรื่องแจ้งคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยมีรายละเอียดว่า “..ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในการพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย คำสั่งหรือกระทำอื่นใด คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
    ศาลปกครองให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามฎหมายว่าด้วยประกันสังคม แต่ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ข้อ 16 กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (1) มีสัญชาติไทย…”
  3. ผู้ฟ้องคดีทั้งหกอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง เนื่องจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงแรงงาน ปล่อยปละละเลย ไม่เร่งดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ถือเป็นอำนาจของศาลปกครองโดยตรงที่ต้องพิจารณาการไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง  ประกอบกับการตั้งหลักเกณฑ์และระเบียบในเรื่องสัญชาติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งที่เป็นสมาชิกประกันสังคม ถือเป็นการกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกันตนที่ลูกจ้างต่างชาติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27    กับหลักกติการะหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือ International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights (CESCR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)
  4. วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 14:00 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ผลแห่งคำสั่งในคดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 3 และ 4 เป็นแรงงานข้ามชาติ ได้รับควาทเดือดร้อนเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จากการออกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ข้อ 16 (1) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่ศาลได้พิจารณาต่อว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 3 และ 4 มิได้นำคดีมายื่นฟ้องภายในระยเวลาที่กำหนด ไม่ทำตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ที่กำหนดให้จะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อระเบียบดังกล่าวลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่  8 กรกฎาคม 2564 มีผลบังคับใช้วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 จะต้องฟ้องภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 หากแต่นำคดีมาฟ้องวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าแรงงานข้ามชาติผู้ฟ้องคดีต้องรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว จึงเป็นการยื่นฟ้องเกินระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับไม่ใช่คำฟ้องที่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามกำหนดแห่งข้อ 30 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ศาลจึงไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ไว้พิจารณา
  5. จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความและ ผู้รับมอบอำนาจ ข้อสังเกตในคดีนี้ แรงงานข้ามชาติที่ได้เข้าสู่ระบบผู้ประกันตนประกันสังคม กว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุของความเข้าใจในข้อกฎหมาย ภาษา หรือปัจจัยอื่น การออกหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่จำกัดสิทธิของตนเองนั้นยังไม่มีทางออก แต่หากการที่แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ลูกจ้างที่ได้ประโยชน์ จะยังมีฝ่ายนายจ้าง และภาคส่วนอื่นที่เป็นภาคีประกันสังคมได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างกว้างในหลายมิติและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตรงตามความต้องการที่เหมาะสม ต่อการบริหารกองทุนประกันสังคมที่เป็นเงินของผู้ใช้แรงงาน

“การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยคดีนั้น อาจทำให้ถูกมองไปได้ว่า ศาลไทยปฏิเสธที่จะให้ความยุติธรรมและเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายสมชายกล่าว

สมชาย หอลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ให้ความเห็นว่า ผมเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ น่าจะไม่ชอบด้วยหลักของความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะ ประการแรก สิทธิของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติในการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมนั้น เป็นสิทธิมนุษยชน มิใช่เป็นสิทธิส่วนบุคคล และการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีมิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้ศาลคุ้มครองเยียวยาสิทธิในการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น แต่เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนทั้งปวงด้วย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประการสุดท้าย ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 ด้วย ดังนั้น ตราบใดที่ระเบียบฉบับนี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระเบียบดังกล่าว ย่อมฟ้องคดีได้เสมอ ศาลจะอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่ฟ้องภายในกำหนด ๙๐ วันไม่ได้ การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยคดีนั้น อาจทำให้ถูกมองไปได้ว่า ศาลไทยปฏิเสธที่จะให้ความยุติธรรมและเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน