ศาลปกครองพิษณุโลก พิพากษาให้เทศบาลนครแม่สอด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่บุตรของแรงงานข้ามชาติ ต่อการกระทำละเมิดเป็นเหตุให้เสียชีวิต จำนวน 750,000 บาท

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อ่านคำพิพากษา ในคดีที่นางมะหม่อดียาน หรือนางจูจู้ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงซามีร่า หรือซาลีมา เป็นผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และเทศบาลนครแม่สอด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยศาลปกครอง มีคำพิพากษาว่า เทศบาลนครแม่สอด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีเนื่องจากมิได้ควบคุม ตรวจสอบ ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าแสงสว่างตามทางสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครแม่สอด เป็นเหตุให้เด็กหญิงซาลีมาบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงให้เทศบาลนครแม่สอดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินทั้งสิ้น 750,000 บาท และให้เทศบาลนครแม่สอดชำระค่าสินไหมทดแทนภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดและให้ยกฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 เวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อเด็กหญิงซามีร่า หรือซาลีมา อายุ 10 ขวบ บุตรของนางมะหม่อดียาน ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย และเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักเพื่อไปซื้อของที่ร้านขายของชำ ระหว่างทางจากร้านขายของชำเพื่อกลับบ้านได้เกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง ทำให้เด็กหญิงซาลีมา ต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง เป็นเหตุให้ถูกไฟฟ้า จากเสาไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ที่บริเวณเกิดเหตุจำนวน 3 ต้น ช็อตจนได้รับบาดเจ็บสาหัส แพทย์ลงความเห็นว่า หัวใจหยุดเต้น สมองขาดอากาศ แพทย์ต้องทำการกู้ชีพแต่เด็กหญิงซาลีมา ไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2555 จากอาการปอดอักเสบและติดเชื้อชนิดรุนแรง

ผู้ฟ้องในคดีนี้ เห็นว่า การเสียชีวิตของเด็กหญิงซาลีมา เกิดจากการถูกไฟฟ้าช็อตจากสายไฟฟ้ารั่วตามกระแสน้ำ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและเทศบาลนครแม่สอด ในฐานะเจ้าของเสาไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และเจ้าของกระแสไฟฟ้า เป็นผู้ควบคุมและดูและรักษาเสาไฟฟ้า อุปกรณ์ และกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นวัตถุอันตรายโดยสภาพ และเป็นผู้มีอาชีพที่มีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถตามอาชีพ ตลอดจนมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 พึงต้องใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดการรั่วไหลของกระแสฟ้า จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนได้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นอย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าช็อตเด็กหญิงซาลีมา จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ถือเป็นการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6,220,185 บาท อันเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล การไม่สามารถประกอบการงานได้อย่างสิ้นเชิง การทนทุกข์ทรมานนับแต่วันเกิดเหตุและไม่อาจจะรักษาตัวให้หายขาดได้ ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีต้องขาดงาน ขาดรายได้ เมื่อต้องออกมาดูแลเด็กหญิงซาลีมา ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต

นางสาวปรีดา ทองชุมนุม ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกที่ให้เทศบาลนครแม่สอดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่เป็นแรงงานข้ามชาติ นับว่าเป็นกรณีตัวอย่างของการเข้าถึงความยุติธรรม (Access to Justice) เป็นหลักการสำคัญตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากล ในคดีนี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการดำเนินการบันทึกประจำวัน ตลอดจนเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งรวมทั้งประจักษ์พยานมาให้ปากคำ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพียงพอในการดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลไทย และเป็นการยืนยันว่าบุคคลไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือแรงงานข้ามชาติทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยย่อมได้รับการปกป้องและคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

นายธนู เอกโชติ ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทรศัพท์ 081-171 8228 และ

นางสาวปรีดา ทองชุมนุม ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 02 277 6882