ใบแจ้งข่าว: แรงงานข้ามชาติ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน

1646845838703header

8 มีนาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

แรงงานข้ามชาติ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 แรงงานข้ามชาติ 4 ราย ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงข้อมูลเอกสารของทางราชการ ต่อศาลปกครอง กรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ได้ยกอุทธรณ์ของแรงงานข้ามชาติที่ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลางได้รับเอกสารคำฟ้องจึงได้ตอบกลับเป็นหนังสือแจ้งแก่แรงงานข้ามชาติทั้ง 4 รายเป็นคดีหมายเลขดำที่ 68/2565  อยู่ระหว่างการพิจารณาคำฟ้องของศาลปกครองกลาง

คดีนี้สืบเนื่องจาก กรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 4 คน คัดถ่ายข้อมูลเอกสารหลักฐานคำวินิจฉัยชี้ขาดเลขที่ 102-106/2562 กรณีที่แรงงานผู้ฟ้องในคดีนี้ถูกเลิกจ้าง สืบเนื่องจากการที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้นำแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง อันถือเป็นการกระทำไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ต่อมาทนายความจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร ได้มีหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์ เลขที่ นร 0108/3958  ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2564 เรื่อง แจ้งผลคำวินิจฉัย คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย องค์คณะที่ ๒   ซึ่งได้มีคำวินิจฉัย ที่ สค 344/2564  ลงวันที่ 9 กันยายน 2564 ให้ยกอุทธรณ์ของแรงงานข้ามชาติ 4 คน โดยเห็นว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 9 ยังไม่มีกฎกระทรวงเพื่อกำหนดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น ประกอบกับแรงงานทั้งสี่คนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และนายจ้างต่อศาลแรงงานภาค 6 การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีจะกระทบต่อข้อเท็จจริงแห่งคดีแพยานเอกสารในศาลอันอาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของการพิจารณาคดีของศาลเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จได้ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2)

นางสาวจิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี เห็นว่า การวินิจฉัยอ้างด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในการรับรู้ข้อมูลข่างสารได้เท่าเทียมกับคนไทย  โดยมาตรา ๙ วรรคสี่ กำหนดให้ออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขและขอบเขตของการใช้สิทธิคนต่างด้าว เว้นแต่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าว ที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย  เมื่อยังไม่มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขและขอบเขตของการใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารของคนต่างด้าวตามมาตรา ๙ วรรคสี่  คนต่างด้าวจึงยังไม่มีสิทธิที่จะขอข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา 15 วรรค 1(2) นั้น รัฐละเลยไม่มีการออกกฎกระทรวงรองรับคนต่างด้าวเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยมาแล้วกว่า 20 ปี การอ้างเหตุดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย   และยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 27 ว่าด้วยความเสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติอีกด้วย

 

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

——————————————————————————————–

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด 089 273 4711

[email protected]