ใบแจ้งข่าว: แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ยื่นฟ้องศาลปกครองปกครอง กรณี โครงการเยียวยา “ม.33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตราสารระหว่างประเทศ
|
27 พฤษภาคม 2565
ใบแจ้งข่าว
แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ยื่นฟ้องศาลปกครองปกครอง กรณี โครงการเยียวยา
“ม.33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตราสารระหว่างประเทศ
วันนี้ (27 พฤษภาคม) ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ และผู้ไร้สัญชาติ ในฐานะผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจทางปกครอง ยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง คณะกรรมาการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ในฐานะหน่วยงานทางปกครองมีการกระทำที่ละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือคำสั่งทางปกครอง โดยการออกโครงการ ม.33 เรารักกัน ซึ่งเป็นแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
การอนุมัติ โครงการ ม.33 เรารักกัน นั้นเป็นไปเพื่อให้การช่วยเหลือ เยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบของผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีการอนุมัติงบประมาณ 37,100 ล้านบาท และ 48,841 ล้านบาท ให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 กว่า แปดล้านคน ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนที่มีสัญชาติ เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ประกันตนที่เข้าถึงเงินเยียวยาตามโครงการดังกล่าวได้ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานที่ไร้สัญชาติ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการทำร่วมกันของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าที่ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติโครงการ ม.33 เรารักกัน ปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 ล้านคน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย มีการจ่ายเงินสมทบรวมกันแล้วเป็นเงินจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่แรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยกลับไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในโครงการฯ อย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกำหนดเงื่อนไขของโครงการเป็นการกระทำที่เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่ ต่อมา วันที่ 15 กันยายน 2564 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยว่าการกำหนดเงื่อนไขการเยียวยาในโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ให้เฉพาะแก่ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยเท่านั้นไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 เพราะบทบัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://hrdfoundation.org/?p=2642 )
วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ผู้แทนแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ( http://hrdfoundation.org/?p=2676&lang=en ) และวันที่ 11 มกราคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งมายังผู้ร้องว่าโครงการ ม.33 เรารักกันเป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีกรณีความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ดังนั้นแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติจึงได้เดินทางมายังศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาว่า การกระทำร่วมกันของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า คือ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน การะทรวงการคลัง คณะกรรมาการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 หรือไม่ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ร่วมกันดำเนินการยกเลิกคุณสมบัติของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในส่วนที่กำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ออกจาก “โครงการม.33 เรารักกัน” และให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์ตามโครงการ ม.33 เรารักกันด้วย โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้มีประชาชนทั่วไปได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นจำนวน 2,198 ราย
นางสาวปสุตา ชื้นขจร ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า การมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ นับเป็นการใช้สิทธิการเข้าถึงกลไกของฝ่ายตุลาการเป็นหน่วยงานสุดท้าย จึงขอเรียกร้องให้ ศาลปกครอง ที่มีอำนาจอิสระ ตามแบบแม่บทประชาธิปไตย ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้สร้างบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) เพียงองค์กรเดียว
———————————————————————————–
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ปสุตา ชื้นขจร มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 0815957578
Email: [email protected]