สรุปเวทีเสวนา การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในส่วนของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต

hrdf_header2304

สรุปเวทีเสวนา

การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19

ในส่วนของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต

 

20 เม.ย. 2566 เวลา 09.30 – 16.30 น. ณ โรงแรมเดอะ พาโก้ ดีไซด์ จังหวัดภูเก็ต ได้มีการจัดงานเสวนาเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในส่วนของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (human right and development foundation) ร่วมกับสมาคมมิตรภาพอันดามัน ได้ประสานงานหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อมาแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และแรงงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงข้อท้าทาย เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนออันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้อย่างยั่งยืน

hrdf_230427

 

 

 

(1) MWG เปิดรายงานสถานการณ์ภาพรวมแรงงานข้ามชาติ ชี้ตัวเลข ปี 2566 จำนวนแรงงานพุ่งสูงสุดกว่า 3 ล้านราย มี 5.6 แสนรายเสี่ยงผิดกฎหมาย เหตุจากปัญหาระบบขึ้นทะเบียนของหน่วยงานภาครัฐขั้นตอนซับซ้อนหวั่นผลกระทบต่อนายจ้างที่มีความต้องการแรงงานสูงโดยเฉพาะการท่องเที่ยวภูเก็ตที่กำลังเฟื่องฟูหลังโควิด-19

 

hrdf_230427-2 

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Worker Group) เผยรายงานสถานการณ์ภาพรวมของแรงงานข้ามชาติ โดยชี้ให้เห็นจำวนสถิติแรงงานข้ามชาติที่รวมรวมถึงเดือนมกราคม ปี 2566 ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนถึง 3,055,822 คน โดยประชากรแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศพม่า 70% หรือประมาณ 2.1 ล้านคน ประเทศกัมพูชา 21% หรือประมาณ 6.4 แสนคน ประเทศลาว 9% หรือประมาณ 2.8 แสนคน และประเทศเวียดนามมีจำนวนไม่ถึง 1% หรือประมาณ 2,400 คน ซึ่งจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2566 ถือมีจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะแรงงานประเทศพม่าที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความมั่นคงและภาวะสงครามภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือแรงงานจำนวนทั้งหมดเหล่านี้ มีแรงงานที่มีจำนวนหายไปจากระบบถึง 561,636 คน  โดยเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่ออายุตามมติ 7 ก.พ. 2566 หายไป 554,531 คน

ความคิดเห็นต่อข้อมูลข้างต้น อดิศร วิเคราะห์ว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติออกนอกระบบ อันเนื่องมาจากการจัดการขึ้นทะเบียนของหน่วยงานภาครัฐช่วงหลังโควิด-19 ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ช่วงปี 2563 -2566 โดยนโยบายการจัดการปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติมีถึง 17 มติคณะรัฐมนตรี ขยายเวลาการดำเนินงาน 8 ครั้ง เปิดจดทะเบียนใหม่ 4 ครั้ง ต่ออายุกลุ่มต่าง 5 ครั้ง ในนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติยังเป็นไปตาม MoU การนำเข้าแรงงานมาทำงานในประเทศไทยตามปรกติ ซึ่งระบุเงื่อนไขว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานได้ครั้งละ 2 ปี และต่อทะเบียนต่ออีก 2 ปี จนเมื่อแรงงานข้ามชาติทำงานครบ 4 ปี ก็ต้องกลับไปทำ MoU เดินทางเข้ามาใหม่ โดยแรงงานต้องมีระยะพัก 30 วัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากระบบการขึ้นทะเบียนของภาครัฐมีความยุ่งยากซับซ้อน จนเกิดช่องว่างของการใช้นายหน้าทำหน้าที่มาเป็นตัวแทนจัดการขึ้นทะเบียน เกิดช่องว่างการหาประโยชน์แทนที่ระบบการขึ้นทะเบียนตามปกติ

อดิศร ย้ำว่า ปัญหาความยุ่งยากเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติส่งผลต่อการไม่สร้างแรงจูงใจให้นายจ้างต้องเข้ามาจัดการลูกจ้าง แต่ผลักภาระให้แรงงานข้ามชาติต้องจัดการด้วยตนเอง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม 12,000-18,000 บาท/คน เพื่อสามารถจะทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเป็นแรงงานก็มีสภาพชีวิตที่ลำบาก ยากจน ทำให้หลายครอบครัวแรงงานข้ามชาติเกิดหนี้สินจากการขึ้นทะเบียนเพื่อมีใบอนุญาตแรงงานตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีรายได้ กลายเป็นวงจรหนี้สินและเข้าสู่ระบบการใช้แรงงานต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการค้ามนุษย์ และการคอร์รัปชันในระบบและนอกระบบ ปัญหาจากการทดทะเบียนแรงงานข้ามชาติข้างต้นจึงไม่ได้หมายถึงเรื่องของการมีบัตรอนุญาตทำงานเท่านั้น แต่หมายถึงตัวชี้ให้เห็นของการเข้าไม่ถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติในอีกหลายด้านที่จะกระทบจากการไม่มีบัตร เช่น การเป็นคนผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง การเข้าถึงสิทธิพยาบาล และการไปสู่แรงงานบังคับ ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีแรงงานนอกระบบที่ผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและส่งออกการค้าในระดับโลก เช่น ประมง เป็นต้น

ส่วนทิ้งท้ายนี้ อดิศร ได้ให้ข้อสังเกตและข้อท้าทาย กล่าวคือ ข้อท้าทายในการนำเข้า MoU สู่โจทย์ปัญหาการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย โดยมองว่ากระบวนการนำเข้า MoU ของภาครัฐยังมีความล่าช้าระยะเวลาในการดำเนินการนำเข้ามีระยะเวลามากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลา โควิด-19 ทำให้ครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่ม คนงานมีความเสี่ยงที่จะเจอภาระหนี้จากการทำ MoU เพิ่ม ในขณะเดียวกันปี 2566 มีแรงงานข้ามชาติจะต้องกลับไปดำเนินการนำเข้า MoU เพิ่ม มากกว่า 5 แสนคน (ครบ 4 ปีและ 6 ปี) ทางเลือกในการเข้ามาทำงานถูกกฎหมายลดลง ปัจจัยความไม่ชัดเจนและมั่นคงของประเทศต้นทางทำให้การนำเข้าล่าช้า ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่แรงงานข้ามชาติลักลอบเข้ามาทำงานมีเพิ่มมากขึ้นมากกว่าในรอบ 10 ปีผ่านมา ดังนั้น หากภาครัฐยังมีกระบวนการและกฎหมายที่มีความยุ่งยากซับซ้อนที่ทำให้แรงงานไม่สามารถลงทะเบียนได้ง่ายนั้น ก็จะส่งต่อทั้งด้านความมั่นคงและความไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ตที่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศไทย

  

(2) พัฒนาจังหวัดภูเก็ตเปิดแผน 10 เสาหลักเศรษฐกิจคือทิศทางพัฒนาจังหวัดหลังโควิด-19 หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมฯ ย้ำสถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการขาดแคลนแรงงาน-ส่วนแรงงานประสบปัญหาไร้ทักษะสำหรับการค้ายุค new normal – ด้านธุรกิจประมงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนเพราะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ

 

hrdf_230427-3

 

ในช่วงที่ 1 ของการเสวนาหัวข้อ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตยุคหลังโควิด-19” วิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ 1.วัชรพงษ์ จิโสะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต กรมพัฒนาจังหวัด 2.ชริน ธำรงเกียรติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และ 3.จรัล ส่างสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ในวงเสวนาเช้านี้จะเน้นให้เห็นแนวทางปฏิบัติของภาครัฐและภาคธุรกิจในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ผลกระทบของผู้ประกอบการที่เผชิญในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน และในส่วนของภาคธุรกิจนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

วัชรพงษ์ จิโสะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต กรมพัฒนาจังหวัด กล่าวถึง แผนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต โดยชี้ให้เห็นจุดสำคัญของจังหวัดภูเก็ตที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งแม้จังหวัดภูเก็ต จะมีขนาดพื้นที่เพียง 5.4 แสนตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ถลาง อ.กะทู้  และ อ.เมืองภูเก็ต มีประชากร 4.1 แสนคน แต่พื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก และมีภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หลากหลายส่วน ซึ่งข้อมูลปี 2565 ระบุว่ามีนักเที่ยวเที่ยวเดินทางเข้ามาถึง 4.8 ล้านคน 1.6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดภูเก็ต (GPP) 9.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นนอกภาคเกษตร 9.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และภาคเกษตรและประมง 7 พันล้านบาทในปี 2564

หลักการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดภูเก็ต วัชรพงษ์ เน้นย้ำให้เห็นประเด็นเรื่องประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตจากเดิมที่เน้นเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเดี่ยวซึ่งถือเป็นส่วนที่สร้างรายได้สำคัญและเป้น หนึ่งเสาหลักของเมืองภูเก็ต แต่ในปัจจุบันยุทธศาสตร์การพัฒนามองว่า ต้องมุ่งให้เห็นภาพส่วนอื่นๆที่ประกอบเป็นพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งภูเก็ตที่ครอบคลุม จึงเกิดเป็นแผน ‘10 เสาหลักเศรษฐกิจภูเก็ต’ (GEMMSSTTF) ประกอบด้วย Gastronomy ซึ่งภูเก็ตถือเป็น 1 ใน 36 เมืองทั่วโลก ที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ที่มีวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่มีอัตลักษณ์น่าสนใจในระดับโลก ถือเป็น Creative City Network ซึ่งเป็นเมืองแรกของไทยและอาเซียน, Education Hub ด้านการศึกษาจะเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในระดับภูมิภาค , Medical & Wellness Hub ผลักดันให้เป็นภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอันดามัน เช่น โครงการพัฒนาโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตให้มีคุณภาพระดับโลก , Marina Hub พัฒนาท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและการพานิชย์ระดับเล็กจนใหญ่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว , Mice City ส่งเสริมให้เกิดมหากรรมในระดับนานาชาติ , Smart City ส่งเสริมระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน , Sports Tourism สร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวการกีฬานานาชาติ , Tourism ขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน ถนน สะพานเชื่อมถนน ฯลฯ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว, Tuna Hub ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมประมงการค้าปลาทูน่าในระดับอาเซียน, และสุดท้าย Fusion Farm ส่งเสริมธุรกิจชุมชนท้องถิ่นในภูเก็ตให้เศรษฐกิจเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

“ทางภาคเอกชนก็ได้สะท้อนเรื่องการขาดแคลนแรงงานของจังหวัดภูเก็ตมาหลายเดือนแล้วตอนนี้จะบอกว่าขอแค่เป็นคนมาก็จะรับไว้หมด เพราะขาดแคลนแรงงานจริงๆ ในส่วนของแรงงานผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของนโยบายความั่นคงด้วยเพราะว่าพอเป็นนโยบายความมั่นคงมันค่อนข้างที่จะให้อำนาจทางจังหวัดได้ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ออกมาจากคณะรัฐมนตรี ออกมาจากรัฐบาล ออกมาจากกระทรวงแรงงาน…ผมเองดูเพียงภาพรวมของจังหวัด แต่ทางเบื้องต้นทางท่านผู้ว่าฯก็เร่งประสานกับกระทรวงแรงงานไปหลายครั้งในการรองรับแรงงานต่างด้าว และแรงงานไทย…อำนาจที่พอจะทำได้คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน คือจะทำอย่างไรให้แรงงานในภูเก็ตมีฝีมือในอนาคตเพื่อรองรับแผนการพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด 10 เสาเศรษฐกิจ” ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต กรมพัฒนาจังหวัด

ชริน ธำรงเกียรติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิดธุรกิจโรงแรมประสบปัญหาอย่างยิ่งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศ ในภาคอุตสาหกรรมก็เหมือนกัน เพราะว่าอุตสาหกรรมภูเก็ตส่วนใหญ่จะพึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงเรือ รถ ต่างๆ ทุกอย่างรวมหมด ตอนนั้นสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตก็ไปไม่ถูกเพราะยอดมันหายไปหมด และคาดไม่ได้ว่าเมื่อไหร่จะฟื้นตัว ดังนั้นหลายอุตสาหกรรมจึงได้รับผลกระทบหมด คือ คนงานลดลงและคนกลับภูมิลำเนา สถานการณ์ที่ภูเก็ตต่างจากที่อื่นตรงที่ว่าเราพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียว ในขณะที่จังหวัดอื่นเขามีเรื่องการเกษตร มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการส่งออกก็ยังไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นคนงานที่ออกไปวันนี้หลายคนเข้าไปตั้งตัวไปได้งานใหม่ต่างจังหวัด เวลาเศรษฐกิจวันนี้เริ่มฟื้นตัวสิ่งที่เราเจอปัญหาคือการขาดแคลนแรงงาน ไม่ว่าจะโรงแรมหรืออะไรก็เหมือนกันหมด สิ่งสภาอุตสาหกรรมทำก่อนโควิด-19

“สิ่งที่ภาคเอกชนภูเก็ตเสนอไม่ว่าจะเป็น sandbox ในช่วงเริ่มต้นที่เสนอรัฐบาลไม่ใช่ว่าจะรับก็มีการผลักดันกันอย่างมาก แต่เราต้องแลกที่เราไม่ได้รับเงินชดเชยของจังหวัด แต่สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อมั่นความมั่นใจของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ทางภาคเอกชนเราเสนอเรื่อง 10 เสาหลัก อันหนึ่งที่อยู่ในนี้คือ TUNA HUB ซึ่งเดิมภูเก็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางของการประมงน่านน้ำทะเลลึก สิ่งที่ได้คือปลาทูน่ามาขึ้นที่ท่าเรืออ่าวมะขาม และท่าเรืออ่าวสิเหร่ เกิดการจ้างงานและส่งออกปลาทูน่าออกต่างประเทศ ในภาคพื้นเอเชียภูเก็ตเป็นภาคที่เอาทูน่ามาขึ้น กองเรือไต้หวันก็จะมาที่ภูเก็ตกันเยอะมาก…แต่พอหลังเกิดการปฏิวัติทางยุโรปเขา Sanction (คว่ำบาตร) ขึ้นมา เขาจะมาในรูปแบบของสิทธิมนุษยชน..ตอนนั้นที่ประชุมที่สภาอุตสาหกรรมก็จะต้องนั่งฟังว่ากองเรือประมงของเราที่อยู่ปัตตานี ถ้าเดินเรือออกไปหาปลา ถ้าฝ่าฝืนออกไปจะยิงให้จม เรือที่จะออกไปตอนนั้นหยุดประมาณ 3,000 ลำ แต่ละลำ 30-40 ล้าน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ปลาทูน่าที่จับที่เคยเป็นรายได้ของเราหายไป โรงงานอุตสาหกรรมก็หายไปด้วย” ชริน ธำรงเกียรติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต

จรัล ส่างสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาหลังจากฟื้นโควิด-19 การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตฟื้นฟูอย่างมาก มีรายได้ดีมาก ทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเข้ามาเยอะมาก แต่สิ่งที่น่าห่วงคือกลุ่มคนฐานรากหรือคนรากหญ้า มีการวางแผนร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนในเรื่องการเชื่อมโยงกันทุกกลุ่ม ในภาคส่วนของรูปแบบธุรกิจภูเก็ตมีธุรกิจครอบคลุมตั้งบแต่โรงแรมจนถึงอุตสาหกรรม แม้แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวชุมชน แม้แต่การท่องเที่ยวเชิงศาสนา เช่นเทศกาลถือศีลกินผักที่ใหญ่มากในประเทศไทย ภูเก็ตดึงอัตลักษณ์ขึ้นมาเป็นแรงผลักดันในการท่องเที่ยวที่ผลักดันเศรษฐกิจ ภูเก็ตมีร้านอาหารมิชลินไกด์ ถึง 58 ร้านค้า สร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจฐานรากวัฒนธรรมจำนวนกว่าแสนล้านต่อปี ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภูเก็ตยังมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากและมีความต้องการแรงงานที่พัฒนาทักษะรองรับกับการเติบโตของเมืองภูเก็ต

 

(3) การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูเก็ต ภาคเอกชนสะท้อนภูเก็ตมีความต้องการแรงงานต่างชาติสูง แต่ติดอุปสรรคภาระการทำเอกสารประจำตัวของแรงงาน- ผลักแรงงานให้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย  

ช่วงที่ 2 ของการเสวนาหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูเก็ต” วิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ 1.ดอน พลจรัส นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต 2.ดร.กวิน ปุญโญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการงานสวน บ.พี่น้องงานทวี และ3. Mr. Sheet Tun Aye (ซุย ทอง เอ /คุณโกต้า) ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ รองผู้อำนวยการสมาคมมิตรภาพอันดามัน ในวงเสวนาเช้านี้จะเน้นให้เห็นเสียงสะท้อนของภาคธุรกิจและภาคแรงงานที่เล่าถึงสถานการณ์ช่วงโควิด-19 และความต้องการในช่วงที่เศรษฐกิจภูเก็ตฟื้นฟู นอกจากนี้จะฟังข้อเสนอของภาครัฐ นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเห็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สอดคล้องกับตลาดของภาคธุรกิจและความต้องการของนายจ้างในปัจจุบัน

  hrdf_230427-4

 

Mr. Sheet Tun Aye (ซุย ทอง เอ /คุณโกต้า) ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ รองผู้อำนวยการสมาคมมิตรภาพอันดามัน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันคนงานพม่าเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมากขึ้น และหลายคนที่กลับไปประเทศพม่าช่วงโควิดก็เริ่มกลับมา แต่หลายคนก็เผชิญปัญหาความยากลำบาก เพราะสถานการณ์ปัญหาของประเทศพม่าที่กลับไม่ได้ ช่วงที่ไร้งานในภูเก็ตแรงงานจึงต้องเจอกับความลำบากไม่มีอาหาร น้ำ ไฟ และเด็กๆหลายคนที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติก็เข้าไม่ถึงการศึกษาซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พอเมื่อเปิดประเทศคนงานเริ่มกลับเข้ามาก็เจอกับเรื่องการต่อเอกสารแรงงาน ทำให้คนงานข้ามชาติต้องมีภาระหาเงินมาขึ้นทะเบียนผ่านนายหน้า ซึ่งหลายคนก็ประสบกับสภาวะตกงานมายาวนาน ทำให้ต้องมีภาระในการกู้หนี้ยืมสินมาจัดการเรื่องขึ้นทะเบียนในระบบ ซึ่งในแต่ละครอบครัวหากมีลูกมีผู้ติดตามมาภาระค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นตามมา อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในจังหวัดภูเก็ต แรงงานข้ามชาติหลายคนยังได้ค่าแรงไม่ถึง 357 บาท/วัน ซึ่งเป็นค่าแรงจังหวัดภูเก็ตตามกฎหมาย ส่งผลให้กระทบถึงวงจรหนี้สินดั้งเดิมจากสภาวะตกงานโควิด ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงาน จนยากที่แรงงานจะฟื้นตัวมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำงานได้

ดร.กวิน ปุญโญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการงานสวน บ.พี่น้องงานทวี กล่าวว่า ข้อมูลที่น่ากังวลเรื่อง GDP โตขึ้นของประเทศไทย แต่ในภาคการเกษตรปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่เพียง 8 % จากเดิม 30% ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทยโตในภาคบริการและอุตสาหกรรม อย่างภูเก็ตคือการท่องเที่ยว ถามว่าคนทำการเกษตรรวยขึ้นไหม ในรอบ 10 กว่าปีจนลงตลอด เหลือ 8% ในภูเก็ตรายได้ไม่ถึง 1% ของ GDPs เมื่อ 24 ปี ที่แล้วประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆที่มีความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตร ปัจจุบันเราแพ้แม้กระทั้งเวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ในด้านเกษตร ปัจจัย คือ เรื่องของแรงงานเพราะในอดีตค่าแรง แค่ธุรกิจยางพารา ในอดีตเราใช้แรงงานคนไทย แรงงานภาคอีสานมากรีดยาง ผ่านมา 20 ปีที่ผ่านมาคนอีสานปลูกยางเป็นเจ้าของของตัวเอง ดังนั้นแทบไม่มีคนอีสานกรีดยาง ประเด็นที่ 2 คือประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย อนาคตในภาคเกษตรจึงขาดแรงงานในประเทศ ต้องมีเทคโนโลยีการเกษตรมารองรับทั้งเรื่องลดต้นทุนแรงงานและศักยภาพของการลดงานส่วนบุคคลไปพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งประเทศที่เจริญภาคการเกษตรอย่างอเมริกาเขาจะใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ระดับ 1,000 – 10,000 ไร่ 1.ภาคธุรกิจจึงต้องเลือกหาพืชที่ปลูกใช้คนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 2.เพิ่มทักษะหรือการบริหารจัดการพื้นที่มากขึ้นมากกว่าการทำเกษตรเดี่ยว ๆแต่ต้องให้พื้นที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและแรงงานทางอ้อมมากขึ้น 3.ปลูกพืชมูลค่าสูง ซึ่งโครงการเหล่านี้ทางบริษัทก็ต้องศึกษา เราต้องเตรียมตัวให้มากกว่าที่รัฐบาลมีแผนรองรับ

ดอน พลจรัส นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต กล่าวว่าในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงานให้มีฝีมือนั้น ไม่มีกฎหมายโดยตรงที่ส่งเสริมแรงงานข้ามชาติเพราะต้องเข้าใจว่าเงินภาษีของประเทศไทยยังมุ่งเน้นให้พัฒนาแรงงานคนไทยที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ก็ยังมีช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานข้ามชาติ คือตัว พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่ส่งเสริมนายจ้างให้พัฒนาแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างสามารถออกแบบหลักสูตร และเอารายการค่าใช้จ่ายพัฒนาศักยภาพมาเป็นค่าใช้จ่ายในการที่สามารถลดหย่อนภาษี ในส่วนของเจ้าพนักงานทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้เกิดโครงการที่พัฒนาศักยภาพได้จริงโดยเชื่อมประสานกับคนที่มีประสบการณ์ในด้านนั้นๆมาร่วมอบรม  ที่ผ่านมามีกรณีของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง พาแรงงานต่างด้าว มาจัดอบรมหลักสูตรการก่ออิฐเบื้องต้น เทคนิคการก่ออิฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการอบรมเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

 

(4) กรมการจัดหางานชี้สถานการณ์ปัจจุบันภูเก็ตขาดแคลนแรงงาน แต่ติดปัญหาการหมดอายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคน ตามมติ ค.ร.ม. 13 กุมภาฯ 66 เสี่ยงผลกระทบแรงงานออกนอกระบบ ซึ่งรอจนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หวั่นกระทบสิทธิประกันสังคม และการตกหล่นสิทธิต่างๆของแรงงานข้ามชาติ

 hrdf_230427-5

 

ช่วงที่ 3 ของการเสวนาหัวข้อ “การบริหารจัดการแรงงาน ข้อจำกัดและข้อท้าทายทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในการทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” วิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ฉัตร จับปรั่ง นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจัดหางานจังหวัด, ไพรัช บุญชู นักวิชาการ ประกันสังคม และ ธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต โดยตัวแทนทั้ง 3 ท่านได้เน้นให้เห็นภาพการดำเนินงานและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต ข้อท้าทาย และข้อจำกัดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการรับมือกับการเปิดจังหวัดหลังการท่องเที่ยวภูเก็ตกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง

ฉัตร จับปรั่ง นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า  สถานการณ์ปัจจุบัน 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการหมดอายุของใบอนุญาตทำงานพร้อมกันทั่วประเทศ ยกเว้นกลุ่ม MOU จึงเกิดการต่อใบอนุญาตประมาณ 2 ล้านกว่าคน จึงเกิดปัญหาเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ตัวแรงงานข้ามชาติเกิดปัญหาตั้งแต่กระบวนการขึ้นทะเบียน 1.ข้อมูลไม่ตรง นำมาเชื่อมระบบไม่สามารถดำเนินการได้ 2.กรณีเปลี่ยนนายจ้าง ไม่แจ้งออก จนใบอนุญาตทำงานหมดอายุกลายเป็นคนผิดกฎหมาย กรณีนี้มีจำนวนเยอะมาก  3.การลาออกจากงาน กฎหมายระบุว่าต้องหางานภายใน 60 วัน แต่แรงงานข้ามชาติไม่รู้บางทีไปทำงานในภาคเกษตร สวนยาง ปล่อยจนแรงงานหมดสถานะไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ นี้คือ 3 ปัญหาที่เจอจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อแรงงานข้ามชาติที่จะทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย สิ่งนี้สร้างวงจรอื่นๆที่นำไปสู่การเข้าไม่ถึงสิทธิของแรงงานตามมา

“ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา จำนวนการต่ออายุแรงงานข้ามชาติ มีประมาณ 50,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต่อจนถึง 15 พฤษภาคม 2566 โดยต้องแนบเอกสารให้ครบ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปก่อนสถานการณ์โควิด-19 ประมาณ ปี 2562 แรงงานข้ามชาติ มีประมาณ 60,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมคนไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ในช่วง ปี 2563 – ปี 2565 สถานการณ์โควิดระบาดทำให้แรงงานหายไปจากทะเบียนเหลือเพียง 30,000 คน ซึ่งปัจจุบันจำนวนแรงงานที่กลับเข้ามานั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการระบบตลาดแรงงานเพราะภูเก็ตมีความต้องการแรงงานข้ามชาติประมาณ 68,000 คน” ฉัตร จับปรั่ง นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต

ฉัตร เน้นย้ำว่า บทบาทหน้าที่หลักของ กรมการจัดหางาน คือการดูแลพิจารณาให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และบริการนำเข้าแรงงานให้ประสงค์ความต้องการของภาวะตลาดแรงงาน หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ดีขึ้นนั้นสถานการณ์ในการจ้างงานภูเก็ตมีความต้องการแรงงานสูงขึ้น แรงงานต่างชาติจึงเริ่มยื่นความประสงค์มาที่กรมจัดหางาน เพื่อดำเนินกระบวนการขอใบอนุญาตแรงงาน ทำวีซ่า พาสปอร์ต และต้องขอใบอนุญาตทำงาน ( work permit) ความเกี่ยวข้องอื่นๆ คือเมื่อลูกจ้างแรงงานข้ามชาติทำงานที่สถานที่เดิมไปแล้วอยากเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ก็สามารถยื่นขอกับทางทะเบียนเพื่อเปลี่ยนนายจ้างเพื่อการแจ้งออกและสิ้นสุดระยะการทำงาน ในส่วนของ ข้อจำกัดและข้อท้าทายที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการทำงาน สถานการณ์ตอนนี้ภูเก็ตขาดแคลนแรงงาน ซึ่งรวมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เมื่อ3 เดือนที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 17,000 อัตรา ทุกวันนี้ก็อยุ่ที่ประมาณ 3,000 อัตรา  ซึ่งกิจกรรมหลังจากนี้คือกรมการจัดหางานจะจัดกิจกรรม job expo วันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ เพื่อระดมหน่วยงานบริษัทต่างๆ ซึ่งรวมทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติรวมถึงอาชีพอิสระ

“ข้อจำกัดเรื่องของการรับแรงงานเข้าทำงาน สำหรับจัดหางานมองว่าที่เจออุปสรรคที่ผ่านมามองว่าการศึกษาในระดับ Visa Non-B แรงงานที่เจาะจงอีกเช่นแรงงานเพื่อนบ้าน เราถามว่าแรงงานเมียนมาจำเป็นไหมต้องมาเป็นกรรมกรอย่างเดียว จำเป็นไหมต้องมาเป็นแรงงานประเภทกลุ่ม NON-L มีสัญชาติเมียนมาหลายคนที่เขามีความรู้มีทักษะเฉพาะด้าน ไปขอวีซ่าเป็นกลุ่ม Visa Non-B เพื่อที่จะทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น แถวป่าตอง ความรู้ความเข้าใจทางภาษาจึงเป็นตัวสำคัญ การเข้าถึงกฎหมายไทยก็เป็นเรื่องสำคัญ บางคนมาอยู่มากินมาทำงานไม่รู้ว่าตัวเองถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ทั้ง ๆที่ตัวเองถือเอกสารครบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจเขาไม่รู้ว่าเอกสารที่มีอยู่คืออะไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าส่งสาร เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้มาแล้วสิ่งที่เขาจะได้รับคืออะไร อุปสรรคสำคัญที่จะทำให้นายจ้างเข้าถึงกันก็คือความเข้าใจในเรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ”ฉัตร จับปรั่ง นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต

ไพรัช บุญชู นักวิชาการ ประกันสังคม กล่าวว่า  สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ปี 2563-2565 นั้น ประกันสังคมมีโครงการที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติพอสมควร  เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประกันสังคมให้สิทธิคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่มาขึ้นทะเบียนประกันสังคมเป็นคนงานก่อสร้าง และตามลงมาเป็นแรงงานประมงส่วนใหญ่ แรงงานข้ามชาติที่ประสบเหตุว่างงานตอนสถานการณ์โควิด-19 โดยหลักการประกันสังคมเราเคยจ่ายกรณีว่างงานเหตุเกิดสุดวิสัย คือเมื่อติดโรคโควิดถึงจ่าย แต่เมื่อสิ้นโควิดประกาสเป้นโรคประจำถิ่น แรงงานข้ามชาติว่างงานไม่ค่อยมีขึ้นทะเบียนเท่าไหร่ ที่จะมาเพิ่มขึ้นหลังโควิด คือเรื่องประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น ตกตึก อุบัติเหตุนั่งร้าน เหยียบตะปู ในส่วนของแรงงานประมงไม่ค่อยมีตัวเลขเพราะส่วนใหญ่สูญหาย

“สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็คือ ตั้งแต่คลอด เกิด ตาย เจ็บป่วย ทุพลภาพ เสียชีวิต จะสังเกตได้ว่าทางประกันสังคมจะใช้สิทธิถือว่าเป็นแรงงานต่างด้าวหรือข้ามชาติก็ใช้สิทธิเดียวกับคนไทย…เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุด ตัวอย่างจาดจัดหางานบอกว่า มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 50,000 คน ผมเช็คมาล่าสุดของจังหวัดภูเก็ต เรามีสัญชาติลาวประมาณ 137 รายที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม พม่ามี 16,274 ราย กัมพูชามี 70 ราย และสัญชาติอื่นๆอีก 4,326 ราย รวมเป็น 20,801 ราย อันนี้คือที่ขึ้นทะเบียนล่าสุด ณ มีนาคม 2566 เป็นยอดที่ผู้ประกันตนต่างด้าวผ่านมาทางจัดหางาน แล้วก็เป็นกลุ่มที่มีเอกสารถูกต้องที่นายจ้างนำมาขึ้นทะเบียน”  ไพรัช บุญชู นักวิชาการ ประกันสังคม

ในส่วนของประกันสังคมนั้น ไพรัช กล่าวต่อว่า งานในส่วนที่กล่าวข้างต้นเป็นการต่อยอดจากกรมจัดหางาน เพราะเมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ แต่มีข้อหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดเมื่อมีลูกจ้าง 1 คน นายจ้างจะต้องขึ้นทะเบียน แต่ที่เจอสถานประกอบการที่มีลูกจ้างน้อยราย กลุ่มนี้คือ นายจ้างเมื่อมีลูกจ้าง 1-2 คนไม่ยอมมาขึ้นทะเบียน จะมาขึ้นต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเจ็บป่วยมีคดีถึงจะเห็น บุคคลธรรมดาจ้างพม่า 1 คน แต่ไม่ยอมขึ้นทะเบียนเมื่อเกิดเหตุทั้งหลายถึงจะมาเจอ สอบไปสอบมาถูกต้องทุกอย่าง นายจ้างก็ต้องเสียค่าปรับต้องดำเนินคดีกับนายจ้าง ยกตัวอย่าง แรงงานประมงมีหลายเคสที่นายจ้างไม่ยอมมาขึ้น พอแรงงานเสียชีวิตก็ไปสอบเจ้าหน้าที่ถึงเจอ กรณีเหล่านี้จึงแดงขึ้นเมื่อคนงานตาย…เวลาเราออกตรวจเราไม่ค่อยเจอ เพราะบุคคลธรรมดาเขาไปทำงานที่อื่นมีบริษัทไม่มีตัวตนออกไปทำงานนอกพื้นที่ นี่คือปัญหา อีกกรณีคือนายจ้างขึ้นทะเบียนแต่ไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ก็ต้องทำตามมาตรการคือยึดอายัติทรัพย์สินนายจ้าง เจตนาขึ้นทะเบียนของนายจ้างครั้งแรกอาจต้องการใช้แรงงานอย่างถูกต้องแต่หลังจากนั้นก็ไม่จ่ายค้างหนี้ ส่วนใหญ่ที่เจอคือบริษัทก่อสร้าง

ธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต  กล่าวว่า อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่ากรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน มีกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับ ด้วยกัน ทั้งหมดหลายตัวแต่วันนี้จะยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมา 2 ตัว คือ กฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัย และกฎหมายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ สถิติ  2564-2566 มีลูกจ้างสัญชาติเมียนมาใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าชดเชย การเลิกจ้าง ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานล่วงเวลาต่างๆ หรือว่าค่าจ้างขั้นต่ำ  ปี 2564 มีจำนวน 192 ราย สัญชาติอื่นๆ 25 ราย รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 17 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการตามกฎหมายมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายไปประมาณ 19 ล้านบาท  ซึ่งตัวเลขการสอบสวนไป-มาทำให้เห็นว่าตัวเลขมันค่อนข้างเกินมากกว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การ เราก็สามารถสั่งต่อไปได้ ปี 2565 สัญชาติเมียนมา 41 สัญชาติอื่นๆ 21 เรียกร้องเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประมาณ 8.6 ล้านบาท ปี 2566 มีสัญชาติเมียนมา 26 ราย สัญชาติอื่นๆ 7 ราย เงินที่เรียกร้องประมาณ 1.4 ล้านบาท เจ้าหน้าที่สั่งไปแล้ว 1 ล้าน 1 หมื่นบาท และอยู่กระบวนการพิจารณาให้นายจ้างจ่ายอีก 3 แสนบาท ทั้งหมดนี้เพื่อแสดงว่าการสั่งให้นายจ้างจ่ายนั้นมีตัวเลขประมารเท่าไหร่ แต่ก็เกิดคำถามว่าแรงงานข้ามชาติจะได้เงินชดเชยเหล่านี้จริงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่นายจ้างเองก็มิสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่เขาได้คำสั่ง ถ้าเขาไม่อุทธรณ์ช่องทางไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินตามคำสั่งเจ้าหน้าที่มีขั้นตอนกระบวนการอยู่ตรงนี้

“ไม่ว่าแรงงานสัญชาติใดเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองเหมือนกันเหมือนคนไทยไม่แตกต่าง ในช่วงแรกๆที่ภูเก็ตมีการพูดคุยในวงสนทนาทั่วไปว่าทำไมจ้างแรงงานเมียนมา เขาบอกว่าค่าจ้างถูก จริงๆเป็นความคิดที่ผิด เพราะคุณต้องจ่ายตามค่าจ้างขั้นต่ำไม่น้อยกว่าที่กำหนดในประเทศไทย…ณ วันนี้ ค่อนข้างที่จะน้อยแล้วความคิดนี้ เขาต้องปฏิบัติเหมือนกันกับคนไทยธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต

ธนพงศ์ ทิ้งท้าย เรื่องความท้าทาย มี 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของการคุ้มครองแรงงานในด้านความปลอดภัยในการทำงาน 2.คุ้มครองแรงงานจากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานประมง ตอนนี้ทางสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…กำลังสัมภาษณ์ลูกจ้างที่เป็นสัญชาติแรงงานทั้งหมด สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพการจ้างการทำงานทั้งหมดประมาณ 1,400 กว่าคน ให้ได้ข้อเท็จจริงข้อเท็จจริงด้านการจ้างงาน ว่าคุณไม่ได้ทำงานไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ตอนนี้ดำเนินการไปเพียง 200 กว่าคน ซึ่งความท้าทายคือการสัมภาษณ์ข้อเท็จจริง ว่าจะถามอย่างไร ให้เขาเชื่อใจเจ้าหน้าที่…ซึ่งการค้ามนุษย์มันสัมพันธ์กับความต้องการที่รัฐบาลอยากได้ เทียร์ 1 แต่ไม่พ้นเทียร์ 2 สักที จึงมุ่งแก้ปัญหา IUU Fish ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2558

“ความท้าทายเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ถ้าแรงงานบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการทำงาน เนื่องจากไม่ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล…ดำเนินคดีนายจ้าง และโทษกฎหมายความปลอดภัย โทษแรง โทษปรับประมาณ 100,000 บาทต่อเคส ในฐานะนิติบุคคล 100,000 บาท ฐานะกรรมการ 100,000 บาท รวมประมาณ 200,000 บาท/คน เมื่อลูกจ้างเสียชีวิตในโทษของค่าปรับ ส่วนเรื่องกองทุนเงินทดแทนก็อีกส่วน แต่ ณ วันนี้แรงงานต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องอุปกรณ์ safety ต่างๆในเบื้องต้น ไม่ว่าจะงานภาคก่อสร้าง ภาคประมง…”ธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต

 

(5) สหพันธ์แรงงานฯ สะท้อนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติสร้างหนี้แรงงานสูงเพราะต้องพึ่งพานายหน้า-ค่าใช้จ่ายสูง-หน่วยงานรัฐมีขั้นตอนยุ่งยากต่อการจัดการด้วยตนเอง ภาคประชาสังคม เสนอรัฐควรมี ONE-STOP-SERVICE ลดปัญหาแรงงานออกนอกระบบจากปัญหาการอาศัยนายหน้า-การขึ้นทะเบียนที่ซับซ้อน

hrdf_230427-6

 

ช่วงที่ 4 ของการเสวนาหัวข้อ “การหาแนวทางการทำงานและความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในการทำงานในประเทศไทย” วิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ อดิศร เกิดมงคล Migrant Working Group (MWG), วิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรม และบริการภูเก็ต และรษิกา ชาญณรงค์ ตัวแทนแรงงานจังหวัดภูเก็ต

วิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรม และบริการภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องกลไกข้อกฎหมายในเรื่องของการไม่สามารถต่อ work permit กับแรงงานข้ามชาติได้นั้น ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งจำเป็นต้องประสานความร่วมมือทั้งแรงงานคนไทย ลูกจ้างคนไทย ลูกจ้างต่างชาติ ให้เห็นความจำเป็นของแรงงานข้ามชาติร่วมกัน เพราะสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต ไม่ใช่แค่เรื่องไม่มีแรงงานแต่งานที่ตำแหน่งว่างไม่ตรงกับความสามารถ พี่น้องแรงงานข้ามชาติ  ซึ่งงานบางอย่างพี่น้องข้ามชาติช่วยเติมเต็มตรงนี้ให้กับคนไทย ดังนั้น ในเรื่องของแรงงานนั้นในภาพรวมจึงเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องไปให้ถึงค่าแรงที่เป็นธรรมถึงจะดึงดูดแรงงานทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนเรื่องแรงงานข้ามชาตินอกจากผลักดันผ่านหน่วยงานภาครัฐยังมีส่วนของการเมือง และอย่างที่ทราบว่าช่วงนี้ของประเทศไทยคือช่วงของการเลือกตั้ง ซึ่งมีพรรคการเมืองที่เสนอเรื่องแรงงานข้ามชาติมาเล่นคือ พรรคก้าวไกล มาพูดถึงเรื่องการรับรองแรงงานข้ามชาติให้สามารถจัดสหภาพแรงงานได้ ซึ่งเรามองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ อีกพรรคหนึ่งพรรคสมานฉันท์แรงงานไทย ก็มีนโยบายแรงงานอีก พรรคอื่นๆที่ไม่ได้ติดตามก็มี การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหวังว่าฝั่งประชาธิปไตยจะได้เป็นรัฐบาลก็มีความหวังว่ามันจะไม่เหมือนเดิม หรือมีการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไป

“ที่บอกว่าการทำ work permit ต้องผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งมันก็มีค่าใช้จ่ายสูง คนที่เขาทำเขาก็ลำบากอยู่แล้ว มันก็ยิ่งเพิ่มความลำบากให้เขาอีก แต่ผมก็เข้าใจว่าถ้าเขาไปทำเองไปเดินเรื่องเองมันคงยุ่งยาก เขาต้องไปสำนักงาน แทบจะไปรอใต้เต้นเกาะผีหน้าสำนักงานจัดหางานเต็มเต็นท์หมด แต่ในเมื่อว่ารัฐบาลและทางจังหวัดโดยท่านแรงงานจังหวัดบอกว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติเขาสำคัญและเขาจำเป็นกับชีวิตเราและทำไมเราไม่หาทางทำให้ได้ง่ายๆกว่านี้ได้ไหม เพื่อให้เขาได้ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำทุกอย่างอยู่บนโต๊ะมันจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูเก็ตไปได้งามกว่านี้วิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรม และบริการภูเก็ต

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Worker Group) กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือการดึงแรงงานที่ออกนอกระบบให้กลับเข้าสู่ระบบ หลังสถานการณ์โควิดความต้องการแรงงานสูง ปัญหาปัจจุบันคือรัฐบาลมีความกล้าไหมเรื่องที่เข้าสู่ ค.ร.ม.ในการ ในส่วนต่อมาเศรษฐกิจภูเก็ตนั้นโตจากฐานการบริการ และมีแผนพัฒนาจังหวัด โดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็พยายามจะทำให้ภูเก็ตเป็น medical hub มีศูนย์บริการทางการแพทย์ให้นักท่องเที่ยว คำถามจึงเกิดว่าแล้วคนที่ทำให้ทำงานให้ภูเก็ตไปต่อได้เชิงเศรษฐกิจได้รับบริการจากสาธารณสุขดีหรือไม่ซึ่งควรเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ประกันสังคมวันนี้มีตัวเลขจากแรงงานข้ามชาติประมาณ 20,000 คน จากทั้งหมด 50,000 คน จึงเป็นเรื่องท้าทายในอนาคต นอกจากนี้มันควรมีแผนการบริหารจัดการพื้นที่ภูเก็ตทั้งระบบโดยรวมแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ ซึ่งในขณะนี้ช่วงเวลาที่รัฐบาลรักษาการ. พอแบบนี้จะเอาต่อไม่เอาต่อขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่มีผล ช่วงเวลานี้ควรเปิดในคนที่อยู่นอกระบบได้กฎหมายใช้ในช่วงแก้ปัญหาแรงงานขึ้นทะเบียน ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นโจทย์ทุกภาคส่วนในภูเก็ตตั้งคำถามถึง ผู้จะมาสมัครเป็น ส.ส.หรือทำงานการเมืองที่มาหาเสียง ถ้าภูเก็ตยังต้องการแรงงานหลายภาคส่วน ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้การจ้างแรงงานแบบนี้อยู่ ท่านมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร มีทิศทางเรื่องนี้อย่างไร นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาเรื่องความยุ่งยากซับซ้อนของการขึ้นทะเบียนขอเสนอ one stop service เรื่องการขึ้นทะเบียน เรื่องการจัดหางาน เพื่อลดความยุ่งยากของการขึ้นทะเบียนแรงงานด้วย

“เมืองจะน่าเที่ยวไม่ได้ถ้าเรายังมีความเสี่ยงทางสุขภาพของกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ โจทย์ที่สามารถขายได้คือการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยที่สะอาดเหมาะกับทุกคน ซึ่งควรเริ่มจากฐานที่ทำให้ทุกคนที่อยู่ในภูเก็ตมีความสุขภาพดีรวมถึงแรงงานข้ามชาติ.” อดิศร เกิดมงคล

รษิกา ชาญณรงค์ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันตอนนี้สถานการณ์ทั้งจังหวัดภูเก็ต มีการขาดแคลนแรงงานประมาณ 2,000 กว่าคน ถือเป็นการขาดแคลนโดยปกติ ต่อมาจะเป็นเรื่องของแผนการจัดการภูเก็ต การจัดการแรงงานอย่างยั่งยืน งานตอนนี้เดินแล้วเรื่อง 10 เสาการพัฒนา ของกระทรวงแรงงานเองก็เดินเรื่องการจัดการแรงานอย่างยั่งยืนในปี 2566 -2570  ซึ่งจะมีการประชุมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดวันที่ 26 เม.ย.นี้ แต่เราขาดเรื่องแผนของแรงานข้ามชาติ เราถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นเรื่องของกลไกหลักของการพัฒนาประเทศไทย

“เราขาดเรื่องแผนของแรงงานข้ามชาติ เราถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นเรื่องของกลไกหลักของการพัฒนาประเทศไทย เรายืนยันว่าเราขาดท่านไม่ได้ นโยบายการดูแลแรงงานเพื่อให้ทำงานในประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ เราคิดว่าเราจะดุแลท่านได้อย่างไรภายใต้กลไกต่างๆ ภายใต้ 5 เสือ ร่วมทำงานกันอย่างสอดรับซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นเรื่องหลักการ” รษิกา ชาญณรงค์ แรงงานจังหวัดภูเก็ต

ประเด็น 3 เรื่อง ความจำเป็นต้องขับเคลื่อนในภูเก็ตเรื่องแรงงานข้ามชาติ คือเรื่องของการเจรจาทุกฝ่ายต้องมาเจรจาว่าเกิดปัญหาอะไร ซึ่งก็เห็นว่ายังมีปัญหาหลายเรื่อง เรื่องของแรงงานต่างด้าวตอนนี้ภูเก็ตต้องแรงงานสูงเพราะเป็นงานที่ต้องการคนกลุ่มนี้เข้าไปทำตอนนี้แย่งตัวกัน เรามองว่าถือเป็นโอกาสด้วยไม่ถือว่าเป็นวิกฤต แต่มีเรื่องหนักใจว่าพออยู่กันเป็นกลุ่มก้อนคือเรื่องขยะ เป็นปัญหาของโรคการขับเคลื่อนภูเก็ต เช่น เกาะสิเหร่ เมื่อคุยกันเรื่องหน่วยงานราชการรัฐบาลให้กับแรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องให้มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเอาแรงงานข้ามชาติเข้ามาเยอะ เพราะภูเก็ตเป็นบริบทเฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่นในประเทศไทย  เราสามารถเขียนบริบทเฉพาะได้ผ่านนโยบาย ผ่านขอระเบียบต่างๆ เสนอไปข้างบน ช่วยกันดูแล ปัญหาขยะอย่าให้เกิด ผู้ประกอบการดูแลเขาอย่าให้ เขาได้รับควาทุกข์ทรมาน หรือถูกเอาเปรียบ ประเทศพม่าเองเริ่มดึงคนตนเองกลับประเทศของเขา ครั้งทำ MOU ล่าสุดทำยากมาก เขาต้องการให้เขาทำประเทศของเขาและมีพี่ใหญ่จีนเข้าไป (18.30) แรงงานจังหวัดทำในฐานะดูแลพี่น้อง สำนักแรงงาน รวมงานของ 5 เสือ พร้อมเสนอไปข้างบน ผู้ว่าวฯ ให้ความสำคัญกับทุกแรงงานทั่วประเทศ ลึกไปถึงลูกหล่านภูเก็ต พัฒนาอย่างไร ให้ภูเก็ต

“ประเทศจีนเข้าไปจัดการในพม่าพี่น้องพม่ารู้ดี เข้าไปจัดการในพื้นที่เช่าพื้นที่ทำการเกษตรต่างๆ เขาเริ่มดึงคนของเขากลับประเทศของเขา นี่เป็นปัจจัยที่ซึ่งเราต้องรับรู้ ครั้งที่ทำ MOU ครั้งล่าสุด เราทำยากมากเพราะว่าเขาไม่ยอมทำกับเรา เหตุเพราะว่าเขาต้องไม่ต้องการให้คนของเขามาที่บ้านเราอีกแล้ว เขาต้องการให้คนของเขาทำที่ประเทศของเขาแล้วมีพี่ใหญ่มีทีมเข้าไป อันนี้คือข้อจำกัด และเป็นประเด็นร้อน”  รษิกา ชาญณรงค์ แรงงานจังหวัดภูเก็ต

 

 

………………………………………………………………………………………………………………………..