แถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและภาคประชาสังคม เรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย


แถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและภาคประชาสังคม

เรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย


จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 ต่อรัฐสภา ด้านการประมง โดยรัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีจึงได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 240/2566 ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 22 ราย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธานกรรมการ

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาประมงที่ผิดกฎหมาย และมีแนวนโยบายคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลมาอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายหลักคือการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงไทยที่มีความยั่งยืน และได้รับการยอมรับในตลาดโลก ขณะเดียวกันก็พบอุปสรรคในเรื่องมาตรการที่เข้มงวดและความล่าช้าของระบบการดูแลในเรื่องการทำการประมงของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวประมง จนทำให้รัฐบาลมีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาอุตสากรรมประมง อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาของประมงทะเลยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เช่น การขาดแคลนแรงงานประมง ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานประมง การค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในงานประมง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมประมงทะเลจึงควรทำโดยมีมิติที่รอบด้าน เพื่อมุ่งไปสู่การประมงที่ยั่งยืนทั้งในกิจการประมงทะเลและอาหารทะเล

โดยการพยายามยกร่างกฎหมาย จำนวน 8 ร่าง ดังนี้

  1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    เสนอโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรรคเพื่อไทยกับคณะ
  2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทยกับคณะ
  3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    เสนอโดย นายคอชีย์ มามุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐกับคณะ
  4. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    เสนอโดย นายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลกับคณะ
  5. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลกับคณะ
  6. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    เสนอโดย นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์กับคณะ
  7. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25.
  8. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. …
    โดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 (2)

จากแนวนโยบายและความพยายามในการแก้ไขปัญหาประมงของรัฐบาลและผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นความตั้งใจในการพัฒนาประมงไทยที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามจากทิศทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อสังเกตและข้อกังวลใจ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่อการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานในงานประมง ดังนี้

  1. ข้อเสนอยกเลิกควบคุมการขนถ่ายกลางทะเลของสัตว์ทะเลที่จับได้และการขนถ่ายลูกเรือกลางทะเลระหว่างการประมง เนื่องจากในอดีตไม่มีการควบคุมทั้งสองประเด็นนี้ ทำให้แรงงานประมงต้องทำงานอยู่บนเรือเป็นระยะเวลานานในลักษณะกักขังในทะเล กลายเป็นที่มาของการบังคับใช้แรงงานซึ่งขัดต่อข้อกำหนดทางจริยธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct) ของคู่ค้าระหว่างประเทศ
  2. แรงงานเด็กในกิจการประมงทะเล ในปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานประมงทะเลกำหนดอายุแรงงานที่ทำได้คือ ไม่ต่ำกว่า 18 ปี ทั้งนี้ กฎหมายไทย กฎหมายระหว่างประเทศ และในมาตรฐานทางการค้าของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของไทยระบุว่างานในเรือประมงถือเป็นงานอันตรายสำหรับเด็ก ดังนั้นความพยายามจะแก้ไขในเรื่องการกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถฝึกงานในกิจการประมงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้แรงงานเด็กในงานอันตรายมากยิ่งขึ้น
  3. การขยายเวลาในการทำประมง ปัจจุบันกำหนดให้ทำประมงได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน หากขยายเวลาการทำประมงเป็นครั้งละไม่เกิน 60-90 วัน จะมีผลความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานเรื่อง วันหยุด วันลา การเข้าถึงกลไกร้องเรียน และการคุ้มครองสิทธิ
  4. การยกเลิกระบบการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร ปัจจุบันการให้จ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร หากมีการยกเลิก ส่งผลให้มาตรการในการตรวจสอบเรื่องการคุ้มครองแรงงานในเรื่องการจ่ายค่าจ้างค่าแรงที่มีหลักฐานลดลง ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมการละเมิดสิทธิแรงงาน และลดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลจากกลไกการคุ้มครองเดิม
  5. ***การเปลี่ยนการจ่ายค่าจ้างรายเดือนเป็นการจ่ายค่าจ้างรายวัน การจ่ายค่าจ้างรายวันเป็นช่องว่างต่อการจ่ายค่าจ้าง แรงงานอาจจะไม่ได้รับค่าจ่ายที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นายจ้างควรต้องจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานประมงอย่างน้อยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคูณด้วย 30 วัน
  6. การขยายระยะเวลาแก้ไขรายชื่อลูกเรือหลังการแจ้งออก ซึ่งเปิดช่องว่างให้มีการลักลอบนำคนงานขึ้นเรือหลังจากการตรวจสอบที่ท่าเรือแล้วเสร็จ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการใช้แรงงานไม่มีเอกสารและอาจนำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์  

ซึ่งผลกระทบสำคัญนอกจากจะเกิดขึ้นต่อการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงแล้ว ยังกระทบโดยต่ออุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในตลาดโลก โดยในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีมููลค่่าการส่่งออก 5.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (1.72 แสนล้านบาท) และเมื่อพิจารณาจากประเทศคู่ค้าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย จะพบว่ามากกว่า 60% เป็นประเทศที่มีมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานบังคับอย่างเข้มข้น จึงเป็นความกังวลใจว่าหากทิศทางในการแก้ไขกฎหมายและมาตรการการทำประมงที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน การบังคับใช้แรงงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเล และเศรษฐกิจการค้าไทยในตลาดโลกในภาพรวมด้วยเช่นกัน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยในแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับประมงทะเลดังนี้

  1. ขอให้พิจารณาทบทวนการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อมและขัดต่อข้อกำหนดทางการค้าอาหารทะเล ทั้ง 6 ประเด็นข้างต้น และขอให้ชะลอการนำเสนอกฎหมายหลักและกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะส่วนที่จะมีผลกระทบทั้ง 6 ประเด็นไปก่อนจนกว่าจะมีการร่วมกันพิจารณานำเสนอความเห็นของทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน
  2. จัดตั้งคณะกรรมการการหารือที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ได้เสียทุกภาคส่วน (Social Dialog) ตามกรอบอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ. 2007 เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอและแก้ไขกฎหมายด้านการประมงที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองแรงงานและการทำประมงที่ยั่งยืน 
  3. รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้มีความสอดคล้องต่อมาตรฐานแรงงานพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและข้อกำหนดทางการค้าด้านอาหารทะเล

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติยืนยันในหลักการการแก้ไขปัญหาประมงทะเลไทย ต้องวางบนพื้นฐานของการลดทอนความยุ่งยากของระบบราชการ เคารพและคุ้มครองในสิทธิแรงงาน ทำการประมงที่ยั่งยืน เพื่อให้กิจการประมงและอาหารทะเลไทยยืนหยัดในเวทีการค้าระหว่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

18 มกราคม 2567