กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมฯ แถลงปัญหาด่วนประเด็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติในประเทศไทย ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการค้ามนุษย์-เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยการเมือง และกลุ่มบุคคลที่หนีภัยความรุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน
|
7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.30 น.ที่ รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ รวมถึงองค์UN ต่างๆ และผู้แทนจากสถานทูตที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นที่ปรึกษาและคณะทำงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักของอนุกรรมาธิการคือ กลุ่มผู้ลี้ภัย กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มบุคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เด็ก ผู้หญิง และผู้พิการ ซึ่งมีประมาณ 4-5 ล้านคนในประเทศไทย ในวันนี้ได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ หลังจากได้ลงพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตและอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก โดยเน้น 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ปัญหาการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน 2.ปัญหาการจัดการด้านสถานะบุคคลและเอกสารประจำตัวของผู้ย้ายถิ่นไม่ปกติ และ พระราชบัญญัติ (พรบ.) คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไม่สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงการย้ายถิ่นของประชากรในปัจจุบัน และ พรบ.อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดการลดทอนสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ ซึ่งหลังจากนี้จะนำข้อค้นพบทั้งหมด นำสู่ขั้นตอนสรุปการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในหลายระดับต่อสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล เพื่อพิจารณาวางกรอบการปรับปรุงแก้ไขเชิงโครงสร้างทั้งในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย พรบ.คนเข้าเมือง พรบ.สัญชาติ การจัดทำกฎหมายผู้ลี้ภัย การแก้ไขปัญหาเชิงการจัดการประชากร และ การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเข้ามามีหน้าที่รับผิดชอบต่อกลุ่มดังกล่าวเป็นการเฉพาะต่อไป
การขาดสิทธิและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน-ปัญหาเอกสารและสถานะบุคคล-และการไม่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ
คณะอนุกรรมาธิการ ได้เสนอผลการศึกษาหลังจากลงพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต และอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก พบปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ปัญหาการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน 2.ปัญหาการจัดการด้านสถานะบุคคลและเอกสารประจำตัวของผู้ย้ายถิ่นไม่ปกติ และ 3.พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไม่สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงการย้ายถิ่นของประชากรในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการลดทอนสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ โดย ตัวอย่างกรณีปัญหาการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน อย่างกรณี จ.ภูเก็ต ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (medical wellness hub) แต่กลับพบว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงต้องทำคลอดโดยหมอตำแยที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ส่งผลต่อความปลอดภัยและพัฒนาการของเด็กและเด็กเกลุ่มนี้ไม่มีแม้กระทั่งใบเกิดจนทำให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานจำนวนมากไม่สามารถยื่นขอเป็นแรงงานถูกกฎหมายได้ ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ หากเกิดโรคระบาดในพื้นที่ ระบบสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและประชาชนชาวภูเก็ตก็จะมีความเสี่ยงไปด้วย
นอกจากนี้ กมธ.ยังระบุเพิ่มเติมในพื้นที่ 5 อำเภอในฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก (แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง) อำเภอแม่สอด ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีกิจกรรมการค้าการลงทุนตามแนวชายแดนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีการสู้รบในฝั่งเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเคลื่อนที่ของประชากรมากทั้งเข้ามาอาศัย ทำงานในพื้นที่หรือเป็นทางผ่านการอพยพมาสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศไทย ภาคตะวันตกของจังหวัดตากจึงเป็นตัวอย่างพื้นที่ที่มึความซับซ้อนของปัญหาทำให้เห็นบริบทการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติได้ดีที่สุด โดยมีทั้งแรงงานข้ามชาติ ทั้งแรงงานระยะสั้นและระยะยาว ค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยจำนวน 3 แห่ง และชุมชนชาวชาติพันธุ์ซึ่งจำนวนมากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีตัวอย่างที่ดีเช่นการจัดการระบบสาธารณะสุขในพื้นที่ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข แต่ก็ยังพบปัญหาการลิดรอนสิทธิต่างๆมากมาย เช่น แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีนโยบายการศึกษาถ้วนหน้า (Education for All) และประกาศต่อประชาคมโลกว่าเราผลักดันการเข้าถึงการศึกษาต่อเด็กทุกคนในประเทศไทย แต่การที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมจังหวัดตากเขต 2 ออกประกาศ เรื่อง มาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยโดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนในเขตปฏิเสธการรับนักเรียนต่างชาติบางกลุ่มได้ ในขณะที่มีเด็กเป็นจำนวนมากซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศเมียนมา ทำให้ต้องติดตามพ่อแม่ที่เดินทางเข้ามาทำงานหรือขอลี้ภัยในประเทศไทยต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นคำถามถึงอนาคตของเด็กๆเหล่านี้และเป็นคำถามต่อรัฐบาลว่าการออกประกาศฉบับดังกล่าวขัดต่อ พรบ.การศึกษา และรัฐธรรมนูญของไทยหรือไม่
ในส่วนของ ปัญหาการจัดการด้านสถานะบุคคลและเอกสารประจำตัวของผู้ย้ายถิ่นไม่ปกติ กมธ. พบว่ามีผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติในประเทศไทยอยู่หลายกลุ่ม แต่การจัดการด้านสถานบุคคลและระบบการจัดทำเอกสารของไทยยังไม่สามารถดำเนินการด้านสถานบุคคลได้อย่างครอบคลุมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน โดย กมธ. ได้แยกกลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ลี้ภัยในแคมป์ที่อยู่ในประเทศมากว่า 40 ปี ผู้หนีภัยการสู้รบที่เข้ามาใหม่ ผู้หนีภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกที่พักพิงชั่วคราว ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้ถูกพิจารณาให้สถานะใดๆเลยนอกจากสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้การเข้ารับความคุ้มครองและสิทธิต่างๆมีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และพึ่งพิงแต่องค์กรระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือเป็นหลัก
2. แรงงานข้ามชาติที่มีปัญหาเอกสารประจำตัว หลุดออกจากระบบการจดทะเบียนแรงงานตาม มติคณะรัฐมนตรี ระบบการนำเข้าแรงงานแบบ MOU ที่ยังไม่ตอบโจทย์ทั้งภาคธรุกิจ และการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ในบริบทของประเทศไทยการจ้างงานไม่เป็นทางการมีสัดส่วนสูง ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ
3. ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และประชากรย้ายถิ่นที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา หรือถูกละเมิดแรงงาน ถูกผลักดันกลับโดยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิที่พึงได้รับอย่างครบถ้วน และไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาสม
สุดท้าย ปัญหาด้านกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย กมธ. ได้ยกกรณี พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไม่สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงการย้ายถิ่นของประชากรในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการลดทอนสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ อย่างกรณีการบังคับใช้ พรบ.คนเข้าเมือง เป็นหลักในการจัดการการย้ายถิ่นได้สร้างทัศนคติเชิงลบต่อ หน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษา ทำให้แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงความคุ้มครองและบริการทางสาธารณสุข ทำให้แรงงานข้ามชาติเสียสิทธิที่พึงได้รับจากการชดเชยเยียวยา เมื่อเกิดการละเมิดแรงงานหรือได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้ผู้เสียหายที่ถูกละเมิด หรือเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาได้
อคติต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน สร้างกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ ทั้งการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ อาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมือง
คณะอนุกรรมาธิการ ได้อธิบายการทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาทั้งหมด โดยชี้ให้เห็นปัจจัยที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาค มีความใกล้ชิดทางสังคม วัฒนธรรมและชาติพันธ์ที่ทำให้เกิดการเดินทางติดต่อกันเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกทั้งมีความไม่สงบทางการเมืองและความยากจนในประเทศเพื่อนบ้าน และอัตราเร่งจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาและความต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานข้ามชาติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีลักษณะการย้ายถิ่นแบบผสม (mixed migration) มากขึ้น กล่าวคือมีทั้งผู้คนที่เดินทางเข้ายังประเทศไทยตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดและนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและ/หรือความปลอดภัยในชีวิตตนเองและครอบครัวโดมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ย้ายถิ่นคนหนึ่งจะมีสถานะทางกฎหมายและข้อเท็จจริงมากกว่าหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติ นอกจากปัจจัยจากประเทศต้นทางแล้ว ปัจจัยระหว่างทาง คือช่องทางการย้ายก็ไม่ได้เอื้ออำนวยมากนัก ผู้คนยังไม่สามารถเดินทางข้ามแดนเพื่อปกป้องชีวิตตัวเองได้อย่างถูกกฎหมาย ภาวะการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ยังดำรงอยู่และส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน โดยประมาณการณ์ว่ามีกลุ่มประชากรดังกล่าวสูงถึง 4-5 ล้านคนในประเทศไทย
แม้รัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะมีการสร้างเครื่องมือทางกฎหมายและนโยบายเพื่อนำมาใช้บริการจัดการผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน แต่กฎหมายและนโยบายเหล่านั้นไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นที่เรากำลังเผชิญอยู่ที่มีความหลากหลายมากกว่าหนึ่งสถานะในผู้ย้ายถิ่นหนึ่งคน ขณะที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ การขาดแคลนประชากรวัยทำงานกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นเหล่านี้ทำให้มีปัญหามากมายถูกซุกไว้ใต้พรมและสั่งสมมาเป็นเวลานาน เป็นปัญหาซ้ำซากวนไปวนมาสำหรับประชากรกลุ่มนี้ เช่นกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าระบบแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ยาก เพราะขั้นตอนมีความยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และทำให้แรงงานข้ามชาติถูกผลักออกนอกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายและนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย หลายคนต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ ทั้งที่พวกเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็นและต้องการความคุ้มครองในประเทศไทย บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีรากเหง้าในประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อนในการพัฒนาสถานะเป็นคนไทยของตน ปัญหาเหล่านี้นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและทำให้เกิดการกีดกันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆทั้งการศึกษาและการรักษาพยาบาล จนทำให้เกิดกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นระบบและขยายตัวเป็นวงกว้าง ทั้งการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ อาชญากรรมข้ามชาติเช่น การค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมือง เราขอเน้นย้ำว่า”รัฐบาลเองนี่แหละที่สร้างปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา” และ “เราเองนี่แหละที่กำลังทำนาบนหลังคน”