HRDF ชวนจับตา มติเอกฉันท์ สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการ ร่างกฎหมายประมง ทั้ง 8 ฉบับ

HRDF ชวนจับตา มติเอกฉันท์ สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการ ร่างกฎหมายประมง ทั้ง 8 ฉบับ

จากวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 416 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับที่ สส.เป็นผู้เสนอ

วันที่ 25 ก.พ.2567 บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในเว็บไซต์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยวิสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 กรณี “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ….” ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงคะแนนเสียง มีมติเป็นเอกฉันท์ 416 เสียง “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ทั้ง 8 ร่าง ที่เสนอโดย (1) คณะรัฐมนตรี (2) นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ (3) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กับคณะ (4) นายพิทักษ์เดช เดชเดโช กับคณะ (5) นายคอซีย์ มามุ กับคณะ (6) นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ (7) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กับคณะ (😎 นายวิชัย สุดสวาสดิ์ กับคณะ

โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 37 คน เพื่อพิจารณาร่างฯ ซึ่งในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี ได้เสนอชื่อนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ และกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา

อธิบดีฯ กล่าวในรายละเอียดว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว สืบเนื่องจาก ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทำการประมงผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างสุจริตและได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยรายละเอียดการแก้ไข สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www4.fisheries.go.th/dof/news_local/1210/207918

นอกจากนี้ทางองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีการจัดเวทีเสวนาจับตาการแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ฉบับปลดล็อกแก้ ‘ไอยูยู’ โดยเวทีเสวนา ‘สรุปทิศทางประมงไทยในบริบทการค้าระหว่างประเทศ : ข้อพิจารณาเรื่องสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และมาตรฐานตลาดการค้าอาหารทะเล’ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2567 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ได้เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง – ผอ.EJF หวั่น ‘รัฐบาลเศรษฐา’ แก้ กม.ประมงทำสิทธิมนุษยชนถอยหลัง กระทบส่งออก 1.72 แสนล้านบาท – นายกสมาคมฯ ทูน่าไทย ชี้ประมงไทยไม่ยั่งยืนเพราะ “สกปรก-เสี่ยงสูง-งานยาก/งานหนัก” ถ้ารัฐไม่ส่งเสริมทุกส่วนจะถูกกีดกันทางการค้าโลก – นักวิชาการ มธ. แนะรัฐบาลสร้างมาตรฐานประมงยั่งยืน-สางปัญหา IUU ทำสินค้าให้ได้มาตรฐานยุโรปใส่ใจกระบวนการผลิตแข่งขันได้ทั่วโลก อ่านต่อได้ที่ https://hrdfoundation.org/?p=3438

โดยภาคประชาสังคมจับตาเรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย #ออกแถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและภาคประชาสังคม เรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย ในวันที่ 18 มกราคม 2567 https://hrdfoundation.org/?p=3428