สรุปเนื้อหาแนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP on BHR) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก
|
31 พ.ค. 2567 ที่ โรงแรม เดอะทีค อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกับองค์กรภาคีจัดเวทีสัมมนาว่าด้วย “แนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP on BHR) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาหลัก ได้แก่ อานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างเทศ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จากกระทรวงยุติธรรม, ศราวุฒิ เอี่ยมสำอางค์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดตาก, ธีรชัย วิมล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ จัดหางานจังหวัดตาก, เฉลิมวัฒน์ ตรีรัตน์วัฒนา รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก, สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงาน MAP FOUNDATION, วุฒินันท์ เพชรศรีเงิน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม จังหวัดตาก และตัวแทนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด จ.ตากโดยมีเป้าหมายของเวทีสัมมนาเพื่อนำเสนอความสำคัญและสร้างความเข้าใจของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องด้านงานปกป้อง เคารพ และเยียวยา จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการ แรงงาน และภาคประชาสังคม และเพื่อให้เกิดการแสวงหาการทำงานร่วมกัน และระดมความคิดเห็นที่สามารถนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน
“อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายกลางที่ส่งเสริมภาคธุรกิจเป็นมาตรฐานบังคับเลยครับ ผมได้ยินมาว่า EU มีการออกกฎหมายการทำ HRDD เราเป็นห่วงโซ่อุปทานของเขา อย่างไรไทยก็ต้องดำเนินตามเขาหากอยากจะส่งออก แต่ถ้าเรามีกฎหมายเฉพาะที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน หรือว่ามีมาตรการจูงใจว่าเขาทำแล้วจะได้อะไรกลับมา อันนี้ก็อาจช่วยให้ภาคธุรกิจหันมาเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง” อานนท์ ยังคุณ
อานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างเทศ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จากกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่มาคือการที่ประเทศไทยมีพันธะกิจที่เกี่ยวข้องกับเวทีระหว่างประเทศ ที่จะต้องใส่ใจด้านผลกระทบของภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญคิดค้นกลไกตัวหนึ่งขึ้นมาเพื่อป้องกันในเรื่องประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เครื่องมือตัวนั้น คือ หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ประกอบด้วย 31 ข้อ คิดค้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยสาระสำคัญ UNGPs มีคีย์เวิร์ด 3 คำ 1. Protect 2.Respect 3.Remedy ฉะนั้นหลักการนี้จึงมองว่าการคุ้มครองเป็นหน้าที่ของภาครัฐ รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะต้องมีการเคารพ เป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจที่ต้องประกอบธุรกิจด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน สุดท้าย การเยียวยา รัฐมีหน้าที่คุ้มครอง ภาคธุรกิจต้องเคารพ แต่ภายใต้กรอบการดำเนินธุรกิจ การละเมิดสิทธิมนุษชนยังคงเกิดขึ้น สิ่งสำคัญเราต้องเข้าไปชดเชยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจที่ต้องเข้าไปเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านการเงิน และด้านจิตใจ 3 คำครับ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา
เมื่อปี พ.ศ.2559 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนโดยประเทศไทยต้องรับข้อเสนอแนะ พร้อมทั้งให้คำมั่นในเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review(UPR) รอบที่ 2 ที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมดำเนิน จนกระทั่ง พ.ศ. 2562 ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผน NAP ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562-2565) อย่างเป็นทางการ การประกาศครั้งนั้นทำให้ไทยเป็นประเทศแรกของเอเชียที่มีแผนธุรกิจบังคับใช้ในภาคส่วนต่างๆ โดย NAP ระยะที่ 1 มีสาระสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไข 4 ประเด็น หรือคำย่อว่า L.E.D.I ได้แก่ 1. ด้านแรงงาน (labor) 2.ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (Environment) 3.ด้านนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชน (Defender) และ 4.ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ (Investment)
หลังจากแผน NAP ระยะที่ 1 สิ้นสุดแล้ว ตอนนี้รัฐบาลก็ดำเนินการต่อในแผน NAP ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ระยะดำเนินการ 5 ปีงบประมาณ กระบวนการออกแบบนั้นเกิดจากการลงพื้นที่ รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิพากษ์หลายชั้นผ่านกลไกระดับชาติในเรื่องของคณะกรรมการที่ดูแลสิทธิมนุษชนในภาพรวมของไทย เพื่อจะดูว่าแผน NAP 2 ควรจะเป็นอย่างไร สาระสำคัญประกอบด้วย 2 ภาคส่วน สอดคล้องกับหลักการ UNGP ส่วนแรกภาครัฐรับจะรับผิดชอบ เราใช้มาตรการบังคับภาครัฐให้ดำเนินการเรื่องธุรกิจ โดยใช้อำนาจผ่านมติคณะรัฐมนตรี และอำนาจทางบริหารให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการส่งเสริม กำกับ ติดตามดูแลหน่วยงานภายใต้อำนาจตัวเองว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร อีกส่วนหนึ่งคือ รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจตอนนี้ในแผน NAP 2 ยังเป็นมาตรการสมัครใจ และยังไม่สามารถบังคับรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจได้ เพียงแต่แนะนำและเชื้อเชิญว่าภาคธุรกิจควรจะดำเนินการอย่างไร เป็นการตั้งความคาดหวังของภาครัฐที่มีต่อภาคธุรกิจว่าการจะนำไปสู่องค์กรที่มีความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิมนุษยชน ควรจะดำเนินการอะไรบ้างตามแผน NAP
ข้อเสนอแนะของอานนท์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้แบ่งเป็น 3 ระดับ
- ด้านกฎหมาย มีการตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมในเวทีนี้ทำไมเราถึงขอความสมัครใจจากภาคธุรกิจนั้น ต้องย้ำกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไม่มีอำนาจหน้าที่ให้การสั่งการ แต่ต้องดำเนินการโดยขอความร่วมมือให้ภาคีเครือข่ายภาครัฐดำเนินการภายใต้กรอบหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่าอยากให้มีกฎหมายกลางที่ส่งเสริมภาคธุรกิจเป็นมาตรฐานบังคับ ได้มีการศึกษาว่าทางสหภาพยุโรป ( EU ) มีการออกกฎหมายการทำ HRDD ประเทศไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานภาคธุรกิจกับทางยุโรป เพราะฉะนั้นในการแข่งขันภาคธุรกิจก็จำเป็นต้องดำเนินถ้าเราอยากจะส่งออกสินค้าต่างประเทศ แต่ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายเฉพาะที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน หรือว่ามีมาตรการจูงใจว่าเขาทำแล้วจะได้อะไรกลับมา อันนี้ก็อาจช่วยให้ภาคธุรกิจหันมาเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง
- นโยบาย ประเทศไทยต้องมีมาตรการผลักดันกลไกในระดับจังหวัด ถ้ามีกลไกระดับพื้นที่ว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไข อย่างในแม่สอด จ.ตาก มีความต่างจากพื้นที่อื่นอย่างไร การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระดับพื้นที่
- ส่วนปฏิบัติการ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญเสมอที่ทุกคนมีเสียงในการสะท้อนปัญหา ในแต่ละหน่วยจะมีข้อเท็จจริงที่ต่างกันแล้วเรานำมาคุย หาทางแก้ปัญหาร่วมกันในพื้นที่แม่สอดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน
“เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก จัดตั้งพื้นที่พิเศษขึ้นมาและให้สิทธิพิเศษในการลงทุน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานข้ามชาติในพื้นที่เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรฐกิจ ไทยใช้แรงงานเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติด้วย ไม่ใช่แค่คนไทย ถ้าพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก แรงงานพี่น้องเมียนมาร์มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ศราวุฒิ
ศราวุฒิ เอี่ยมสำอางค์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดตาก กล่าวถึงภาพรวมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 8 แสนกว่าไร่ อยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ 14 ตำบล แม่สอด 8 ตำบล แม่ระมาด 3 ตำบล พบพระอีก 3 ตำบล โดยกลไกการขับเคลื่อนที่มาทำหน้าที่กำกับดูแล จะมีกลไกระดับประเทศ คือ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขาธิการ ซึ่งจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนทุกอย่าง ฉะนั้นในพื้นที่ยังไม่มีหน่วยงานมากำกับดูแล ไม่มีการออกแบบนโยบายระดับพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่มีคณะกรรมการที่ดำเนินขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ จ.ตาก เองก็จะมีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีสำนักงานจังหวัดเป็นฝ่ายเลขาฯ ทำหน้าที่ประสานระดับจังหวัดกับส่วนกลาง แต่ไม่ได้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย เพียงแต่ทำงานให้สอดคล้องเป็นไปอย่างเรียบร้อย
“ ประเด็นใหญ่ด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด คือ 1.นโยบายการจ้างแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะไปกลับ หรือตามฤดูกาลเป็นข้อตกลงร่วมกัน เราก็ต้องจูนกัน เราอาจจะอยากได้แรงงาน แต่ทางพม่าก็ติดปัญหาในพื้นที่และกฎหมายของเขาด้วย ทำให้ลักษณะการพูดคุยเป็นไปได้ยาก การปฏิบัติในพื้นที่ก็ไม่สอดคล้องกันรวมทั้งกฎหมายของไทย เรื่องค่าแรง คนทำงานเขาก็อยากได้เงินเยอะ ถ้าทำอยู่แม่สอดได้เงิน 300 กว่าบาท แต่ไปกรุงเทพฯ ได้ 400 บาท แรงงานก็อยากไปทำงานในที่ที่ค่าแรงสมน้ำสมเนื้อ”ศราวุฒิ
ในส่วนของด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ภาครัฐเตรียมความพร้อมหลายๆ อย่าง โครงสร้างพื้นฐาน การให้สิทธิประโยชน์ ด้านแรงงานก็มีการส่งเสริมการจ้างแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ ส่งเสริมความมั่นคงให้แรงงานต่างด้าวทำงานในพื้นที่ชายแดนเป็นหลัก ไม่เข้าไปในตัวเมืองมาก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ มีการกำหนดให้มีการทำงานไปกลับ ที่กระทรวงแรงงานเปิดให้นำเข้าแรงงานตาม ม.64 (พรก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560) ใน 8 จังหวัด ทำงานบริเวณชายแดนแบบให้ใช้หนังสือผ่านแดน (Border Pass) แทนหนังสือเดินทาง และทำงานได้ไม่เกิน 90 วัน มีการอบรมแรงงาน และให้แรงงานไร้ฝีมือได้รับประกันสุขภาพ ประกันสังคม
“แรงงานภาคเกษตร มีการขึ้นทะเบียน ม.64 ยากมาก เพราะลักษณะภาคเกษตร ด้วยภูมิประเทศของไทยที่ข้ามฝั่งมาเราก็จ้างได้แล้ว การจ้างงานตาม ม.64 จะขึ้นทะเบียนยากสำหรับแรงานกลุ่มนี้ เขาจะมาขึ้นที่สะพานแห่งที่หนึ่งที่แม่สอด แต่มาทำงานอีกที่หนึ่งที่สะพานที่สอง พบพระ หรือแม่ระมาด ก็จะยาก หากกลุ่มนี้มีการขึ้นทะเบียนที่เหมาะสม มีการกำหนดกรอบเวลา หรือวิธีการในการขึ้นทะเบียนตามช่วงเวลาที่เหมาะสมก็สามารถควบคุมการทำงานของเขาได้” ศราวุฒิ เอี่ยมสำอางค์
ศราวุฒิ กล่าวสรุปว่า การทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนแม่สอดเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับทางฝั่งประเทศพม่า มีปัญหาสถานการณ์การเมืองส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง แม้แม่สอดจะมีการจ้างงานจำนวนมากและเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลก แต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ อ.แม่สอด ต่ำมาก ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันการนำเข้าแรงงานข้ามชาติมีจำนวนแรงงานลดลง สิ่งนี้สร้างผลกระทบภาคการผลิต ผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับลักษณะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่การผลิตในพื้นที่เองก็มีลดลง ทำให้แรงงานก็ลดน้อยลงไปด้วย สุดท้ายด้านนโยบายการจ้างข้อจำกัด ด้วยอำนาจกฎหมาย ม.64 การออกใบอนุญาตทำงานกับ border passไม่สอดคล้องกัน ตัวใบอนุญาติทำงาน กรมจัดหางานออกให้ตาม ม.64 ให้เวลา 30 วัน ใน 3 เดือน แรงงานจะต้องไปรายงานตัวทุกๆ 30 วัน ก็มีเสนอว่าให้เป็น 90 วัน ได้หรือไม่ ไม่ให้แรงงานต้องเสียเวลา แต่ข้อเรียกร้องนี้เป็นในระดับพื้นที่ ม.64 ในการตกลงระหว่างประเทศ จะใช้เฉพาะคนที่อยู่เขตเมืองประเทศพม่าในพื้นที่ติดต่อกับประเทศไทยเท่านั้น และใน จ.ตาก ก็มีเพียง 3 อำเภอ แม่สอด พบพระ แม่ระมาด แต่ทางประเทศข้อกำหนดของพม่าจะให้ใช้แรงงานที่มาจากเมืองเมียวดีเท่านั้นที่ออกตาม ม.64 ได้ แต่ก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่อยู่ชายแดนพม่าหลายพื้นที่ ผู้ประกอบการเขาก็พูดเสมอว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากเมียวดี มาจากพื้นที่ชั้นในของเมียนมาร์ ซึ่งเขามีความต้องการเข้ามาทำงานในไทย ส่วนนี้ตัวกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศก็ไม่สอดคล้องกันซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนที่ไทยแก้ไม่ได้เพียงฝ่ายเดียว
“เราอยากเพิ่มพื้นที่อุ้มผาง กับท่าสองยาง จ.ตาก ในการจ้างแรงงานด้วย ม.64 ผมก็พยายามให้กระบวนการของ ม.64 ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องแรงงานเกษตรเอง หรือระยะเวลาการอยู่ให้เท่ากับใบอนุญาตทำงาน” ธีรชัย
ธีรชัย วิมล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ จัดหางานจังหวัดตาก กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ของ ม.64 เกิดขึ้นมายาวนานในการใช้มาตรการจ้างงานชายแดน ปัญหาที่เกิดขึ้นทางฝั่งประเทศไทยได้มีกันพูดคุยหาทางออกกันมานานทั้งหน่วยงานภาครัฐและที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหามีความซับซ้อนเพราะ ม.64 เป็นข้อตกลงที่ไทยทำกับเมียนมาร์ ในบันทึกข้อตกลงตรงนี้ระบุว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะทำได้ในช่องทางการทูตเท่านั้น กระทรวงแรงงานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ต้องมีกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม ดังนั้นการแก้ไขต้องเป็นเรื่องการตกลงระหว่างประเทศ การจ้างงานด้วย ม.64 อยากขยายไปถึงพื้นที่ อ.อุ้มผาง กับ อ.ท่าสองยาง อยากให้กระบวนการของ ม.64 ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องแรงงานเกษตร หรือระยะเวลาการอยู่ให้เท่ากับใบอนุญาตทำงาน เดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมจัดหางานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงต่างประเทศ หน่วยงานความมั่นคง คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เชิญมารับฟังข้อขัดข้องและวิธีการแก้ปัญหา ข้อเสนอของ จ.ตาก และ จ.สระแก้ว คือ เรื่องของการเพิ่มประเภทงานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน และงานขายของให้กับแรงงานข้ามชาติ เพราะสระแก้วมีตลาดโรงเกลือ อย่างแม่สอดก็เสนอเรื่องการขยายเวลาให้เท่ากันการขยาย ม.64 ไปถึง 6 เดือน
“นายจ้างมีข้อกังวลว่าถ้าแรงงานต่างด้าวมีเอกสารถูกต้อง แรงงานเหล่านี้จะเดินทางไปพื้นที่ชั้นใน ทำให้นายจ้างที่ขาดแคลน ม.64 ขาดคนอยู่แล้ว ก็จะไปขาดแคลนกลุ่มมติ ครม.ด้วย พอเขามีเอกสารเขาก็สามารถเดินทางไปทำงานที่ไหนก็ได้ ทำให้นายจ้างไม่อยากจะทำเอกสารประจำตัวบุคคล”ธีรชัย
ธีรชัย กล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญ คือ ผู้แทนจัดหาคนงาน หรือการที่นายจ้างจะไม่ต่ออายุทำให้แรงงานต่างด้าวอยู่ผิดกฎหมาย นายจ้างในพื้นที่แม่สอดพูดกันเยอะว่ากลุ่มแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีจำนวนเยอะที่สุด กลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องนายจ้างมีข้อกังวลว่าถ้าแรงงานต่างด้าวมีเอกสารถูกต้องแล้ว แรงงานเหล่านี้จะเดินทางไปพื้นที่ชั้นใน ทำให้นายจ้างไม่อยากจะทำเอกสารประจำตัวบุคคล ยอดการต่ออายุบัตรของแรงงานในแม่สอดยังมีจำนวนน้อย ซึ่งเป็นข้อกังวลในส่วนนี้ ทั้งหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม อยากให้ผลักดันเรื่องการให้เกิด ม.64 เหมือนเดิม มีการนำเข้าได้เหมือนเดิม เพราะเป็นการเหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนมากที่สุด ปัญหาหรือช่องว่างของ ม.64 การบริหารจัดการการจ้างงานชายแดนหน่วยงานได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ตลอด ธีระชัย กล่าวว่า เคยคุยกับผู้บริหารในเรื่องการมอบให้ จ.ตาก เป็นจุดพิเศษโดยให้อำนาจนายทะเบียนจังหวัดควบคุมดูแลและใช้ ม.63/2 ให้สามารถเกิดการจ้างงานภายในจังหวัดหรือพื้นที่ แต่ภาพรวมนั้นหากกรมจัดหางานดำเนินการจะติดขัดในข้อกฎหมาย และไม่เอื้อให้ผู้ปฏิบัติทำ การบรรเทาความเดือดร้อนต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเรื่องการจ้างงาน ม.64 จึงยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน
“กรมจัดหางานก็จะแก้ปัญหาด้วย ม.63/2 เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานใหม่ขึ้นมา การเปิดแต่ละรอบก็ไม่ได้เปิดง่ายๆ เพราะต้องเข้าประชุม และไปที่คณะรัฐมนตรีก็ยากที่จะเปิดแต่ละรอบ” ธีรชัย
การเปิดจดทะเบียนแรงงานใหม่ ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการอนุมัตจากส่วนกลาง ฉะนั้นหากมองภาพรวมของทั้งประเทศ ไม่ได้มีแค่กระทรวงแรงงานที่ทำให้เกิดการจ้างงานสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ยังมีเรื่องความมั่นคง สังคมอาชญากรรม สาธารณสุข สุขภาพ ซึ่งก็จะมีข้อกังวลและเงื่อนไขอื่นๆ ฉะนั้นการจะเปิดใหม่จึงเป็นเรื่องยาก แต่กระทรวงแรงงานก็เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนใหม่ทุกปี แรงงานจึงต้องรอเป็นรอบๆ อาจจะปีละครั้ง หรือปีละ 2 ครั้ง ระยะเวลา 1 เดือนที่ให้คนที่มีสถานะผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย นโยบายของรัฐบาลทุกนโยบายไม่สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มใหม่เดินทางเข้ามา ส่วนใหญ่จะเปิดให้กับคนที่ผิดกฎหมายอยู่แล้วมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่เราไม่สนับสนุนให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในไทย สังเกตได้ว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานจะระบุไว้เสมอว่าเป็นแรงงานที่อยู่กับนายจ้างในประเทศอยู่แล้ว และในส่วนของการเปิดศูนย์คอยช่วยเหลือแรงงานที่เดินทางเข้ามา หรือติดต่อประสานงาน สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือมีหน่วยงานสาขาอยู่ในสำนักงานสาขา ช่วยเหลือแรงงานต่อปัญหาต่างๆ ให้คำแนะนำเรื่องการขออนุญาตทำงาน หรือการทำงานในไทย คงจะเป็นศูนย์รวมเบื้องต้น อาจจะไม่ใช่ one stop service
“ถ้านายจ้างให้สิทธิขั้นพื้นฐานของกฎหมายแรงงาน คนงานก็ไม่อยากจะย้ายไปไหนหรอก เพราะแม่สอดเป็นพื้นที่ติดกับประเทศตัวเอง ง่ายต่อการเดินทาง” แรงงานข้ามชาติ อ.แม่สอด
ตัวแทนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด จ.ตาก ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า การคุ้มครองด้านสิทธิแรงงานในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ไม่เท่ากับแรงงานที่ไปส่วนกลางในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย เช่น ค่าแรงไม่เท่า สวัสดิการ ฯลฯ ในขณะที่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่การผลิตสินค้าที่มีบางส่วนส่งออกไปต่างประเทศ แม้จะมีมาตรการคุ้มครองผ่านการทำรายงาน แต่ออดิตที่เข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทิแรงงานก็ให้ผ่านตลอดเพราะมีการเตรียมการจากฝั่งนายจ้าง ทำให้ไม่เห็นปัญหา เช่น เราได้ค่าจ้างไม่ถึง 300 แต่ให้เราลงลายมือชื่อในเอกสารว่าได้รับตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้นายจ้างเอาไปแสดงกับออดิต แต่มีช่วงหนึ่งที่ทางฝั่งแรงงานข้ามชาติได้มีโอกาสพูดกับออดิต กรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองขั้นต่ำ และออดิตรับว่าจะคุ้มครอง แต่เมื่อออดิตกลับไป ทางโรงงานก็เรียกคนงานมาทำความเข้าใจว่า ทำไมไม่พูดตามที่เตรียมกันไป และให้ลงชื่อเอกสารกันใหม่ ฉะนั้นมองว่าในโรงงานพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก คิดว่าน่าจะมีหลายที่ที่เป็นแบบนี้ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติเมื่อมีปัญหาจนส่งผลกระทบให้ต้องออกจากงาน แรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถไปหางานที่อื่นได้ เพราะมีประวัติการร้องขอความเป็นธรรมหรือการต่อสู้เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย
“ผมค่อนข้างมั่นใจว่าองค์กรพัฒนาเอกชนทำงานใกล้ชิดกับแรงงาน มีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดว่ามีการละเมิดจริงๆ เรากำลังพุ่งเป้าไปที่ค่าจ้างค่าแรง ค่าจ้างขั้นต่ำมีปัญหา แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้พูดถึงแค่ค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว พูดถึงสิทธิต่างๆ ของแรงงาน ก็อยากจะชวนย้อนกลับไปดูว่ากฎหมายต่างๆ ที่พูดถึงสิทธิแรงงานว่าโรงงานในแม่สอดปฏิบัติตามกฎหมายจริงๆ กี่เปอร์เซ็นต์”สุชาติ
สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงาน MAP FOUNDATION กล่าวว่าการทำงานช่วยเหลือแรงงานปัญหาสำคัญคือเรื่องข้อมูลที่ไม่ตรงกันในการช่วยเหลือแรงงาน เรายืนยันตามหลักการที่ว่า “สิทธิแรงงานก็คือสิทธิมนุษยชน” ซึ่งหากมองปัญหาเฉพาะพื้นที่แม่สอด ประเด็นการเคารพสิทธิแรงงานหรือการเคารพสิทธิมนุษยชนมีจริงหรือไม่ การทำงานกว่า 20-30 ปีในแม่สอด มีข้อเท็จจริงที่พยายามสื่อสารสถานการณ์กันคนละด้าน หลายเรื่องข้อมูลไม่ตรงกันก็ทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นไม่ได้ ตามหลักการ NAP ที่ให้มีการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในทุกภาคส่วน แต่การใช้แนวปฏิบัติของ NAP หรือการทำธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นข้อท้าทายใหญ่ เราจะจัดการอย่างไร ถ้าข้อเท็จจริงในพื้นที่ยังมองคนละมุม คนละส่วน แต่อีกด้านหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังทำให้เห็นอะไรบางอย่าง เริ่มมีบางโรงงานที่คนงานใช้วิธีการคุยกับนายจ้างผ่านกระบวนการกฎหมาย การรวมกลุ่มเรียกร้อง เจรจาต่อรอง ตามแผน NAP,อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง หลักการคือการคุยกัน ลูกจ้างได้คุยกับนายจ้าง อยากให้แก้ปัญหาอะไร ให้ข้อมูลกันและกัน และนำไปสู่การสร้างข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายตกลง วิธีการนี้ทำให้นายจ้างและลูกจ้างได้สื่อสารกัน กำหนดสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพอใจภายใต้กรอบกฎหมายกำหนด หลายโรงงานก็ใช้วิธีการเหล่านี้สร้างโอกาสในการพูดคุย เป็นเครื่องมือในการสร้างการสื่อสาร ก็น่าสนใจว่าถ้าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาเป็นตัวกลางในการจัดการปัญหา การสร้างการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ แล้วปรับเข้าไปสู่การปฏิบัติที่เคารพสิทธิทุกคน
“ในพื้นที่แม่สอด มีลักษณะของการเช่าเยอะมาก นักลงทุนจากต่างประเทศมาเช่าทุกอย่าง เช่าคนงาน เครื่องจักร ที่ดิน โรงงาน พอถึงเวลาไปต่อไม่ได้ก็กลับประเทศ แล้วพอเราฟ้องร้องต่อให้ชนะคดีก็ยึดทรัพย์อะไรไม่ได้ เพราะเช่าหมดทุกอย่าง อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เราเจอ 200 กว่าล้าน” สุชาติ
ข้อเสนอ 7 ข้อ ของสุชาติจาก MAP FOUNDATION ต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- การทำ MOU กับรัฐ เพื่อให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สถานการณ์จริงที่โรงงานในพื้นที่แม่สอดจ่ายค่าจ้างไม่เต็มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการหักเงินจากค่าจ้างของคนงาน เช่น ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร 3 มื้อ แม้ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสวัสดิการ แต่ในแม่สอดไม่เป็นสวัสดิการให้ฟรี ภาคประชาสังคมพุดคุยจนเกิดแนวทางที่ทำเป็นเอกสารให้ทางสภาอุตสาหกรรมฯ เจรจากับเจ้าของโรงงาน ข้อตกลงรับรู้ร่วมกันคือโรงงานเมื่อจะหักค่าหอพักของแรงงานจะต้องระบุไว้ว่าเป็นค่าหอพัก และไม่สามารถบังคับให้อยู่ เขาสามารถจะอยู่ในหอพักก็ได้โดยจ่ายค่าเช่าเอง หรือจะไปพักข้างนอกก็ได้ ห้องพัก อาหาร ต้องมีความเหมาะสม มีสภาพที่มีสุขอนามัย มีสัดส่วน และความปลอดภัย การจัดสวัสดิการเหล่านี้ของคนงานจะต้องเป็นสิทธิที่คนงานเลือกได้ว่าเขาจะรับจากโรงงานหรือไม่ และการจัดสรรต้องมีคุณภาพเคารพความเป็นมนุษย์ ขอเสนอทางกรมคุ้มครองสิทธิว่าน่าจะหาพื้นที่นำร่องทำ MOU ขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามแนวทางนี้
- การสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เป็นไปได้มั้ยที่หน่วยงานรัฐจะมาทำโครงการพิเศษ เพื่อชักชวนให้โรงงานมาปฏิบัติอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน โรงงานสีขาว ที่ไม่ใช่แค่ยาเสพติด แต่ต้องปฏิบัติตามสิทธิฯ ใครเข้าร่วมโครงการ รัฐจะช่วยสนับสนุนแบบนี้ ให้สิทธินี้ ตั้งเป็นรางวัลแล้วโรงงานก็อยากจะเข้าร่วม ทำเป็นโครงการนำร่อง ทำ MOU ที่มีกรมคุ้มครองสิทธิฯเป็นเจ้าภาพ มีเจ้าของโรงงานและลูกจ้างมาทำพหุภาคีร่วมกัน หรือจะตั้งคณะทำงานในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในระดับพื้นที่แม่สอด ต้องมีส่วนร่วมที่หลากหลายมาเป็นส่วนร่วมสำคัญในการจัดการปัญหาในแม่สอด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ แรงงาน
- การสร้างช่องทางร้องทุกข์ ที่สามารถเกิดผลจริงและคุ้มครองผู้ร้องเรียนให้ได้ ถ้าคนงานร้องเรียน หรือบุคคลภายนอกร้องเรียนก็ต้องมีการคุ้มครองและนำไปสู่การจัดการไม่ใช่แค่การรับเรื่องร้องเรียน คนงานมีความกลัวว่าจะมีปัญหาในการทำงานอันนี้เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างช่องทางร้องเรียนที่มีคุณภาพ
- ทำให้มีการตรวจแรงงานอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แผน NAP พูดถึงการบังคับหน่วยงานให้ไปปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากแผนนี้ คือทำอย่างไรให้มีการตรวจแรงงานอย่างครอบคลุมและทั่วถึง การตรวจแรงงานไม่ใช่เฉพาะตัวเจ้าหน้าที่ แต่เป็นทีม ที่ผ่านมามีทีมสหวิชาชีพ แต่คิดว่าน่าจะมีส่วนอื่นที่เข้าไปเป็นคณะร่วมติดตามให้ตรวจอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นว่าไม่ตรวจโรงงาน เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อโรงงานจำนวนมาก ฉะนั้นต้องมองว่าจะตรวจแรงงานอย่างครอบคลุมทั้งโรงงานขนาดใหญ่ กลาง และโรงงานเล็กเพื่อจะคุ้มครองแรงงาน
- การสร้างกองทุนชดเชยเยียวยาของภาคธุรกิจ การเยียวยา แผน NAP มีการพูดถึงเรื่องนี้บ้าง แต่สถานการณ์ปัจจุบัน คือ เมื่อโรงงานเกิดข้อพิพาทหรือถูกตัดสินแล้วแรงงานไม่ได้รับการเยียวยา “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย โรงงานปิด เลิกจ้าง” การไปใช้สิทธิฟ้องศาลแม้มีคำพิพากษาแต่ไม่มีเงินจ่ายให้ลูกจ้างใน อ.แม่สอด มีจำนวนเยอะมูลค่ารวมเกือบ 200 ล้านบาท แม้มีคำสั่งพิพากษาที่นายจ้างต้องจ่าย แต่นายจ้างไม่มีเงิน ไม่อยู่ในไทยแล้ว กลับประเทศไปแล้ว จะทำอย่างไร การชดเชยเยียวยานี้อาจจะต้องไปบรรจุการตั้งกองทุน ให้มีกองทุนนี้ขึ้นมาเรียกเก็บจากนายจ้างเหมือนกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเคยเสนอไปที่กระทรวงแรงงาน
- ปัญหานำเข้าแรงงานตาม ม.64 อาจจะต้องทบทวนและต้องตีความเจตนารมณ์กฎหมายจริงๆ ปัจจุบันใช้ม.64 แต่เป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว มีนักกฎหมายใช้คำว่า ‘ชั่วคราวแบบชั่วโคตร’ ต่ออายุ 3 เดือนไปเรื่อยๆ บางคนทำงานมา 10 ปีแล้วก็ยังต่ออายุ 3 เดือน ข้อดีของ ม.64 ก็มีแต่ว่ามีปัญหาที่ต้องปรับปรุงตัวกฎหมาย
- การเข้าถึงการพัฒนาฝีมือให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ควรจะต้องมีเรื่องนี้อยู่ในแผน NAP ส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน แล้วสิ่งนี้จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามฝีมือแรงงานและควรจะใช้ให้ครอบคลุมทุกส่วน กระทบตัวนโยบายของรัฐที่รัฐมองว่าการจ้างงานกรรมกร แรงงานข้ามชาติ เป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือ เป็นแค่กรรมกร ห้ามคิด ทำตามคำสั่งอย่างเดียวก็ท้าทายมุมมองของรัฐ การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจะได้พัฒนาธุรกิจ ให้มีหน้าที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น สามารถลดความเสียหาย เพิ่มมูลค่าของสินค้า ให้ไปด้วยกันได้จริงๆ
“เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถขาดแรงงานพี่น้องชาวเมียนมาร์ได้ เป็นแรงงานที่ช่วยเราขับเคลื่อน ทำอย่างไรที่เราจะร่วมมือและจับมือกันได้ โรงงานในแม่สอดกลาง เล็ก ถ้าเราควบคุมให้เขาไปเข้มงวดกับโรงงานเล็กๆ ที่ไปเอาแรงงานมาทำงาน ก็ทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ได้มาตรฐานขึ้น” วุฒินันท์
วุฒินันท์ เพชรศรีเงิน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม จังหวัดตาก กล่าวว่า อ.แม่สอด มีโรงงานอยู่ประมาณ 280 โรงงาน ซึ่งตามข้อมูลทางสถิติเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยโรงงานที่มีขนาดน้อยกว่า 50 คน ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน สามารถประกอบการได้เลย ซึ่งก็มีอีกประมาณ 20-30 โรงงาน รวมแล้วประมาณ 310 โรงงานในแม่สอด อีกเรื่องคือเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของโรงงานที่ตั้งในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โรงงานจะมีสิทธิประโยชน์ก็ต่อเมื่อต้องขอใบส่งเสริมการลงทุน BOI และโรงงาน BOI ใน อ.แม่สอด มีเพียง 30-40 กว่าแห่ง สิทธิประโยชน์ที่จะได้คืองดเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ต่อ 50% อีก 5 ปี แล้วก็อากรเครื่องจักร พวกนี้เป็นธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาประกาศครอบคลุม 3 อำเภอ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง การกล่าวว่าในโรงงาน BOI ออดิทมีการจัดฉากไม่น่าจะเป็นจริงและเป็นเรื่องที่มักเข้าใจผิด ในพื้นที่ชายแดนเราต้องการแรงงาน แต่เราไม่สามารถขอแรงงานตาม ม.64 เพราะทางเมียนมาร์ไม่ออก border pass ให้ คนที่มีอยู่กับโรงงานประจำคือยังกับไข่ในหินเลย ไม่ต้องกลัวว่าโรงงานไหนจะไม่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ เราต้องดูบริบทคนงานว่ามีหลายวัย บางโรงงานก็มีคนงานอายุ 40-50 ขึ้น เขาก็ไม่อยากเคลื่อนย้ายแรงงาน เชื่อได้ว่าโรงงานในแม่สอดที่ทำถูกต้อง เชื่อได้ว่าไม่มีอยากให้แรงงานหนีไปจากตน
“ออดิทในโรงงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือกฎหมายได้ เพราะอะไรรู้มั้ยครับ ถ้าออดิทมาตรวจสอบเจอเขาจะถูกยกเลิกออเดอร์ทั้งหมด และปิดกิจการเลยนะครับ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ออดิทในโรงงานส่งออกของแม่สอดมีการจัดฉาก เตี๊ยมคนงานเรื่องค่าแรงเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้โรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแทบจะกราบคนงานเลยนะครับ เพราะขาดแคลนคนงานกว่า 30-40% แรงงานที่มีอยู่” วุฒินันท์
วุฒินันท์ กล่าวต่อว่า ในแม่สอดมีผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีกำลังน้อย ยกตัวอย่างโรงงานเย็บผ้า เพียงซื้อจักรมาตั้งเลยก็สามารถตั้งโรงงานได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนถ้าไม่ถึง 50 คน ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่? ก็ไม่ผิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 มีจำนวนโรงงาน เพียง 31 โรงงาน จนปัจจุบันนี้มีจำนวน 300 กว่าโรงงาน ที่แม่สอดนายจ้างก็จะมีค่าแรง มีที่พัก ค่าอาหารสามมื้อ น้ำไฟให้ แต่นายจ้างไม่ได้บอกว่าส่วนนี้เป็นสวัสดิการแต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายของโรงงาน แรงงานจึงได้รับเงินเพียง 200 บาท/วัน แต่นายจ้างนำค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำไฟ ส่วนค่าแรง รวมจ่ายกว่า 400 บาท/วัน ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิดทำให้โรงงานขนาดเล็กปิดตัวไปจำนวนมากก็ส่งผลให้มีการฟื้นตัวของโรงงานน้อยลง ฉะนั้นมองว่าถ้าจะร่วมมือกันก็ต้องแก้ไขเป็น 4 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง คนกลาง ฉะนั้นปัจจุบันนี้ใครทำธุรกิจแล้วละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ค่อนข้างอยู่ยากเพราะผู้ประกอบการก็ระมัดระวังมากขึ้น การละเมิดสิทธิแรงงานส่งผลกระทบต่อออเดอร์ของโรงงาน จึงมีความพยายามปรับตัวให้นายจ้างอยู่ได้ คนงานอยู่ดี ธุรกิจที่เป็นปัญหาในแม่สอด ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่หนีมาแล้วก็เปิดร้านค้าแข่งกับคนไทยเป็นธุรกิจที่อยู่ใน 26 กิจการที่รัฐอนุญาต อีกส่วนก็เป็นปัญหาแรงงานข้ามชาติที่มาอยู่เพื่อรอเคลื่อนไปพื้นที่ชั้นในไม่ได้ต้องการทำงานในพื้นที่ เรื่องสิทธิมนุษยชนถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ทำการส่งออกไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเพราะหวงแรงงานมาก แล้วโรงงานส่งออกก็มีเรื่องสิทธิมนุษยชนกับการจ้างแรงงานชัดเจน ฉะนั้นธุรกิจที่มาไม่ใช่ธุรกิจใต้ดินอย่างธุรกิจที่ไปเปิดตามตึกแถวเป็นของพี่น้องเมียนมาร์ ที่พอทำงานเป็นหัวหน้างานแล้วก็ออกมาทำธุรกิจไปจ้างพี่น้องแรงงานด้วยกัน แต่ว่าจ่ายค่าจ้างอย่างไรก็คือในส่วนของเขา แต่โรงงานแม่สอดจะมีเครื่องแต่งกาย โรงงานพวกนี้เขาไม่คุยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว แต่จะคุยรายเหมา วันนึงได้ 400-500 บาท บางรายได้ถึง 600 บาท 300 บาท ถือเป็นค่าจ้างที่น้อยในระดับโรงงานที่มีมาตรฐาน
วุฒินันท์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญของพื้นที่แม่สอด คือจะทำอย่างไรให้แรงงานถูกกฎหมาย ถามว่าทำไมหลายโรงต้องการให้แรงงานทำบัตรทำบัตรสีชมพู เพราะจ่าย 200-400 บาท/ปี ราคานี้คนงานเขาจ่ายเองได้ คนงานเขาก็อยากทำเป็น 1ปี บัตรจ้างงานชายแดน ม.64 ต้องต่อใบอนุญาตทำงาน 3 เดือน/ครั้ง ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ ฉะนั้นรัฐบาลน่าจะมีการให้ผ่อนจ่ายได้ 200-300 บาท/เดือน อย่างภาคเกษตรเขาก็ให้ผ่อนจ่าย ค่าธรรมเนียมที่ผ่อนจ่ายเป็นเดือนได้ บางคนทำงาน 6 เดือน แต่ต้องจ่ายเป็นรายปี อีกอย่างค่าธรรมเนียมเหล่านี้เข้าสู่ส่วนกลางหมดไม่ลงพื้นที่เลย เคยเสนอว่าอย่างน้อย 40% ของค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนให้จัดสรรกับพื้นที่ เพื่อจะได้เอางบมาบูรณาการ จับกุมคนหลบหนีเข้าเมืองด้วย แล้วผมเชื่อว่าแรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้ามาอยากรณรงค์ให้โรงงานไหนที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ต้องทำงานที่นั่น ร่วมมือกันออกทั้งโรงงานเลย ไปทำงานที่อื่น เป็นการกดดันนายจ้างเพื่อจะยอมปฏิบัติตามกฎหมายเชื่อว่านายจ้างต้องยอม เพราะขาดแคลนแรงงาน
“ผมเคยคุยกับแรงงานไทยก็ยังถูกปฏิบัติไม่เหมือนกันเลยในแต่ละพื้นที่ แต่ไม่อยากขีดเส้นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนนี่คือแรงงานต่างชาติหรือแรงงานไทย” เฉลิมวัฒน์
เฉลิมวัฒน์ ตรีรัตน์วัฒนา รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ทุกหน่วยงานภาคเอกชนมีที่ดูแลเป็นทางการ มีการตรวจตราดูแลแบบเต็มศักยภาพ กับบางเอกชนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็มีรูปแบบการทำที่หลากหลาย ต้องเข้าใจก่อนว่าแรงงานเป็นทรัพยากรที่จะประกอบร่างสินค้าไปขายลูกค้า ตัวแรงงานเองเป็นทรัพยากรสำคัญ ภาพรวมเขตเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น นักธุรกิจที่มีทรัพยากรมากนั้น มีทรัพยากรแรงงานมากกว่างานจริงหรือไม่? สถานการณ์ตอนนี้คือเรามีคนมากกว่างาน เป็นจุดตั้งต้นการทำความเข้าใจ ทั้งสองภาคคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชน ดูแลกันดี แต่ก็มีแรงงานที่หางานไม่ได้ กลุ่มนี้ตัวแรงงานและภาคเอกชนก็จะมีช่องว่างไม่ปฏิบัติตามกฎ พอถามว่าหน่วยงานเอกชนมีการควบคุมมั้ย มีแน่นอน เรามีภาครัฐเข้ามาร่วมหารือตลอด แม้กระทั่งภาคเอกชนกับสมาคมก็มีการควบคุม แต่ผมว่าความเข้าใจในหลายเรื่องยังไม่ตรงกัน หากแรงงานมาพูดคุยกันว่าสามารถรับได้มากเท่านี้ ทางเอกชนก็บอกว่าจะรับได้เท่านี้ ถ้ามาตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ผมว่าส่วนสำคัญคือ การได้คุยกันก่อนว่าแรงงานต้องการอะไร ตกลงกันก่อน อย่ามาคุยกันตอนหลัง หากตกลงกันแล้วไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่คุยกันอันนี้ง่ายต่อการจัดการ หากไม่มีการพูดคุยกันก่อนแล้วมาทึกทักกันเองก็จะคุยกันไม่ค่อยดี ดังนั้นต้องคุยกันตอนต้นก่อนว่าอะไรที่รับได้หรือไม่ได้ แล้วก็มีหน่วยงานพี่เลี้ยงมาเป็นตัวกลาง
“เรื่องที่เราทำได้ก็ไม่ค่อยมีเชียร์อัพ หลายโรงงานต้องการแรงงานที่ดีเข้ามา แต่แรงงานที่ดีก็ไม่ช่วยปกป้องภาคเอกชน เราผลักดันให้น้องๆ แรงงานเคลื่อนที่ไปนู่นนี่กันหมด พอถึงเวลาเขาไม่อยู่ ก็ต้องไปหาแรงงานใหม่มาทดแทน สุดท้ายเราก็ไม่ทรีตพนักงานเป็น good resources แต่เป็น basic resources แล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนคนเป็นเครื่องจักร ทรีตพนักงานอื่นๆ แบบที่ไม่ควรจะเป็น” เฉลิมวัฒน์
เฉลิมวัฒน์ กล่าวต่อ เมื่อพูดถึงเอกชนและผู้จ้างนั้นมีหลายระดับมาก ฉะนั้นการแก้ปัญหาหากพูดเรื่องแรงงานข้ามชาติแบบก้อนเดียว พอวิเคราะห์ปัญหาก็จะแตะแค่บางประเด็น เวลากล่าวถึงบริษัทที่มีชื่อเสียง มีธรรมาภิบาลมีกรอบชัดการดำเนินการก็ยากที่จะแก้ไขเพราะเขาทำดีมาตลอด แต่ปัญหาภาคแรงงานอาจจะต้องระบุไปเฉพาะกลุ่ม เช่น แรงงานตามบ้าน หรือแรงงานภาคเกษตรที่เขาถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน เวลากล่าวถึงภาคเอกชนต้องแบ่งกลุ่มให้ชัดเจนว่าอยู่กลุ่มไหน เพราะเอกชนเองก็มีความท้าทายอย่างยิ่งในสถานการณ์ความอยู่รอดในปัจจุบัน ฉะนั้นการกระตุ้นให้เอกชนปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องไม่ใช่การมองกรอบเพียงสิทธิมนุษยชนต่างชาติ แต่ต้องเข้าใจคนไทยด้วยเหมือนกัน แรงงานไทยก็ยังถูกปฏิบัติไม่เหมือนกันเลยในแต่ละพื้นที่ แต่ไม่อยากขีดเส้นว่านี่แรงงานต่างชาติหรือแรงงานไทย ส่วนสำคัญคือการปรับให้มาตรฐานดูแลแรงงานตรงกัน และใช้การตรวจสอบประเมินผลลัพธ์ เพราะทุกครั้งเมื่อยกเรื่องค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาชูโรง ก็เข้าใจผิดไปหมดเลย ลืมประเด็นอื่นๆ มุ่งเน้นค่าแรงอย่างเดียว จึงเสียโอกาสในการคุยประเด็นอื่นๆ
นอกจากนี้ เฉลิมวัฒน์ ทิ้งท้ายเรื่องทัศนคติ โดยมองว่าการมีกรอบมองเอกชนต้องเอาเปรียบแน่ๆ หรือกรอบแนวคิดที่แบ่งแยกกันทำให้คุยกันยากมากทั้งที่ภาคเอกชนหลายส่วนมีเจตนาดี การแบ่งว่าใครถูกผิดหรือเมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนก็จะมีคำถามว่าดูแลคนไทยไหม ดูแลแต่คนต่างชาติไหม การเอาเชื้อชาติมาใส่ในกลุ่มแรงงานทั้งที่ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน หากเปลี่ยนทัศนคติให้ถูกต้องชื่นชมภาคเอกชนหน่อยเพราะเขาจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับแรงงาน ถ้าภาคเอกชนไหนไม่ดีก็ออกไปเพราะเป็นตามกลไกตลาดอยู่แล้ว ภาคประชาสังคมอย่าพูดถึงการเรียกร้องสิทธิเชิงเดี่ยว แต่สามารถไปรับรองได้ว่าองค์กรไหนอยู่แล้วดี และตัวแรงงานก็ต้องระบุชัดแบ่งประเภทได้หรือไม่ เช่น แรงงานพูดไทยไม่ได้เลยแต่เรียกร้องสิทธิเท่าคนไทย เราสามารถเอาทักษะความสามารถจัดแบ่งประเภทคนงาน ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมาอำนวยความสะดวกสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีแรงงานที่ถูกกฎหมาย