จดหมายเปิดผนึก: ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำหน้าที่สอบสวนคดี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม แทนหน่วยงานต้นสังกัด

จดหมายเปิดผนึก

2 กันยายน 2565

เรื่อง ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำหน้าที่สอบสวนคดี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม แทนหน่วยงานต้นสังกัด

เรียน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

สำเนาถึง 1. ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2. ประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร
3. นายกรัฐมนตรี

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีทหารหญิง (ผู้เสียหาย) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 โดยแจ้งความไว้กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เมืองราชบุรี พร้อมหลักฐานที่ตนถูกทำร้ายร่างกาย โดยต่อมา วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหา “เป็นข้าราชการแสวงหาประโยชน์ บังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยการข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงาน หรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือผู้อื่น โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือ ไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับลักพาตัว ฉ้อฉล ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคล ด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่น ว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น แก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคล ให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิด ในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนค้ามนุษย์ และทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีความผิดอาญา”

ข้อเท็จจริงตามข่าว คดีนี้สืบเนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2559 ผู้เสียหายได้ถูกผู้ต้องหาซึ่งเป็นนายจ้างที่มียศเป็นตำรวจในขณะนี้ ชวนให้เข้ามารับราชการทหาร โดยใช้วิธีฝากเข้าไปเป็นทหาร กระทั่งปี พ.ศ. 2563 ผู้เสียหายถูกโอนมาเป็นทหารรับใช้ที่บ้านผู้ต้องหา โดยมีหน้าที่หลักคือดูแลอาหารการกิน ทำความสะอาดบ้าน และงานบ้านอื่นๆ แต่ในการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ต้องหาดังกล่าว  ผู้เสียหายแจ้งว่าว่าตนถูกผู้ต้องหาทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ด้วยประการต่างๆ ทั้งการใช้ที่หนีบผมหนีบ ไม้บรรทัดเหล็กตีหน้าจนดั้งหัก หัวแตก ใบหูฉีก ตีด้วยไม้แขวนเสื้อ เป็นต้น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน ทั้งนี้ผู้เสียหายต้องทนต่อความโหดร้ายรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ปี โดยไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้เพราะถูกข่มขู่คุกคามไม่ให้หลบหนีหรือร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม ดำเนินโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ มีความเห็นว่า ในกรณีนี้ การกระทำของผู้ต้องหานอกจากเข้าข่ายการทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 และมาตรา 6/1 ที่มีการปรับปรุงแก้ไขภายหลังจากที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามในพิธีสารปี ค.ศ. 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 มีลักษณะเป็นการเอาคนลงมาเป็นทาส หรือให้มีสถานะคล้ายคล้ายทาส ทั้งยังเข้าข่ายเป็นการกระทำทรมานผู้เสียหาย ตาม (ร่าง) พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.​…. ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้วด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นจากการรายงานข่าว การกระทำของผู้ต้องหาในคดีนี้ อาจมีความเกี่ยวโยงกับการที่มีผู้ใช้อิทธิพลในการให้ผู้ต้องหาสามารถเข้ารับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  การใช้อิทธิพลของผู้ต้องหาและพวกในการช่วยผู้เสียหายให้รับเข้าราชการทหาร และการใช้อิทธิพลให้สามารถนำตัวผู้เสียหายมาเป็นผู้รับใช้ทำงานต่างๆในบ้านให้ผู้ต้องหาด้วย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว หากเป็นความจริง จะเชื่อมโยงกับข้าราชการและผู้มีอิทธิพลใน สตช. กองทัพบก กอ.รมน. ภาค 4  และอื่นๆ การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนสังกัด สตช. ซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้เสียหาย อาจเปิดช่องให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวข้องกับการทุจริต ประพฤติมิชอบดังกล่าวแทรกแซง บิดเบือนคดี ดังเช่นคดีอื่นๆที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ยังไม่เป็นผลในการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤตมิชอบ ซี่งกัดกร่อน บั่นทอน ระบบราชการไทยอยู่ในขณะนี้

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเห็นว่า ตามหลักการที่กำหนดว่า หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่ควรเป็นผู้สอบสวนคดี เพื่อความเที่ยงธรรม โปร่งใสและเพื่อให้ปราศจากข้อสงสัยของประชาชน ทั้งคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ก็อยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ดังนั้นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงขอเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนคดีนี้

ขอแสดงความนับถือ

somchai_sign

(สมชาย หอมลออ)

ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

02 277 6882 E-mail : [email protected]